จากสถิติพบว่าผู้สูงอายุกว่า 95% หรือ 9.5 ล้านคน มีสุขภาพไม่ดี มีโรคประจำตัว ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม พิการ ซึมเศร้า และนอนติดเตียง มีเพียง 5% เท่านั้นที่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดล้วนอยู่ในสิทธิการรักษาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.)
ซึ่งสิ่งที่ สปสช. เป็นห่วง คือ หากไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลอาจบานปลายขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น สปสช.จึงพยายามเดินหน้าศึกษารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวหรือ Long Term Care
ทั้งนี้ พื้นที่หนึ่งที่ สปสช. นำโดย นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. ลงไปศึกษาเป็นพื้นที่ต้นแบบคือ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี โดยนายอภิวัฒน์ ประชุมรัตน์ สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) คีรีรัฐนิคม กล่าวว่า ในอดีต นพ.สัมฤทธิ์ เคยเป็น ผอ.รพ.คีรีรัฐนิคม มาก่อน ซึ่งพื้นที่เรามีการดำเนินงานเรื่องการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุมานานแล้ว จนได้รับรางวัลอำเภอสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว ของกรมอนามัย โดยพื้นที่เราทำเรื่องผู้สูงอายุมานานกว่า 10 ปี และทำร่วมกับชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวน 13 ชมรม ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ได้เป็นชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ และผ่านเกณฑ์การประเมินการดูแลผู้สูงอายุ จึงเป็นพื้นที่ต้นแบบพื้นที่หนึ่งที่ สปสช. ได้มาศึกษาวิธีการ
สำหรับการดูแลผู้สูงอายุของ อ.คีรีรัฐนิคม นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า มีการจัดทีมดูแลผู้สูงอายุ 2 ระดับ คือ ชุดใหญ่จำนวน 4 ชุด ประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ทั้งจากโรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ ซึ่งแต่ละชุดจะดูแล 2 ตำบล และชุดพื้นที่หรือทีมย่อย ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. ต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อสส.) ท้องถิ่น นายกเทศมนตรี เป็นต้น ซึ่งทีมย่อยนี้บางส่วนอาจซ้ำกับทีมหมอครอบครัว ตามนโยบายของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ซึ่งผลักดันให้ทีมหมอครอบครัวเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนชาวไทย เพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงและคนพิการ และจะขยายดูแลประชากรกลุ่มอื่นในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้สูงอายุของพื้นที่คีรีรัฐนิคมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นนั้น นายอภิวัฒน์ อธิบายว่า เราเริ่มให้การดูแลในส่วนของจิตเวช และผู้ป่วยระยะท้ายด้วย สำหรับการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนั้นทีมย่อยจะมีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนทีมใหญ่จะออกเยี่ยมสัปดาห์ละครั้ง ซึ่ง 4 ทีมจะต้องออกพื้นที่คนละวันกัน เท่ากับว่า 1 สัปดาห์จะมีการลงพื้นที่ 4 ครั้ง โดยมีการพูดคุยหารือกันผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อแจ้งการลงพื้นที่เพื่อให้ทีมพื้นที่เตรียมตัว
“จุดเด่นคือพื้นที่เรารวมพลังทำงานร่วมกัน อย่าง อสม. อสส. เรามีมาก่อนแล้ว และค่อยจัดระบบให้สอดคล้องกับนโยบายจากส่วนกลาง ซึ่งบุคลากรอาจมีซ้ำกันบ้าง โดยมีการอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มเติม ซึ่ง สปสช. เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมการอบรมผู้สูงอายุดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการระดมทุนด้วยเงินของคนในพื้นที่เอง รวมแล้ว 10 กว่าล้านบาทในการสร้างอาคารเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้สนับสนุนงบประมาณอีกส่วนหนึ่งในการจัดหาครุภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดูแลผู้สูงอายุมาไว้ภายในอาคารเวชศาสตร์ผู้สูงอายุดังกล่าว ซึ่งเมื่อถึงเวลาออกไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หากขาดเหลืออะไร หรือจำเป็นต้องใช้อะไรในการดูแลผู้สูงอายุ เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก็สามารถมาเบิกจากที่นี่ไปใช้ได้”
นายอภิวัฒน์ บอกว่า ถือเป็นการรวมพลังของทุกคนในอำเภอในการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุในอำเภอ โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดบ้านติดเตียง ซึ่งมีจำนวนประมาณเกือบ 100 คน ซึ่งจากการที่เจ้าหน้าที่ส่าธารณสุขอำเภอคีรีรัฐนิคมลงไปตรวจเยี่ยม ให้คำแนะนำต่างๆ เป็นครั้งคราว พบว่า อสม. อสส. ล้วนทำหน้าที่ดูแลได้เป็นอย่างดี ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ใช่พลังของคนในชุมชน และแต่ละฝ่าย แต่ละระดับต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดีกับเรื่องนี้ ทั้งระดับบุคลากร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และผู้นำชุมชน ที่สำคัญคือ ครอบครัวและญาติของผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มติดบ้านติดเตียง ต่างรู้สึกพึงพอใจที่เรามีการจัดระบบที่ดีเช่นนี้ และมีการลงไปเยี่ยมดูแลอยู่ตลอด หากเจ็บป่วยก็ดูแลได้ทันการณ์ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่