xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” โต้ “บิ๊กตู่” ยันดูแลการค้ามนุษย์จนทำให้ไทยไม่ถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ปู” มีเถียง ยันรัฐบาลชุดก่อนแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3

วันนี้ (28 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในชื่อ Yingluck Shinawatre ว่าสืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ระบุว่า “รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยทำ แต่วันนี้รัฐบาลกำลังแก้ทุกอย่าง” เกรงว่าอาจเป็นความเข้าใจผิด

“อันเนื่องมาจากการที่ท่านมีภารกิจมากจนไม่ได้มีเวลา หรือเจ้าหน้าที่ยังไม่มีโอกาสเรียนชี้แจงให้ท่านทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ทั้งในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ และส่วนราชการที่ร่วมมือกัน แก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ดิฉันขอเรียนชี้แจงท่าน พร้อมทั้งสื่อไปถึงส่วนราชการ องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพี่น้องประชาชนไทยทุกท่านค่ะ

กรณีการค้ามนุษย์ คือ การคุกคามสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งสังคมการเมืองระหว่างประเทศต่างต่อต้านและร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ทั้งมาตรการความร่วมมือ ตลอดจนมาตรการการกดดันที่ใช้เงื่อนไขทางการค้า ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันเข้ารับตำแหน่ง จึงได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด และได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการดำเนินงานให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ในปีการประเมินระดับของ พ.ศ. 2556 ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3

เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหากได้รับการดำเนินการจะถือว่า เป็นการแสดงความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ ที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรพอควร ในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีขึ้น รัฐบาลได้มีการประชุมหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ดิฉันเป็นประธานในการประชุมเอง และส่วนที่มอบหมายให้ คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น เป็นประธานแทน ตลอดจนตั้งคณะทำงานย่อยๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน เช่น ปัญหาเรื่องแรงงานประมง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อแนะนำจากรายงานฉบับปี พ.ศ. 2556 ทุกประเด็น

นอกจากนี้ ในการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับเอกอัครราชทูต Luis CdeBaca ผู้อำนวยการสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 หลังจากได้รับฟังผลการดำเนินงานของประเทศไทย เอกอัครราชทูต Luis CdeBaca ได้แสดงความชื่นชมถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย

ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง รัฐบาลได้เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และพยายามที่จะสร้างความเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา โดยมีการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งมีข้อสั่งการและนโยบายเพิ่มเติม โดยสิ่งที่รัฐบาลในช่วงนั้นได้ริเริ่มดำเนินการและพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ เช่น การปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งด้านการคุ้มครอง ป้องกัน และกระบวนการยุติธรรม ดังที่รัฐบาลได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ทั่วประเทศเพื่อเป็นจุดรับเรื่อง ส่งต่อและแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง รวมทั้งเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อน ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะลองพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมจากรายงานดังกล่าวได้ค่ะ

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของการค้ามนุษย์นั้น อยู่ที่เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งปัญหาในเชิงกฎหมาย รวมทั้งประสิทธิภาพการบริหารราชการ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน หากต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งในรายงานฉบับล่าสุดได้มีการยกประเด็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการ โดยเฉพาะความเกี่ยวพันกับกรณีแรงงานประมงชาวโรฮิงญา ซึ่งถือเป็นบทเรียนว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ตลอดจนประเด็นการเรียกร้องของ NGOs และต้องพยายามที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นในแนวทางที่ประชาชน และนานาชาติคาดหวังค่ะ

จุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหา คือ การยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาตินี้ต่อไปค่ะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น