xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อำนวยพร เกิดพุ่ม” ผ่าต้นตอหวยแพง บทพิสูจน์ความสามารถของ คสช. !?!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องบอกว่าครั้งนี้รัฐบาลหรือ คสช. เอาจริงเรื่องขายสลากฯ เกินราคาไม่น้อย จึงได้มีคำสั่งฟ้าผ่าแต่งตั้ง พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เข้ามาเป็นประธานบอร์ดสลากฯ คนใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์” จึงตามไปสัมภาษณ์ “นายอำนวยพร เกิดพุ่ม” ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สสบ.) เพื่อให้เขาสาวปมหวยแพงและปัญหาที่เกิดขึ้น

ฟังแล้วก็ต้องวิเคราะห์กันเอาเอง บอกได้แต่ว่าการเข้ามาล้างบางกองสลากฯ ของ พล.ต.อภิรัชต์ ไม่ใช่เรื่องขี้ๆ แน่นอนครับท่านพี่น้อง...

การที่ คสช. สั่งให้ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เข้ามาเป็นประธานบอร์ดสลากฯ คนใหม่ คิดว่าจะมีผลกระทบอะไรต่อสำนักงานสลากฯ หรือไม่ อย่างไร

ถ้าแต่งตั้งโดย พ.ร.บ. สลากฯ ก็คงจะไม่มีอะไรหรอก แต่นี่แต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งแต่งตั้งโดยมาตรา 44 คิดว่าในฐานะประธานบอร์ด ก็ต้องนำความเรียนท่านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการว่าเป็นอย่างไร หรือจะคืนความสุขให้พี่น้องประชาชนได้อย่างไร ในส่วนของผมเองคือ สหภาพแรงงานฯ ก็ขอเสนอแนะในส่วนที่ผมเห็นว่าแก้ไขปัญหาได้แบบระยะยาว แต่ในระยะสั้น ต้องเรียกว่าแก้มานานแล้ว แต่ในฐานะที่ผมอยู่กองสลากฯ มานาน ก็จะเห็นว่าควรแก้ไขตรงไหนและโฟกัสตรงไหนบ้าง

คิดอย่างไรที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาขายสลากฯ เกินราคา

แต่เดิมผมมองว่าคงใช้มาตรา 44 เพื่อใช้แก้ปัญหา พ.ร.บ. เพื่อให้สมบูรณ์มากกว่า เพื่อให้สามารถใช้ในอนาคตได้ แต่พอดี พ.ร.บ.อยู่ในกฤษฎีกา ซึ่งเงื่อนไขต้องผ่านสามร่าง จึงจะแก้ไขได้ แล้วการใช้มาตรา 44 เพื่อแก้สลากฯ ขายเกินราคานั้น ต้องบอกว่าเรื่องนี้ เราเคยนำเสนอประธานคณะกรรมการสลากฯ มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มสลากฯ ในเรื่องของการเพิ่มราคาจาก 80 เป็น 100 บาท เรื่องการจัดสรรโควตาสลากฯ สำหรับคนที่ค้าจริงๆ เป็นต้น แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง แต่กลับใช้วิธีแก้ปัญหาที่ตรงข้ามกับที่เราเสนอ เช่น ไปตัดโควตา ซึ่งลักษณะนี้กลายเป็นผลข้างเคียงว่าเมื่อตัดโควตาไปให้คนใหม่ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าคนใหม่นี้จะขายหรือไม่ได้ขายจริง เนื่องที่ผ่านมาคนเก่าก็แทบไม่ได้ขายแล้ว เพราะเขาขายส่ง แล้วคนใหม่มา เราก็ไม่แน่ใจว่าคนนั้นๆ จะขายจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องต้องพิสูจน์กันใหม่ แล้วปรากฏว่าราคาสลากฯ กลับยิ่งสูงขึ้นๆ

ต้องอธิบายว่าสาเหตุที่ราคาสลากฯ ไม่ลดลง ต้นตอเกิดจากสลากฯ ที่คนขายรับจากเราไปในราคา 74.6 บาท แล้วเขาเอาไปขาย 80 บาท นี่เป็นคนขายคนแรก แล้วก็ไปขายคนที่สอง คนที่สองก็ช้อนซื้อไปขายคนที่สาม คนที่สามก็ช้อนไปขายคนที่สี่ ส่วนผู้แทนรายใหญ่ก็ไปขายต่อคนที่ไปเดินขายสลากฯ ตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยากยึดอาชีพขายสลากฯ ดังนั้นผู้แทนรายใหญ่จึงเป็นกลุ่มที่สามารถจะดำเนินการรับเลขชุด รับเลขสวยเลขงามไปได้ แล้วผู้ซื้อที่มาซื้อสลากฯ กับผู้แทนยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ก็เป็นกลุ่มคนที่ต้องการตัวเลขงามๆ ดังนั้นเลขที่สวยๆ งามๆ ก็จะอยู่ที่ผู้แทนรายใหญ่ ซึ่งเขาก็จะบวกราคาขึ้นไป สุดท้ายพอสลากฯ ไปถึงผู้บริโภคก็จะเกิดคำว่าราคาสูงขึ้น

ส่วนคนขายขายได้อย่างไร เกิดจากเขาตั้งเงื่อนไขแล้วว่าจะต้องมีกำไร 15- 20 บาท เช่น ซื้อมา 100 ก็ต้องขาย 110-120 บาท สิ่งหนึ่งที่เขาจะขายได้ง่ายสุดคือ การเอาตัวเลขสวยๆ ไปขาย เพราะเขาไม่ได้รับมาทั้งเล่ม แต่รับมาเฉพาะเลขที่เขาชอบ หรือไม่ก็มีออเดอร์เลขมาตามความต้องการของลูกค้า นี่เองจึงเป็นที่มาของการไม่สามารถแก้ปัญหาสลากฯแพงได้

ผมจึงนำเสนอว่า ควรไปโฟกัสดูว่าคนขายจริงๆ คือใคร คนที่เดินขายจริงๆ ก็ควรให้สลากฯ เขาไปเลย 5 เล่ม 10 เล่ม แล้วทำแบบอย่างเหมือนการขายเหล้าขายบุหรี่ ที่มีทะเบียนคนขาย ส่วนคนที่ไม่มีทะเบียนก็ไม่ต้องขาย ให้ไปประกอบอาชีพอื่น มันก็จะไม่เกิดความวุ่นวาย หรือเกิดการขายทอดต่อขึ้นมา จนทำให้เกิดปัญหาสลากฯ แพงขึ้นมา

เห็นคุณอำนวยพรเสนอให้รัฐขึ้นราคาสลากฯ จาก 80 บาท เป็น 100 บาท เพราะอะไร

จริงๆ ผมแค่เรียนเสนอว่าถ้าเป็นลักษณะแบบนี้ หากเพิ่มราคาสลากฯ ขึ้นมาจาก 80 เป็น 100 ก็จะช่วยให้ไม่มีปัญหาว่าจะขายเกินราคา เพราะคนที่รับไปขาย 80 บาท นำไปขาย 100 บาท ส่วนต่างก็ช่วยให้ผู้แทนจำหน่ายมีรายได้มากขึ้น สามารถอยู่ได้ในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพมากขึ้น

ผมยกตัวอย่างว่าสลากฯ ใบหนึ่ง คนขายได้สลากฯ ใบหนึ่ง 4 บาท เล่มหนึ่ง 100 ใบ ก็เท่ากับ 400 บาท แต่ถ้าเขาได้ใบละ 10- 15 บาท เล่มหนึ่งก็จะได้ประมาณ 1,000 บาท ถ้าคนขายมี 5 เล่ม เท่ากับได้เงิน 5,000 เดือนหนึ่งมีขายสองงวด เท่ากับได้เงินหนึ่งหมื่นบาท ก็พออยู่ได้

แต่มองอีกด้าน เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้ราคาสลากฯแพงขึ้น เพราะปัญหาพ่อค้าคนกลาง ทำไมไม่เสนอมาตรการแก้ไขอื่นๆ อีก ที่จะช่วยตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไป

ต้องไปดูว่าคำว่า “พ่อค้าคนกลาง” หมายถึงใคร หมายถึงคนรับซื้อแล้วไปขายต่อหรือเปล่า แต่ในข้อเท็จจริงเขาไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง หลายคนบอกว่าเขาเป็นพ่อค้าคนกลาง จะไปตัดท่อได้อย่างไรดี ทั้งที่ความเป็นจริงเขาสามารถซื้อได้ ผมถึงบอกว่าในข้อกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่า คนรับสลากฯ ไปต้องขึ้นทะเบียนไว้เหมือนขายเหล้า ขายบุหรี่ ซึ่งตรงนี้จะช่วยตัดวงจรพ่อค้าคนกลางได้อัตโนมัติ

แต่วิธีที่เสนอให้ขึ้นราคาสลากฯ มันสวนทางกับนโยบายของรัฐหรือ คสช. ที่ต้องการคืนความสุขให้แก่ประชาชน ด้วยการลดราคาสลากฯ ลงมา แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าคุณต้องการคืนความสุขให้แก่ผู้ขายมากกว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ต้องไปดูความเป็นจริงก่อนว่า แต่เดิมพี่น้องประชาชนพอใจแค่ไหน ต้องย้อนกลับไปว่าพี่น้องประชาชนพอใจกับราคาสลากฯ ที่ไม่เกิน 100 บาท เขาไม่บ่นนะ ไม่มีการบ่น แต่บังเอิญว่าท่านนายกฯ ต้องการขายสลากฯ ที่ราคา 80 บาท ซึ่งผมก็ต้องนำเสนอว่ากลไกที่แท้จริงคือะไร คือ ราคาสลากฯ น่าจะเป็น 100 บาทได้แล้ว ส่วนเงินรางวัลก็เพิ่มไปตามจำนวนผู้บริโภค ส่วนคนขายก็จะได้ไม่ต้องบวกราคาขึ้นอีก

นอกนั้นคนที่จะรับสลากฯ ไปขาย ก็มารับโดยตรงเลย จะรับเท่าไหร่ก็มารับ ไม่ต้องผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว แต่วันนี้คนที่เข้ามาเป็นเจ้าของโควตา ไม่ได้มองมิติในเรื่องของคำว่า “ผู้ค้าจริง” กลายเป็นว่าอยากจะทำก็ทำ หรือไม่ก็รวมสลากฯ กันบ้าง การที่ยังมีกลุ่มก้อนที่แสวงหาผลประโยชน์ การหลอกลวงพี่น้องประชาชนเหมือนทุกวันนี้ว่ามีโควตา มีการบวกราคามากขึ้นไปอีก

คุณอำนวยพรบอกว่าถ้าขายสลากฯในราคา 100 บาท คิดว่าเป็นราคาที่ผู้ซื้อจะรับได้ แต่ถามว่าถ้าประชาชนมีชอยส์ให้เลือกซื้อ ระหว่าง 80 บาทและ 100 บาท คาดว่าประชาชนคงอยากจะซื้อสลากฯ ในราคา 80 บาทมากกว่า ดังนั้นราคาสลากฯ 100 บาทที่คุณบอกว่าประชาชนรับได้นั้น สรุปว่า “ประชาชนรับได้” หรือ “ผู้ขายรับได้” กันแน่

ราคาตรงนี้ผมคิดว่าประชาชนหรือผู้บริโภคสามารถรับได้อยู่แล้ว

คุณคิดเอาเองหรือเปล่าว่าประชาชนรับได้

ผมไม่ได้คิดเอง ผมอยู่กับกองสลากฯ มานานแล้ว 20 กว่าปี ผมรู้กลไกของตลาดพอสมควร วันนี้ผมถามพี่น้องประชาชนว่าถ้าสลากฯ ขายไม่เกิน 100 บาท เขารับได้ไหม เขาตอบว่ารับได้ ผมถึงบอกว่าเมื่อก่อนไม่มีการโอดครวญอะไรมา ดังนั้นถ้าราคา 100 บาท ก็น่าจะรับได้ ไม่เห็นจะมีปัญหา

แต่รัฐบอกว่าต้องการลดราคาสลากฯ ลงมา เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ แต่ทำไมคุณถึงคิดต่าง

คือผมถามว่าสลากฯ เป็นปัจจัยของมนุษย์ในการซื้อเก็บไว้กินหรือเปล่า มันไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่เราต้องมารับประทานหรือเป็นหัวใจหลักเลย

ตอนนี้รัฐบอกว่าจะยอมขาดทุนกำไรสลากฯ เพื่อประชาชน แต่นโยบายของคุณดูเหมือนว่าต้องการเพิ่มกำไรให้รัฐ ดูจะสวนทางกับนโยบายของรัฐไม่น้อย กลายเป็นว่าคุณต้องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของรัฐมากกว่าพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนหรือเปล่า

คือ ถ้าคุณดูกลไกของตลาด ถ้าสลากขึ้นราคา 100 บาท กลไกต่างๆ ก็จะขึ้นไปตามดีมานด์ซัปพลายอยู่แล้ว ต้องดูว่า หนึ่ง เงินรางวัลจะต้องเพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภค สอง ด้านของ CSR หรือการทำประโยชน์เพื่อสังคม ก็ต้องเพิ่มไปตามสัดส่วน ในขณะที่รัฐก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน ส่วนผู้ขายหรือผู้แทนจำหน่ายก็ไม่ต้องขายราคาที่เกินราคา หรือบวกราคาขึ้นไป เพราะสลากฯ ใบหนึ่งคุณได้อยู่แล้ว 12- 15 บาท

แล้วผู้บริโภคเขาซื้อสลากฯ ไป เงินก็ไม่ได้หมดไปสูญเปล่าให้แก่กลุ่มก้อนของนายทุน แต่เงินส่วนหนึ่งเป็นเงินรางวัล นอกนั้นก็เป็นเงินช่วยเหลือสังคม หรือเงินเยียวสังคม การที่คนซื้อสลากฯ เขามีเจตนาเพื่อเสี่ยงโชค เสี่ยงคือสูญเปล่า เหมือนคุณไปซื้อหวยใต้ดิน คุณยิ่งเสี่ยงกว่าอีก แต่การที่คุณซื้อสลากฯ คุณเห็นชัดเจนว่าเงินคุณจะเข้ารัฐเพื่อไปบำรุงประเทศ นี่จึงเป็นสิ่งที่คนซื้อสลากฯ จะต้องขอบคุณมากกว่า

ดังนั้นถ้ามองมิติใหม่อย่างที่ผมเล่าให้ฟัง เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจถึงที่มาที่ไป และเจตตา เจตนาคือ ข้อหนึ่ง ต้องการช่วยเหลือคนไม่มีงานทำ คือ คนพิการ คนด้อยโอกาส ข้อสอง เป็นเรื่องของรายได้ เพื่อช่วยเลี้ยงครอบครัว ข้อสาม เป็นการนำเงินตรงนี้ไปสร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่คนไทยทั้งประเทศ นี่คือเจตนาที่ชัดเจน

แล้วคุณคิดว่าการจัดสรรโควตาสลากฯ ของรัฐนั้น ทุกวันนี้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร

เรื่องนี้ต้องพูดว่าเป็นนโยบายของบอร์ดแต่ละบอร์ดมากกว่า ที่ผ่านมาการจัดสรรโควตาประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ส่วนคณะกรรมการบอร์ดชุดใหม่ก็ต้องดูว่าจะมีนโยบายอย่างไร ก็คงต้องรอดูต่อไป

คนมองว่าในกลุ่มคนที่ได้โควตาสลากฯ นั้น มี “ 5 เสือ” ซึ่งว่ากันว่าเป็นกลุ่มที่ได้โควตาสลากฯ เยอะที่สุด แต่ที่ผ่านมาคุณอำนวยพรเคยให้สัมภาษณ์ว่า 5 เสือ หมดไปแล้ว อยากรู้ว่า 5 เสือ หมดไปแล้วจริงเหรอ ถ้าหมดไปแล้วจริงทำไมสลากฯยังแพงอยู่

5 เสือไม่เกี่ยวเลย ต้องบอกว่าเมื่อก่อนคนที่ได้โควตาไปเยอะนั้นคือ กลุ่ม 5 เสือ แต่ทุกวันนี้ไม่มี 5 เสือ แล้ว มันหมดไปตั้งนานแล้ว แต่คนยังพูดถึงอยู่ ประธานคนเก่าก็บอกว่ามี 5 เสือ แต่ผมบอกว่าไม่มีแล้วครับ

คุณปฏิเสธว่าตอนนี้ไม่มี 5 เสือแล้ว แต่จากข้อมูลที่เราได้ไปคุยกับคนขายสลากฯ มา พวกเขาก็ยืนยันว่าทุกวันนี้ยังมีเสืออยู่ ดังนั้นอยากรู้ว่าคุณเอาเหตุผลตรงไหนมาบอกว่าไม่มีเสือแล้ว

ผมว่าคนที่กำหนดคำว่าเสือ สิงห์ หรือกระทิงแรด นั้น เป็นการกำหนดไปเอง คนตั้งสมมติฐานไปเอง บอกว่าคนนี้เป็นเสือเพราะมีสลากฯ เยอะ แต่ถามว่ากลไกไส้ในในการบริหารจัดการของเขานั้น โดยที่สำนักงานมอบให้เขาไปทำ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมสงคราะห์ เขาจะมีลู่ขายของเขา หมายถึงว่า วันนี้สมาคมสงเคราะห์รับสลากฯ ไปเท่านี้ เขาก็จะมีคนขายของเขา มีนาย ก. นาย ข. มารับสลากไปขายคนละ 5 เล่ม 10 เล่ม นี่คือกลไก โดยที่สำนักงานมอบให้คุณดำเนินการไป คุณก็จะได้ในเรื่องเป็นผู้แทนจำหน่าย โดยรับจากสำนักงานไปจำหน่ายเอง แล้วคุณก็ไปดูแลในกลุ่มพวกนั้นล่ะ แล้วส่วนต่างส่วนลด คุณก็ไปจัดการดูแลบริหารเอง คุณก็ไปดูว่าองค์กรของคุณมีค่าบริหารจัดการนิติบุคคลกี่เปอร์เซ็นต์ และจะให้ผู้แทนจำหน่ายของคุณกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น แล้วสำนักงานเองก็ไม่ต้องมาทำ

ถ้าจะตรวจสอบ ก็ให้ทางโน้นตรวจสอบเลยว่ามีการขายไหม หรืออาจจะมีการสุ่มตัวอย่างในเรื่องของการตรวจดู นี่คือเรื่องของกระบวนการ ไม่ใช่เสือ แต่ความจริงเราจะบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมคนพิการ สำนักงานก็จะให้นายกสมาคมเป็นคนดำเนินการทั้งนั้น

คุณบอกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ “กระบวนการ” ไม่ใช่ “เสือ “ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการนี้แหละที่ทำให้เกิดเป็นเสือขึ้นมา เพราะเป็นการมอบอำนาจของสำนักงานกองสลากฯให้ไปอยู่ในมือของผู้ที่ได้รับโควตา คนจึงมองว่าคนที่ได้โควตาสลากเยอะที่สุดนั่นแหละคือเสือ

มันไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจ แต่เป็นมติของคณะกรรมการกองสลากฯ ที่ระบุว่าให้สมาคมนั้นไปดำเนินการ โดยมีทีมงานเท่าไหร่ ผู้แทนจำหน่ายทั้งหมดกี่คน เหมือนนายกสมาคมคนพิการ เขาจะมีสมาชิก 20 คน 30 คน 200 คน ก็แล้วแต่ คุณเอาสลากไปเท่านี้ แล้วคุณไปรับผิดชอบตรงนี้ว่าเอาไปขายที่ไหน ตรงไหน ดูแลไปว่าเขาขายจริงหรือไม่จริง ก็ตรวจสอบแล้วทำรายงานมาถึงสำนักงานสลากกินแบ่งฯ

แต่การที่มีเจ้าไหนได้โควตาเยอะไป ก็มีโอกาสทำให้เขาได้มีอำนาจมากขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ทำให้เกิดการกุมอำนาจกลายเป็นเสือขึ้นมาอยู่ดี กลายเป็นว่าอำนาจไม่ได้อยู่ที่กองสลากฯ แล้ว แต่ไปอยู่ที่เขาแทน คุณคิดเรื่องนี้อย่างไร

คุณอย่าลืมว่า กฎต่างๆ มันมีเงื่อนไขในระเบียบสำนักงานรองรับว่า ถ้าคุณไม่ขายตามราคา ไม่ขายตามกฎที่กำหนดไว้ เราก็สามารถใช้มาตรการคือ ริบ หรือยกเลิกได้

คุณบอกว่าที่ผ่านมามีกฎมาตรการจัดการอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการขายสลากฯ เกินราคา แต่ทำไมไมกองสลากฯ ถึงไม่ยกเลิกการจำหน่ายของเขาล่ะ

ถ้าคุณถามว่า เขาขายเกินราคา ทำไมไม่ยกเลิก ถามหน่อยว่าคุณขายในราคา 80 บาท แต่คนเอาไปขายต่อ โดยเอาจากคุณ เราจะไปบล็อกเขาได้ไหมว่า ผมขาย 80 แต่ นาย ก. รับจากคุณไปขาย 100 แล้วบอกว่ารับมาแพง แล้วพี่น้องประชาชนก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเขารับมาแพง แล้วมาพูดว่ามีเสือ 2 เสือ 3 เสือ ถามว่าผมขายในราคา 80 บาท หน้าสำนักงานฯ มีคนขายราคา 80 บาท มีคนเข้าแถวเหยียดยาว

คุณกำลังจะบอกว่าความผิดไม่ได้อยู่ที่ “เสือ” แต่ความผิดอยู่ที่ “คนมารับช่วงต่อจากเสืออีกที” จนทำให้ราคาแพง ใช่หรือไม่

มันไม่ใช่ความผิด แต่มันเรียกว่าคนทำการค้า หรือการทำธุรกิจการค้า ถึงผมอยากให้มองย้อนกลับไปว่า ถ้าคนขายมีการระบุตัวให้ชัดเจนว่าคนนี้สามารถขายสลากฯ ได้ คนที่ไม่สามารถขายได้ก็จะไม่มารับของไป นี่คือความเกี่ยวข้องและที่มาที่ไปของเรื่อง และนำไปสู่ของคำว่าสลากฯ มันสามารถลดได้ ควบคุมได้

ทราบมาว่าสัดส่วนโควตาที่ได้เยอะที่สุดคือ มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งว่ากันว่าเป็นเสือตัวจริงและเสือตัวใหญ่ที่สุด คือ ได้โควตาสลากฯ 14 ล้านฉบับต่องวด คุณคิดว่าสัดส่วนนี้เหมาะสมหรือไม่ ควรลดหรือเพิ่มโควตาอย่างไรหรือเปล่า

ถ้าคุณไปดูไส้ในว่ามูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งไปรับอุปัฏฐากจากใครบ้าง หรือใครมีอำนาจสูงสุด ก็ลองไปถามดู ถ้าผมพูดไปก็เดี๋ยวโดนฟ้อง

เห็นว่าเบื้องหลังของการขายสลากฯ แพง เกิดจากนักการเมืองที่เข้ามา ทำให้การขายสลากฯ มีราคาแพงขึ้น ดังนั้นถ้าจะพูดว่านักการเมืองคือปัญหาได้หรือไม่

จริงๆ ผมเคยพูดแล้วว่า การที่จะบรรจุใครก็แล้วแต่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสลากฯ อย่าเอากลุ่มก้อนนักการเมืองเข้ามาเลย เพราะถามเลยว่าคนเล่นการเมืองเพื่ออะไร ถ้าถามว่ารักประเทศชาติ ป่านนี้ประเทศก็เจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่ถามว่าเข้ามาอยู่ในองค์กรรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเข้ามาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็ดี แต่ถ้าเข้ามาเปลี่ยนแปลงในทางลบ องค์กรก็มีความเสียหาย หรือเกิดการแทรกแซงในเรื่องการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ถ้าไม่ทำ ก็โดนปลด ไม่ปลดก็โดนกลั่นแกล้ง นี่คือ นักการเมือง เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลงก็ไม่รู้

คุณเข้ามาทำงานในกองสลากฯ นานกว่า 23 ปีแล้ว เห็นนักการเมืองผลัดเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในกองสลากฯ หรือเปล่า

ผมไม่ได้บอกว่านักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ อันนี้ผมไม่ได้พูดนะ แต่ที่ผมเห็นคือ มันไม่ได้ทำให้สำนักงานกองสลากฯ รุ่งเรืองมาก ผมขอพูดแบบนี้ดีกว่า

กล้าพูดไหมว่านักการเมืองมีส่วนทำให้ราคาสลากฯ แพงขึ้น

ในส่วนของนักการเมืองเขาไม่ได้กำหนดราคา แต่กลไกสั่งการ กระบวนการสั่งการ นักการเมืองก็มีส่วนเกี่ยวข้องของโควตาต่างๆ

ทุกวันนี้คุณทราบว่ามีปัญหาเสือนอนกินที่ไม่ได้ขายเองจริงใช่ไหม

ผมบอกว่าเขาขาย แต่พวกที่ไปเป็นกระบวนการขายฝาก หรือขายอะไร ผมก็ไม่รู้เรื่องกระบวนการเหล่านี้ แต่พอได้ข่าว แต่ถามว่าเข้าข่ายเสือนอนกินหรือเปล่า คำว่าเสือนอนกินมันพูดยาก เพราะผมบอกแล้วว่าไม่มีเสือ ถ้าคนเอาเปรียบนอนกินก็ยังพอว่า คนขาย คือ คนที่บอกว่าไม่ได้เป็นผู้แทนจำหน่าย ก็ถือว่าเขาขาย เขาเอาออกมา คุณพอใจให้ราคา 80 บาท ราคา 85 บาท คุณขายแล้วคุณไม่ต้องไปนั่งขาย เดินขาย

ดังนั้นถ้าจะพูดว่าคนกำหนดราคาคือ กลุ่มเสือที่มีนักการเมืองแบ็กอัปได้ไหม

ถ้ามองจริงๆ คนกำหนดราคาจริงๆ คือ สำนักงานกองสลากฯ ที่กำหนดราคาขาย 80 บาท แล้วต้องบอกว่ากลุ่มคนขายนี้เป็นผู้ค้ารายใหม่ที่มีเงินเป็นพันล้าน คนจะซื้อราคาเท่าไหร่ คุณก็ซื้อ แล้วคุณก็หาคนมาจัดการในเรื่องของสลากฯ จัดเป็นชุดบ้างเป็นใบบ้าง นี่คือวิธีการจำหน่ายแล้ว และคุณมีเครือข่ายประมาณหมื่นคน คุณขายเพิ่มไป คุณขายบวกราคาไป คุณก็ได้ส่วนต่างไป นี่คือกลไกที่ทำให้ราคาสลากฯ สูงขึ้น นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ช่วยอธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจหน่อยได้ไหมว่า จำนวนโควตาที่มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ไปนั้น จะมีการจัดสรรอย่างไรบ้าง

มูลนิธิก็จะมีสมาชิกที่เป็นผู้แทนจำหน่าย โดนขึ้นตรงกับมูลนิธิสำนักงานกินแบ่งรัฐบาล ที่ผ่านมา แต่ละจังหวัดก็จะมีคลังจังหวัด ซึ่งมีบัญชีรายชื่อว่าใครเป็นใคร ใครเป็นคนขาย ก็ขึ้นอยู่กับที่สำนักงานฯ มอบให้เป็นผู้จัดการดูแล โดยผ่านองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรทหารผ่านศึกก็จะมีสมาชิกว่าใครบ้าง ชื่ออะไร ขายตรงไหน แต่ว่าสำนักงานจะมอบให้เขาไปทั้งก้อนเลยว่าคุณเป็นคนจัดการดูแลการขายนะ นี่คือระบบการควบคุมอย่างหนึ่งที่เราสามารถโฟกัสไปถึงในเรื่องของหน่วยงาน องค์กร นิติบุคคล หรือสมาคมที่เราให้สลากฯ ไป เราโฟกัสได้ว่าคุณขายตรงไหน ทำไมราคาถึงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องขอความร่วมมือในเรื่องนี้ให้ได้

ในฐานะที่คุณคลุกคลีอยู่ในวงการสลากฯมานาน คิดว่าอะไรคือปัญหาในการจัดสรรโควตาของทุกวันนี้

ปัญหาคือ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าบุคคลที่เป็นผู้จำหน่ายสลากฯ โดยตรง หรือผู้ที่อยากขายสลากนั้นจำหน่ายสลากฯ จริงๆ หรือเปล่า มันไม่สามารถที่จะเฟ้นตัวบุคคลได้ เพราะเราไม่ได้มีการกำหนดกรอบให้มันชัด อย่างที่ผมบอกว่าควรจะมีการขึ้นทะเบียนให้ชัดเจน และกำหนดในข้อกฎหมายว่า คนที่ไม่ได้เป็นผู้ที่แทนจำหน่ายก็ไม่มีสิทธิ์จำหน่ายสลากฯ หรือเดินขายสลากฯ ให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วไป นี่คือ เราจำกัดท่อกลางของผู้ที่เพิ่มราคาขึ้นไป โดยอ้างว่ารับมาแพง ซื้อมาแพง หรือประเภทที่ขอค่าน้ำมันรถหน่อย มันจะช่วยตัดท่อตรงนี้ไปเลย คือ ขอโควตาให้คนจริงๆ ที่ขาย

แล้วเราสามารถดูจากประวัติศาสตร์ว่าเขาขายจริงๆ ไหม เช่น ผ่านไป 5 ปีก็ยังขาย เพราะทุกวันนี้ก็จะมีกลุ่มบางกลุ่มที่หาสลากฯ มาและให้ตัวแทนของเขาเดินขาย ซึ่งกลุ่มพวกนี้ก็จะเป็นกลุ่มนายทุนในการปล่อยสลากฯ ออกมา

ถ้าอย่างนั้นคุณมองว่าควรแก้ไขตรงนี้อย่างไร

ผมมองว่าต้องให้เขาทดลองขาย คือ ให้เขาขายจริงๆ แล้วเราจะได้ไปตรวจสอบว่าเขาขายจริงๆ หรือเปล่า เช่น ดูความชัดเจนในเรื่องของสถานที่ตั้ง ที่ขาย ขายตรงไหน อย่างไร พูดง่ายๆ คือ สามารถเช็กได้ว่าขายหรือไม่ขาย สามารถสอบถามจากชาวบ้านที่อยู่ละแวกนั้นได้ แล้วจะทำให้เรากำหนดโซนนิ่งได้ด้วยว่าควรจะกระจายสลากออกไปโซนไหน ตรงนี้ก็จะสามารถทำได้

คิดว่าควรจะมีการเพิ่มหรือลดสัดส่วนโควตาสลากฯ อย่างไรบ้างไหม จึงจะเหมาะสม

ผมคิดว่าสัดส่วนก็คงที่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าปัญหาคือ การที่ประชาชนอยากจะเป็นผู้ค้า หรือนำสินค้าสลากฯ ไปหาวิธีอย่างอื่น หรือกระบวนการอย่างอื่น ก็ต้องไปคิดดูว่าเจตนาทำเพื่ออะไร

หากคนขายรายใหม่อยากจะเข้ามามีส่วนแบ่งโควตาบ้าง มีข้อเสนอแนะไหมว่าทำอย่างไร คนขายรายใหม่ๆ จึงจะเข้ามาขายสลากฯ ได้บ้าง

ผมถามว่าคุณขายจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้าคุณบอกว่าขาย ผมไปตรวจว่าขายตรงไหน ถ้าตรวจแล้วไม่เจอ แล้วมาบอกว่าขายได้ยังไง ส่วนคนใหม่ ถ้าอยากขาย ผมถามว่าอยากขายตรงไหน ว่ามาเลย ผมถึงบอกว่างั้นเพิ่มสลากฯ มาเลย ใครต้องการก็มาเลย 1 ,2 , 3, 4, 5, 6 ทั้งหมดเข้ามาเลย

ถ้าหากรัฐบาลจะต้องแก้ พ.ร.บ. สลากกินแบ่งรัฐบาล คุณมองว่าควรแก้ไขตรงไหน

ผมมองว่าควรจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามา เพราะถ้ามีทางเลือกใหม่ พี่น้องก็จะมีทางเลือกมากขึ้น เช่น ตู้ออนไลน์ แล้วเป้าหมายอาจจะเป็น AEC หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย สามารถที่จะซื้อสลากฯ ได้ วันนี้เรามองว่ากลไกในเรื่องของเงินรางวัล เราน่าจะมีรางวัลเพิ่มมากขึ้น เพราะคนในประเทศเพื่อนบ้านชอบซื้อสลากฯ ของเรามาก แต่เราก็จะต้องนำไปสู่กระบวนการว่าทำได้แค่ไหน อย่างไร

ภาพโดย จิรโชค พันทวี





กำลังโหลดความคิดเห็น