เมื่อมาตรการเดิมไม่ได้ผล รัฐจึงลุยจัดระเบียบสลากใหม่เหลือฉบับละ 70 บาท หมดข้ออ้างขายเกินราคาด้วยเหตุผลต่างๆ นานา พบทำผิดจับลงโทษตามกฎหมาย ทว่าจะช่วยคืนความยุติธรรมให้ผู้ซื้อได้จริง หรือจะเป็นเพียงมาตรการซ้ำเติมผู้ขาย!!?
คืนความยุติธรรมให้ผู้บริโภค?
จากกรณีรัฐบาลเดินหน้าจัดระบบสลากใหม่ ห้ามขายเกินราคา โดยให้ผู้ค้ามารับไปจำหน่ายเองในราคาต้นทุนจากกองสลากในราคาที่ต่ำกว่าปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการขาย สลากจะขายเป็นทอดๆ จนควบคุมราคาไม่ได้ ส่งผลให้สลากราคาสูงขึ้นๆ เรื่อยๆ กระทั่งผลกระทบมาตกอยู่ที่ผู้บริโภคแทน
ทั้งนี้ มาตรการห้ามขายสลากเกินราคาจะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึง หากพบว่ามีการทำผิดระเบียบ จะมีโทษตามกฎหมายทันที
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าครั้งนี้เป็นการจัดระเบียบใหม่ทั้งราคาตั้งต้นจากกองสลากและระบบโควตาแก่ผู้รับไปจำหน่าย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผู้ค้าหลายรายรับสลากไปก็ไม่ได้นำไปจำหน่ายเอง แต่เป็นการส่งต่อให้ผู้ค้ารายย่อยอีกทีหนึ่ง
มีบางรายนำกลับมาขายต่อให้ผู้ค้ารายใหญ่ หรือขายต่อกันเป็นทอดๆ ส่งให้ราคาสลากสูงขึ้นๆ จนหยุดไม่อยู่ เรียกได้ว่าขาดความสุจริต เข้าทำนอง "ปั่นราคาเกินจริง" เมื่อผู้ค้ารายย่อยที่รับทอดสุดท้ายมาเดินขาย หรือตั้งโต๊ะขายก็ต้องตั้งราคาสูงขึ้นไปอีกเพื่อให้อยู่รอด ทำให้ผลการขายสลากเกินราคาเป็นภาระแก่ผู้บริโภค ที่สำคัญทำให้เกิดเงินนอกระบบจำนวนมหาศาลที่อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดสรรโควตาใหม่ว่าควรจะแบ่งสลากให้แก่ผู้ค้าในกรุงเทพฯ และทุกจังหวัด ในราคาต้นทุนจากกองสลากในราคาที่ต่ำกว่าปัจจุบัน โดยอาจจะตั้งราคากลางไว้ที่ฉบับละ 70 บาท เพื่อให้มีส่วนต่างกำไรมากขึ้น
นอกจากนั้น รัฐบาลยังแบ่งสัดส่วนรายได้ไว้รับซื้อสลากคืน เพื่อให้ครอบคลุมเหตุผลที่ผู้ค้าสลากมักจะอ้างว่า ประชาชนไม่นิยมซื้อบางเลข ทำให้จำหน่ายสลากไม่หมด จึงต้องขายเกินราคาเพื่อมาชดเชยสลากที่ขายไม่ออกด้วย
เมื่อรัฐมีแนวทางแบ่งสัดส่วนกำไรให้ผู้ค้ามากขึ้น จึงไม่มีเหตุผลใดมาอ้างในการขายเกินราคา หากพบการกระทำผิดจะต้องลงโทษตามกฎหมาย และขอเตือนผู้เกี่ยวข้องต่างๆ อย่าออกมาปลุกปั่นยั่วยุ ผู้ค้ารายย่อย หรือสมาคมชมรมผู้พิการต่างๆ ให้ออกมาเรียกร้อง หรือกดดันรัฐบาลโดยอ้างประชาชน
ทั้งนี้ ยังยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เพื่อกระจายส่วนแบ่งรายได้จากพวกที่นอนกิน มาสู่ผู้ขายสลากที่เสียเหงื่อ เสียกำลัง ตั้งใจเดินขายหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว รวมทั้งคืนความยุติธรรมให้ผู้บริโภค จะได้ซื้อสลากในราคาหน้าสลากจริง มิใช่ราคาที่สุดแท้แต่ผู้ขายจะตั้งขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่จะรักษาสิทธิ์ของตนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยการไม่ซื้อสลากเกินราคา
ต้องแก้ด้วยความรู้ไม่ใช่อำนาจ!
จากประเด็นดังกล่าวข้างต้นทำให้มีคำถามตามมาว่าจะได้ผลจริงหรือ? เพราะที่ผ่านมามาตรการเดิมไม่ได้ผล หนำซ้ำยัง กลับไปสู่สภาพเดิมที่แย่ลง เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต สปช. ซึ่งเป็นนักวิจัยเรื่องหวยมาโดยตลอด ได้ให้ความเห็นกับทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ว่า มาตรการนี้ทำได้ยาก และการจะทำให้ได้ผลคือต้องทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันเสียก่อน
“มาตรการนี้อาจจะทำให้ตลาดช็อกขึ้นชั่วคราว แล้วมันก็จะกลับเข้าสู่สถานการณ์เดิม แต่ถ้าทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันอันนี้จะยั่งยืน เพราะว่าถึงแม้จะมีระบบการเลือกตั้งแต่นักการเมืองเข้ามาเป็นคนดูแลสำนักงานสลาก แล้วราคาก็จะถูกตรึงไว้ตามกฎหมายได้ถึงแม้ว่าจะมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม
การบังคับด้วยอำนาจทางกฎหมาย มันทำได้ยากเพราะว่า คนที่ขายจริงๆ มันได้ไม่ถึง 10 บาท ยี่ปั๊วได้ 10 บาทจริง แต่คนขายเขาได้ไม่ถึง วิธีแก้ต้องทำให้ตลาดมีสถานการณ์ที่แข่งขันกันเกิดขึ้นให้ได้ คือต้องให้กลไกราคาทำงานครับ ทำให้เป็น 2 ตลาดแต่ว่าทั้ง 2 ตลาดมีเจ้าของตลาดเดียวกันแต่สำนักงานสลากเป็นเจ้าของตลาดทั้ง 2 ตลาดเลย แต่ให้สินค้าแข่งขันกัน ถ้าหากว่าราคาเกิน 80 ควรจะหันไปซื้อตู้ แต่ถ้าราคา 80 บาท ซื้อเป็นแผ่นได้”
การที่ให้ผู้ค้ารายย่อยมารับไปขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ถือว่าเป็นไปได้ยาก เพราะคนที่ไปรับต้องมีเงินสดถึง 50,000-100,000 บาท ในการรับสลากมาขายต่อ 1 ครั้ง และจุดนี้เองที่นักวิจัยเรื่องหวยมองว่ายังเป็นปัญหาอยู่
“คนที่ไปรับต้องมีเงินสด แล้วคนที่มีเงินสดคือใคร มันก็ต้องเป็นคนของพวกยี่ปั๊ว คนขายจริงๆ จะเอาเงินที่ไหนไปวาง 50,000-100,000 บาท จะเอาเงินที่ไหนไปวาง คนทั่วไปเงินสดเป็นก้อนเขาไม่มี คนที่มีคือพวกยี่ปั๊วเขาจะให้ตัวแทนตัวเองไปรับ”
ส่วนผู้ขายรายย่อยที่เร่ขายตามท้องถนนจึงต้องรับสลากจากผู้ค้ารายใหญ่มาอีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องขายเกินราคาเพราะอาจจะอยู่ไม่ไหว
“คนที่เขาไปเดินขายเขาได้กำไรแค่ 5,000-6,000 บาท เขาก็อาจจะไม่ค่อยไหว เขาก็อาจจะต้องขายเกินราคา เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาอย่างนี้ ผมคิดว่าก็จะลำบาก เนื่องจากว่าสำนักสลากบอกว่าเจ้านี้ไม่ได้ขายจริง รับไปแล้วไม่ขายจริง ก็เอาไปให้อีกเจ้าหนึ่ง เจ้าที่ได้ไปใหม่จะมีหลักประกันอะไรว่าเขาจะขายจริงหรือเปล่า ถ้าขายจริงได้ต้องมีเครือข่ายมารับซื้อไปเดินขาย”
ขอเสนอวิธีแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งคือระบบ "หวยตู้" สำหรับคนที่พร้อมจะขายจริงๆ ให้ไปรับหวยตู้จากสำนักงานสลาก หากขายได้กี่ฉบับก็หักจำนวนเงินไว้ และจำนวนเงินที่เหลือก็โอนให้กับสำนักงานสลาก
“ตอนนี้ควรจะดูว่าสำนักงานสลากมีตู้ของตัวเองเหลืออยู่กี่ตู้ เช่น เหลือสัก 2,000-3,000 ตู้ ก็เรียกมูลนิธิสมาคมที่พร้อมจะขายจริง หรือว่ากลุ่มคนที่เขาขายจริงๆ เอาตู้ไป และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้สำนักงานสลากก็ได้ แต่เมื่อคุณขายแล้ว คุณต้องโอนเงินให้สำนักงานสลากก่อน 19.00 น.
สมมุติว่าได้ไป 1,000 ฉบับ คุณขายได้วันนี้ 500 ฉบับพอตกตอนเย็น คุณก็หักของคุณไป ฉบับหนึ่งได้ 10 บาท คุณขายได้ 500 คุณก็ได้ไป 5,000 บาท จำนวนเงินที่เหลือคุณก็โอนเงินให้กับสำนักงานสลาก แล้วคนที่ได้ตู้ไปก็ไม่ต้องจ่ายให้สำนักงานสลากเพราะเป็นทรัพย์สินของสำนักงานสลากอยู่แล้ว
แล้วราคาลอตเตอรี่จริงๆ ไม่ใช่ราคา 80 บาท จริงแล้วคือ 40 บาทต่อใบ ภายหลังสำนักงานสลากไม่ได้ทำรอยปรุ คนซื้อก็เลยถูกบังคับให้ซื้อในราคา 80 บาท ราคาจริงๆ คือ 40 บาทแต่ถ้าขายด้วยตู้จะขายได้ 40 บาทแล้ววิธีนี้มันจะทำให้ลอตเตอรี่ที่ขายเกิน 80 บาท เขาก็จะไปซื้อตู้แทน”
จะเห็นได้ว่าหากมองให้ถูกทางมันก็มีอยู่หลายวิธีแก้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเรื่องสลากต้องแก้ด้วยความรู้ ไม่ใช่แก้ด้วยอำนาจ ผู้วิจัยเรื่องหวยกล่าวทิ้งท้าย
“ผมคิดว่าวิธีแก้ปัญหา สถานการณ์จะบังคับให้ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ต้องหาทางออกที่เป็นจริง เพราะว่าอำนาจทางการเมืองแก้ปัญหาทุกอย่างบนโลกไม่ได้หรอกครับ แก้ได้แค่บางปัญหา แต่บางปัญหาแก้ไม่ได้อย่างเช่น เรื่องสลาก ต้องแก้ด้วยความรู้ไม่ใช่แก้ด้วยอำนาจนะครับ”
กรุณาแก้ปัญหา อย่าแค่สร้างภาพ!
ในอีกมุมหนึ่ง ธวัช สถิตวิทยา ประชาสัมพันธ์สมาคมผู้ค้าสลากเลขท้าย กลับมองเห็นว่ามาตรการทั้งหมดนี้เป็นไปได้ยาก เพราะสำนักงานสลากไม่มีเจ้าหน้าที่มากเพียงพอที่จะรองรับผู้ค้าเป็นหมื่นคน
“ในการบริหารจัดการผมว่าค่อนข้างจะเป็นไปยากคือสำนักงานสลากไม่มีบุคลากรพอที่จะรองรับผู้ค้าเป็นหมื่นคน คือถ้าบอกว่าจะกระจายไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบดูแลมันก็เหมือนกับยี่ปั๊วนั่นแหละก็ไม่ใช่โดยตรง เดิมที่เขากระจายไปให้ยี่ปั๊วหรือว่าสภาเขาเรียกองค์กรการกุศล
เพราะว่าสำนักงานกองสลากไม่มีเจ้าหน้าที่มากเพียงพอที่จะดูแล ถึงได้กระจายไปแบบนั้น แล้วก็ให้ค่าบริหารจัดการ 2 เปอร์เซ็นต์ แก่มูลนิธิหรือสมาคมคนพิการที่มาบริหารจัดการ ถ้าบอกว่าหลักการจะเปลี่ยนตอนนี้สำนักงานสลากจะมาดูแลหมดทั่วประเทศ แล้วบางจุดพื้นที่ห่างไกลมีไม่มากแต่ว่าก็ต้องไปบริการ จะไหวเหรอ"
หากจำกัดเปอร์เซ็นต์น้อยแล้วคุมราคาสลากไม่ให้ขายเกิน 80 บาท ถือว่าผู้ค้าก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าหากขายไม่หมดและมีการซื้อสลากคืนผู้ค้าก็อยู่ได้
“ถ้าคุมราคา 80 บาท ไม่ให้ขายเกินราคาและจำกัดเปอร์เซ็นต์น้อยมันก็อยู่ไม่ได้ สรุปว่าต้นทุนมา 70 บาท และให้ขาย 80 บาท ถ้ามีปริมาณสลากที่เพียงพอที่ผู้ค้าขายได้ ผู้ค้าก็อยู่ได้ แต่ในจำนวนปัจจุบันที่ผู้ค้ามีสัก 5 เล่ม แล้ว 5 เล่ม 10 เล่ม แล้วให้เขาขาย 80 บาท คือกำไรแค่ 10 บาทต่อคู่ มันก็ไม่พอ
ถ้าให้ยื่นความจำนง ขอเพิ่มได้ก็โอเค ถ้าขายไม่หมดแล้วเอาคืนก็โอเค เพราะอยู่ที่ใครขายมากขายน้อย ถ้าขายมากกำไรน้อยพวกเราก็อยู่ได้ แต่ถ้าจำกัดโควตาเหมือนเดิมให้คนละ 5 เล่ม 10 เล่ม และจะให้กำไรคู่ละ 10 บาทพอขายหมดโควตาเองก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน ไปซื้อในตลาดก็คงจะไม่ค่อยมีอย่างนี้เราจะอยู่กันไม่ได้”
ถ้าคิดที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต้องค่อยเป็นค่อยไปและขอให้ทำงานกันอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาเหมือนการสร้างภาพขึ้นมาว่าแก้ปัญหาแต่สุดท้ายก็ปล่อยไว้
“ถ้าเกิดว่าทางสำนักงานสลากหรือทางรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาจริงๆ ผมก็ว่าถ้ามีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งใจทำจริงๆ แน่นอนการแก้ปัญหามันก็ต้องมีปัญหาปลีกย่อยมาบ้าง ต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ แก้กันไป
แต่ขอให้ทำจริงๆ เพราะที่ผ่านมามันไม่ใช่ทำแบบนั้น คือเหมือนกับว่าสร้างภาพขึ้นมาว่าแก้ปัญหาแต่สุดท้ายก็ปล่อยไว้ แล้วผู้ค้ารายย่อยก็แสดงความคิดเห็นอะไรก็ไม่ได้ เขาก็ไม่ฟัง เป็นที่เพ่งเล็งอีก"
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพราะถ้าหวยตายมันดึงขึ้นมายากพฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไป
“ต้องยอมรับว่าท่านนายกออกมาแก้ปัญหาก็เป็นสิ่งที่ดี พวกเราก็รอกันมานานเหมือนกันที่ผ่านมารายย่อยๆ ไม่ได้รับการดูแล คือเมื่อก่อนพวกเราก็ขอไปเถอะ ขอไปทีไรก็บอกว่าไม่มี โควตาเต็ม ก็ได้มาคนละ 5 เล่ม 10 เล่มมันไม่พอขาย เห็นด้วยครับ แต่ว่าจะขอว่าให้ค่อยๆ ปรับ ค่อยเป็นค่อยไป
เพราะถ้าหวยตายแล้ว มันดึงขึ้นยาก ในตอนนี้เหมือนมีมาตรการแรงๆ 2 มาตรการซ้อนกันอยู่ คือไม่ให้มีหวยชุด เราก็เห็นด้วยไม่ให้รวมเพื่อให้ลดการพนัน แต่มันเพิ่มสินค้าในท้องตลาดขึ้นมาโดยไม่ได้เพิ่มจำนวนพิมพ์ ผู้ซื้อกระเป๋าหนักเขาก็ไม่สนใจที่จะซื้อ กว่าจะซื้อ 5 คู่ 10 คู่ มันหาลำบาก
พอลดราคามาแบบ 10 บาท พฤติกรรมผู้บริโภคเราจะเหมือนเดิมหรือเปล่า เหมือนตอนแรกๆ ที่คสช. เข้ามาแล้วบอกว่าจะคุมราคาสลาก ตอนนั้นราคาก็เน่าไปพักหนึ่ง ผู้ค้าก็เหลือของเยอะมากไม่รู้จะทำไง แต่ตอนนี้ก็ดีหน่อย ที่จะมีการตั้งกองทุนรับซื้อคืนจะปฏิบัติการได้ไวขนาดไหน ถ้าปฏิบัติการได้ช้ามันก็จะมีปัญหากับผู้ค้ารายย่อยอีกก็ต้องรับผลขาดทุนไปอีก”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754