xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โรฮีนจา จะมัวแต่ดรามา หรือจะพลิกวิกฤต พ้นบัญชีดำค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอกธนะศักดิ์  ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ดาโต๊ะ ซรี อะนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย  และนางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาค ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่  20 พ.ค. 2558
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแส “คนรักชาติ ห่วงความมั่นคง ต้องมาก่อน” ที่แชร์กันสนั่นโลกโซเชียลทั้งเรียกร้องให้ถีบหัวส่งโรฮีนจาอย่ารับเอามาเป็นภาระ ทำเอารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มึนตึ๊บไปไม่เป็นจากการถูกกดดันรอบด้านทั้งชาวโลกและชาวไทย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้หากรัฐบาลเป็นงานด้านการต่างประเทศและรับไม้รับมือกับกระแสสังคมที่ออกจะดรามากันจนเกินไปได้เป็นอย่างดี จะเป็นสถานการณ์ที่ช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสปลดแอกประเทศไทยจากบัญชีดำค้ามนุษย์และสร้างชื่อเสียงในสากลโลกเลยทีเดียว

ส่วนนางสาวฐาปนีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวรายการสามมิติของช่อง 3 ที่เจอกระทู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการนำเสนอสกู๊ปข่าวโรฮีนจาจะดรามาถึงกับร่ำๆ จะ หยุดพักชั่วคราวนั้น ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญในวิชาชีพสื่อมวลชนที่สอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปจนเกินงาม ขณะเดียวกันก็เป็นอีกเรื่องที่หากมองในแง่การทำงานในวิชาชีพก็ถือว่าคุ้มค่าในการทำให้ประเด็นนี้เป็นที่สนอกสนใจของสังคมไทยได้ แม้จะเทียบไม่ได้กับเรตติ้งข่าวดาราเตียงหักที่หาประโยชน์อันใดมิได้ก็ตาม

ความจริงแล้ว การอพยพของชาวโรฮีนจามีมาคู่กับปัญหาการค้ามนุษย์มานมนานแล้ว และทุกชาติทุกภาษาต่างถีบหัวส่งพวกเขาให้ลอยลำอยู่กลางทะเลอย่างที่เห็นกันมาชั่วนาตาปี มนุษย์ด้วยกันที่เรียกว่าโรฮีนจา ก็ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โชคดีได้งานใหม่ มีชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศปลายทาง โชคร้ายก็เอาชีวิตมาทิ้งกลางทะเล หรือไม่ก็ตายบนแผ่นดินที่ถูกใช้เป็นค่ายกักกันรอส่งต่อหรือรอรีดค่านายหน้าจากการเจ็บป่วยไข้หรือถูกทารุณกรรม ขณะที่นายหน้าค้ามนุษย์ทั้งมีสีและไม่มีสีต่างร่ำรวยกันถ้วนหน้า หาได้สะทกสะท้านเมื่อถูกจับกุม ไม่ เพราะหากเครือข่ายไม่ใหญ่จริงจะมีใครกล้าค้ามนุษย์

ปัญหาผู้อพยพโรฮีนจา จึงเป็นอะไรที่ซับซ้อนและมากกว่าจะมาดรามากันผ่านหน้าเฟซบุ๊ก สร้างความเกลียดชังเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้คนไทยถูกมองด้วยสายตาจากชาวโลกว่าโหดร้ายไร้มนุษยธรรม ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยภายใต้คณะผู้บริหารประเทศที่มาจากการรัฐประหารที่มีภาพลักษณ์ติดลบเป็นทุนเดิม

ฉะนั้น ปัญหานี้จึงเป็นงานที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องโชว์ให้เต็มที่ว่าจะมีฝีมือหรือมีน้ำยาสักแค่ไหน จะติดหล่มดรามา หรือว่าจะแก้วิกฤตให้ เป็น โอกาสสร้างผลงานหลุดจากบัญชีดำค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากการบินไปประชุมที่มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2558 ของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามคำเชิญของดาโต๊ะ ซรี อะนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย โดยมีนายเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาค ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ก็ต้องบอกว่า การแสดงบทบาทของไทยในเวทีต่างประเทศยังอ่อนด้อยกว่าเพื่อนอยู่ก้าวหนึ่ง

เหตุที่ว่าเช่นนั้นดูจากอาการลังเลจะตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวรับผู้อพยพชาวโรฮีนจาหรือไม่ หรือจะจัดการอย่างไร หรือมีการจัดการอยู่แล้วอย่างไร ก็ไม่มีการฉกฉวยโอกาสอธิบายแบบสั้น กระชับ ชัดเจน เก็บแต้มต่อประชาคมโลก ภาพที่ออกมาจะบอกว่าสอบตกด้านการประชาสัมพันธ์ก็คงไม่ผิดนัก

แถมภายหลังการประชุมเสร็จสรรพ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียกับอินโดนีเซีย ก็ขึ้นโพเดียมแถลงข่าวร่วมกันว่า จะให้ความช่วยเหลือคนย้ายถิ่น 7,000 คนที่ยังอยู่ในทะเลต่อไป และจะหาที่พักพิงชั่วคราวให้ด้วย เพื่อดำเนินกระบวนการส่งกลับภายในหนึ่งปี กระทั่งรุ่งขึ้นทำให้สหรัฐฯ ต้องรีบแจ้นมาขอแบ่งเบาภาระร่วมด้วยทันควันจากเดิมที่เอาแต่กดดันให้ไทย-อินโดฯ-มาเลย์ รับเอาแต่อย่างเดียว

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า อนีฟะห์ อมาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ที่พักพิงนั้นจะไม่ได้ตั้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นทางผ่านของโรฮิงญา ทุกคนจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายภายในของตน รัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวโดยไม่ขยายความว่า “พวกเขา (ประเทศไทย) ไม่ได้พูดว่าจะไม่รับ (คนย้ายถิ่น)”

ใช่แล้ว ในการแถลงข่าวดังกล่าว โพเดียมที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย จะต้องไปยืนร่วมแถลงข่าวด้วยนั้นว่างเปล่า มามีคำตอบจากคณะทำงานของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ในภายหลังว่าเพราะไม่รู้จะมีการแถลงข่าวจึงรีบเดินทางมาสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องกลับประเทศ กระทั่งตอนเย็นในวันเดียวกัน จึงมีข่าวแถลงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีใจความสำคัญอยู่ในตอนท้ายว่า “.... ประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ย้ายถิ่น และจะไม่ผลักดันออกจากน่านน้ำไทย...”

จะเห็นว่า มาเลเซียกับอินโดนีเซียนั้น เป็นมวยฉวยจังหวะทำแต้มแสดงความมีมนุษยธรรมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทั้งๆ ที่ทั้งสองชาติต่างก็พากันถีบหัวส่งชาวโรฮีนจาให้ลอยคออยู่กลางทะเลสากลไม่ให้ขึ้นฝั่งเหมือนกัน และเมื่อจะรับขึ้นมาก็ให้ที่พักพิงชั่วคราวและสุดท้ายก็ส่งกลับ เหมือนอย่างที่กระทำกันไม่ว่าไทย มาเลย์ หรืออินโดฯ และถ้าจะว่าไปไทยได้ให้ความช่วยเหลือให้ที่พักพิงชาวโรฮีนจามาโดยตลอดและบางกลุ่มก็ต้องเลี้ยงดูให้ข้าวให้น้ำอยู่นานกว่าปีด้วย ซ้ำ

การขึ้นเวทีนัดแรกถกปัญหานี้กับเพื่อนบ้านของไทยต้องถือว่าสอบตก สำหรับเวทีต่อไปในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ไทยจะจัดประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ถือเป็นเวทีใหญ่จะมีผู้เข้าร่วมจาก 17 ประเทศ 2 ประเทศผู้สังเกตการณ์ และ 3 องค์กรระหว่างประเทศ เช่น สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM International Organization for Migration) เข้าร่วม ต้องตั้งหลักให้ดีๆ

งานใหญ่คราวนี้ หากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยังเบลอๆ บลาๆ ไม่รู้ว่าจะเอายังไงดี ก็ลองรับฟังคำชี้แนะจากผู้คร่ำหวอดในเวทีระหว่างประเทศ อย่าง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สุรินทร์ พิศสุวรรณ - Surin Pitsuwan เมื่อเวลาประมาณ 00.30 น. วันที่ 21 พ.ค. 2558 ซึ่งแนะนำให้พลิกวิกฤตปัญหาโรฮีนจาให้เป็นโอกาส ดังนี้

“เรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานั้น ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการพิสูจน์ตนเองเพื่อลบล้างข้อกล่าวหาจากประชาคมโลกว่าด้วยเรื่องการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมาช้านาน ถ้าประเทศไทยไม่ฉกฉวยจังหวะนี้ไว้ เราจะพลาดโอกาสสำคัญที่จะแก้ต่างกับประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่าประเทศไทยเป็นจำเลยเรื่องการค้ามนุษย์ และเราจะถลำลึกติดหล่มกับปัญหานี้มากขึ้นไปอีก

“ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ พ.ศ. 2557 (Trafficking in Person Report -TIP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุอย่างชัดเจนว่า ทางการสหรัฐฯ ได้ลดอันดับประเทศไทยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้เริ่มกระบวนการที่จะนำไปสู่การกดดันทางด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ ต่อไป

“อีกทั้งสหภาพยุโรปได้แสดงความห่วงกังวลต่อปัญหาของเรือประมงของไทยที่ละเมิดกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ และได้กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของลูกเรือประมงต่างชาติอย่างรุนแรง และได้เริ่มมาตรการตอบโต้ทางด้านการค้าและความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ อีกด้วย ทั้งหมดนี้จะส่งผลเสียโดยตรงกับอุตสาหกรรมการประมง และการแปรรูปอาหารทะเล การส่งสินค้าไปยังตลาดในสหภาพยุโรป ความเสียหายในครั้งนี้จะกระทบกับชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างมาก จนยากที่จะเยียวยามากขึ้นทุกขณะ

“เพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยในปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องร่วมกับมิตรประเทศทั้งในภูมิภาคและประชาคมโลก สถาบันและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเบนเข็มความสนใจของประชาคมโลกไปยังประเทศที่เป็นต้นตอของวิกฤตนี้โดยตรง พร้อมทั้งแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะแก้ไขและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีคนไทยบางกลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้ประเทศไทยต้องตกเป็นจำเลยดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลไทยจะต้องมุ่งมั่นอย่างจริงจังและจริงใจที่จะปราบปรามผู้เกี่ยวข้อง ไม่มีการละเว้น ปกป้องผู้กระทำความผิด หรือทำแบบลูบหน้าปะจมูกอีกต่อไปโดยเด็ดขาด

“นอกจากนั้น ประเทศไทยจะต้องดำเนินการทางการทูตให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ มามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง การที่เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน ได้แสดงท่าทีห่วงกังวลอย่างสูงต่อปัญหาดังกล่าว โดยได้โทรศัพท์สายตรงถึงผู้นำไทย และสนับสนุนความริเริ่มของรัฐบาลไทยให้มีการร่วมหารือกับประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้โดยตรง นับเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับประเทศไทยในการแสดงความเป็นผู้นำ หาทางออกให้กับภูมิภาค และประชาคมโลกต่อปัญหาที่สะเทือนใจยิ่งนี้ โดยควรจะเป็นการประชุมขนาดเล็กเฉพาะในหมู่ประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น คือ เมียนมาร์ บังกลาเทศ ไทย มาเลเซีย และอินโดนิเซีย รวมถึงประเทศใหญ่ ๆ ที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับผู้แทนระดับสูงของยูเอ็นที่เกี่ยวข้องโดยตรง หากมีผู้เข้าร่วมประชุมมากเกินไป จะทำให้ท่าที จุดยืน และบทบาทการนำของประเทศไทยถูกบดบังเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย ประเด็นที่จะหารือกันก็จะไม่ชัดเจน เรื่องปลีกย่อยอื่น ๆ จะถูกยกขึ้นมาปะปนกับปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า

“ที่จะขาดไม่ได้จากเวทีการประชุมนี้ คือ ผู้แทนระดับสูงของเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง คือ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่มีบารมี ความเชี่ยวชาญและความสามารถอย่างสูง ซึ่งจะสะท้อนความห่วงกังวลของเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ได้แสดงออกต่อผู้นำไทยโดยตรงดังกล่าวแล้ว อันที่จริงประเทศไทยไม่มีอะไรจะสูญเสียจากยุทธศาสตร์การนำภูมิภาคในการแก้ไขปัญหานี้ แต่กลับจะได้ประโยชน์ หากการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ดังจะเห็นได้จากการที่นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ต่อสายตรงเพื่อแสดงความกังวลมายังพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทั้งๆ ที่ ไม่เคยเจรจาวิสาสะด้วยในโอกาสอื่น ๆ นับแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ารับหน้าที่บริหารประเทศ แสดงให้เห็นว่าวิกฤตคนอพยพชาวโรฮิงญาอาจจะเป็นกุญแจเปิดประตูทางการทูตให้กับประเทศไทยได้ หากมีการเดินแต้มและก้าวย่างอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

“ความหวังของประชาคมโลกในการรับมือกับปัญหาสำคัญนี้อยู่ที่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เก้าอี้ในที่ประชุมในวันที่ 29 พ.ค. นี้ อาจจะมีว่างบางตัวเพราะบางประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องอับอายหรือต้องรับภาระชี้แจงต่อชาวโลกแต่อย่างใด ในทางกลับกัน สายตาของคนทั่วโลกจะไปจับจ้องที่ “เก้าอี้ว่าง” ดังกล่าว นานาชาติก็จะได้รับรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว วิกฤตการอพยพของชาวโรฮิงญาครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และความร่วมรับผิดชอบควรจะเป็นของใครบ้าง

“นี่คือการเดินหมากทางการทูตที่มีเดิมพันสูงยิ่ง ประเทศไทยจะต้องไม่เพลี่ยงพล้ำ พลาดท่า หรือพ่ายแพ้ ในขณะที่สมาชิกอาเซียนกำลังจะรวมตัวกัน เป็น ประชาคมซึ่ง “จะเกื้อกูลและแบ่งปัน” (caring and sharing) ต่อกัน ประเทศไทยในฐานะเจ้าของความคิดเรื่องอาเซียนก็ชอบที่จะรับบทบาทนำในการแสดงให้ชาวโลกตระหนักว่าเราจะไม่ละเลยปัญหาท้าทายด้านมนุษยธรรม และความมั่นคงของมนุษย์ที่พลเมืองของอาเซียนส่วนหนึ่งประสบอยู่ในขณะนี้

“หลายประเทศในภูมิภาคต่างผลักภาระความรับผิดชอบและปฏิเสธข้อกล่าวหาในการก่ออาชญากรรมที่น่าสะเทือนใจนี้ แต่การจะแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมหาทางออก แบ่งรับภาระทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อันจะต้องใช้ความอดทนเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องของทุกภาคีภาคส่วน

“สิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยขณะนี้คือการโน้มน้าวให้ตัวละครทั้งหมดหันมาเห็นความเร่งด่วนรุนแรงของวิกฤตการณ์นี้ และหันหน้าเข้าหากันภายใต้การนำของประเทศไทย ถ้าประเทศไทยและอาเซียนไม่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่นและจริงจัง ยังนิ่งเฉย บ่ายเบี่ยง ไม่ใส่ใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ชาวโรฮิญา ผู้ซึ่งเป็นพลเมืองของอาเซียนด้วยกันแล้ว และยังเป็นกลุ่มชนซึ่งองค์การสหประชาชาติเคยกล่าวว่าเป็น “ประชากรที่ถูกกดขี่ ข่มเหง กีดกัน มากที่สุดในโลก” ในเวลานี้ (the most persecuted people) แน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อันด่างพร้อยและปวดร้าวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดไป”

การจัดการกับปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาคราวนี้ ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ดร.สุรินทร์ ว่าไว้ตั้งแต่ต้นก็คือ รัฐบาลจะต้องมุ่งมั่นอย่างจริงจังและจริงใจที่จะปราบปรามผู้เกี่ยวข้อง ไม่มีการละเว้น ปกป้องผู้กระทำความผิด หรือทำแบบลูบหน้าปะจมูกอีกต่อไปโดยเด็ดขาด เพราะการจับกุมตัวจิ๊บตัวจ้อยออกข่าวรายวันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น การกลบข่าวที่มีหลักฐานสืบสาวโยงใยถึงคนมีสีบิ๊กเบิ้มระดับนายพลที่ปกปิดกันอยู่ก็ต้องว่ากันให้แจ่มแจ้งกระจ่างชัด ไม่งั้นก็ถูกหยันว่าลูบหน้าปะจมูกอีกเหมือนเดิม

ขณะเดียวกัน ชนชาวไทยที่ถือตัวเองเป็นอารยชนมีวัฒนธรรมสูงส่ง ก็ควรจะเข้าใจภาพใหญ่ของปัญหาผู้อพยพและการจัดการกับปัญหานี้ที่กระทำกันในสากลโลก หากผู้คนในสังคมไทยเอาแต่ดรามาอยากถีบหัวส่งโรฮีนจา บอกได้เลยว่าไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น และในโลกของความเป็นจริงสังคมไทยตอนนี้ก็พึ่งพิงพวกผู้อพยพที่เป็นแรงงานชั้นต่ำ พม่า ลาว เขมร และรวมทั้งโรฮีนจา บางส่วน มาช่วยทำงานในระบบเศรษฐกิจ แกะกุ้ง ถูบ้าน เสิร์ฟอาหาร ลงเรือประมง ก่อสร้าง ล้วนต่างก็พึ่งพาผู้อพยพทั้งนั้น

อีกอย่างเรื่องดรามาเรียกน้ำตา เรียกความเห็นใจ ยังเป็นบทบาทที่ผู้อพยพถนัดนัก พวกดรามาหน้าเฟซบุ๊กของไทยเห็นจะสู้ไม่ได้ ดังจะเห็นจากการตีหน้าเศร้าให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศของชาวโรฮีนจาที่เพิ่งได้ข้าวได้น้ำจากไทยแล้ว ลอยเรือไปขึ้นฝั่งที่จังหวะอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ว่าถูกทหารไทยใช้ปืนขู่บังคับให้ออกนอกน่านน้ำไทย ทำเอาเจ็บกระดองใจจี๊ดๆ อย่างที่พ ล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงเมื่อวันก่อน

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการย้ายถิ่นทั้งแบบปกติ ไม่ปกติ ถูกและผิดกฎหมาย รวมตลอดไปจนถึงการบังคับย้ายถิ่นและการค้าทาสยุคใหม่ เชื่อหรือไม่จากการศึกษาของ IOM พบว่า มนุษย์บนโลกนี้ 1 ใน 7 คน คือพวกย้ายถิ่น ผู้คนราวๆ 230 กว่าล้านคน หรือประมาณ 3.2 % ของประชากรโลกคือคนย้ายถิ่นข้ามชาติ อีกประมาณ 740 ล้านคน เป็นคนย้ายถิ่นภายในประเทศของตัวเอง

มีคนที่ต้องลี้ภัยจากการสู้รบและความขัดแย้งทุกประเภทรวมกันในโลกนี้มากกว่า 33 ล้านคนในปัจจุบัน เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2556 มีพวกโยกย้ายถิ่นที่เข้าข่ายเป็นผู้อพยพ (ตามความหมายของยูเอ็น) 16.7 ล้านคน

จะว่าไป ชนชั้นนำของไทยก็ล้วนแล้วแต่เป็นลูกผสมระหว่างขุนนางกับจีนโพ้นทะเลเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็ต่างเคยเป็นผู้อพยพโยกย้ายถิ่นทั้งนั้น แน่นอนรวมทั้งกลุ่มตระกูลที่กุมเศรษฐกิจในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ล้วนเคยเป็นผู้อพยพโดยเฉพาะจากจีนแผ่นดินใหญ่มาก่อนทั้งสิ้น

คนย้ายถิ่นอย่างโรฮีนจาเป็นการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ คนแบบนี้นี้มีมากถึง 50 ล้านคนทั่วโลก คนพวกนี้จำต้องย้ายถิ่นด้วยเหตุผลหลายประการ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ และเดินทางกระจัดกระจายไปทั่วโลก ตามแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ จะเชื่อหรือไม่ว่ามีคนอพยพจากทั่วโลกเข้าสหรัฐฯ แบบผิดกฎหมายปีๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ไปยุโรปในแต่ละปีอีกหลายแสนคน
ในบรรดาคนที่โยกย้ายถิ่นเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไม่น้อยอีกเช่นกัน

ตัวเลขจาก TIP report ของสหรัฐฯ ระบุว่ามีคนที่ได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายการค้ามนุษย์ 44,000 คนในปีที่แล้ว รายงานบางฉบับคาดว่าเมื่อปีที่แล้วเหยื่อเหล่านี้อาจจะมีจำนวนถึง 20 ล้านคน เลยทีเดียว

สำหรับชาวโรฮีนจานั้นเดินทางออกนอกถิ่นฐานหลายระลอก ครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1978 และ ค.ศ. 1990 และมากันทุกปีหลังสิ้นฤดูมรสุม รวมๆ แล้วอาจจะมีคนประมาณ 1.5 ล้าน เป็นโรฮีนจาย้ายถิ่น อยู่ชายแดนบังคลาเทศกว่า 100,000 คน ที่เหลือในรัฐยะไข่พม่าอีกเกือบ 2 ล้านคน

สหประชาชาติ รายงานว่า ในห้วงระยะเวลา 2-3 ปีผ่านมา มีชาวโรฮีนจาออกเดินทางเผชิญโชคถึง 120,000 คน ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะใกล้ แต่ไปตะวันออกกลางก็ไม่น้อย

สปอตไลท์กำลังฉายจับมาที่ประเทศไทยในฐานะผู้นำชาติอาเซียน ที่กำลังจะจัดเวทีใหญ่เพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจา ต้องให้กำลังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใช้ความสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้หลุดพ้นบัญชีดำค้ามนุษย์ให้ได้

งานนี้ถ้าชนชาวไทยจะยังไม่ออกจากโหมดดรามาปั่นกระแสชาตินิยม ชูธงความมั่นคงนำหน้า ดูท่าคงตกขอบเวทีตั้งแต่ไก่โห่ แล้วรอมาตรการบอยคอตทางเศรษฐกิจจากคู่ค้ามหาอำนาจสหรัฐฯ ยุโรป กระหน่ำ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่เป็นทุนเดิมให้ดิ่งนรกได้เลย แน่ใจนะว่าจะรับไหว?



กำลังโหลดความคิดเห็น