xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : “บริษัทบิ๊กส่งออกทูน่ากระป๋องไทย” ตัดสัมพันธ์ซัพพลายเออร์ที่ตกเป็นข่าวฉาว หลังถูกเอพีแฉ “เกี่ยวข้องแรงงานทาส”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอพี – หลังจากเอพีได้เปิดรายงานเชิงวิเคราะห์ถึง การใช้แรงงานทาสชาวพม่าในอุตสาหกรรมจับสัตว์น้ำบริเวณเกาะเบนจินา อินโดนีเซีย ที่มีความเกี่ยวพันกับบริษัทส่งออกอาหารทะเลของไทยในฐานะเป็นแหล่งป้อนสินค้าให้กับบริษัทซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกิจร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ TUF ที่เป็นผู้นำและเชี่ยวชาญด้านอาหารทะเล และผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งทาง TUF ได้ออกแถลงการณ์ประกาศ “ตัดสัมพันธ์” และแสดงความรับผิดชอบ พร้อมระบุว่ารู้สึกละอาย และรับไม่ได้ต่อการใช้แรงงานเถื่อน พร้อมยกเลิกการทำธุรกิจกับซัพพลายเออร์เจ้าที่เป็นปัญหาทันที ท่ามกลางมรสุมที่ไทยในปีที่ผ่านมา ถูกสื่อนอกค่ายต่างๆรุมขุดคุ้ยปัญหาใช้แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงไทย และเป็นเหตุให้ไทยถูกจัดลดลำดับชั้นในรายงานกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯในเวลาต่อมา

เอพีรายงานวันนี้(25) ถึงแถลงการณ์ล่าสุดของบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ TUF ซึ่งเป็นผู้นำและเชี่ยวชาญด้านอาหารทะเล และผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องอันดับหนึ่งของโลก ประกาศสิ้นสุดความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจร่วมกับซัพพลายเออร์ที่ถูกระบุในรายงานเชิงสอบสวนของเอพีก่อนหน้านี้ ในปัญหาการใช้แรงงานทาสที่อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงเพื่อป้อนสินค้าให้กับทางบริษัท

เอพีชี้ว่า แถลงการณ์ของ TUF ที่ออกล่าสุดนี้มีขึ้นหลังจากในปีที่ผ่านมา ไทยได้ตกเป็นเป้าสายตาจับจ้องไปทั่วโลก หลังมีการสอบสวนจากสื่อค่ายดังจากอังกฤษ เดอะ การ์เดียน ในการใช้แรงงานทาสในการผลิตอาหารทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป้อนให้ทั่วโลก รวมถึง สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

จากแถลงการณ์ของ TUF ประกาศว่า ทางบริษัทรู้สึกอับอายต่อสิ่งที่เอพีค้นพบ ทั้งนี้สิ่งที่เรียกว่า “การใช้แรงงานทาส” ถือเป็นสิ่งที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิงในความเห็นของ TUF และทางบริษัทได้ตัดสินใจตัดขาดกับซัพพลายเออร์เจ้าดังกล่าวที่ตกเป็นข่าวบนหน้าสื่อเอพีแล้ว หลังจากที่ทาง TUF ประเมินว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่ซัพพลายเออร์แห่งนี้จะข้องเกี่ยวกับแรงงานทาส และการปฎิบัติที่ขัดกับหลักมนุษยธรรมอื่นๆ

โดยในวันเดียวกันนี้ เอพีได้ออกรายงานเชิงสืบสวน “Are slaves catching the fish you buy?” หรือ อาหารทะเลที่คุณซื้อนี้มีที่มาจากแรงงานทาสหรือไม่ โดยนักข่าวเอพีได้รายงานแหล่งการใช้แรงงานทาสชาวพม่อยู่บนเกาะ เบนจินา (BENJINA) อินโดนีเซีย ซึ่งล้วนความเป็นอยู่ไม่ต่างจากทาสเท่าใดนัก เพราะพบว่าแรงงานเถื่อนเหล่านี้ถูกขังในกรงที่อยู่ภายในที่พักบนเกาะแห่งนี้

ในขณะที่แรงงานพม่าอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ห่างไปไม่มากนัก กำลังง่วนอยู่กับการขนถ่ายปลาและสัตว์น้ำอื่นๆที่จับมาได้บนเรือประมง ซึ่งปลาและสัตว์น้ำเหล่านี้จะป้อนให้กับเครือข่ายซุปเปอร์มาร์เกตใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมไปถึงร้านอาหารสุดหรูต่างๆ หรือแม้กระทั่งร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ

ทั้งนี้เอพีระบุว่า องค์กรผู้อพยพสากล International Organization for Migration ได้ช่วยเหลือคนที่เกี่ยวข้องในรายงานฉบับนี้ให้อพยพออกนอกเกาะเบนจินาเพื่อความปลอดภัย โดยได้รับการช่วยเหลือจากตำรวจอินโดนีเซีย ในขณะที่แรงงานทาสอีกหลายร้อชีวิตยังคงอยู่บนเกาะแห่งนี้ต่อไป และพบว่า มีแรงงานทาสจำนวน 5 คนถูกขังอยู่ในกรงในสัปดาห์นี้

โดยกลุ่มคนที่นักข่าวเอพีได้สอบถามบนเกาะอิเหนานั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติที่ยากไร้ที่สุดในโลก เอพีรายงานเพิ่มเติมว่า แรงงานเหล่านี้เดินทางผ่านไทยเพื่อถูกบังคับให้ใช้แรงงานอย่างหนักในการทำประมง และหลังจากที่จับปลาและสัตว์ทะเลได้ตามต้องการแล้ว ปลาและสัตว์เหล่านี้จะถูกส่งกลับไปที่ไทยเพื่อนำไปป้อนให้กับอุตสากรรมอาหารทะเลทั่วโลกต่อไป

และเอพียังชี้ว่า อาหารทะเลที่ได้มาจากแรงงานทาสนี้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และกระจายไปยังเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น โครเกอร์ อัลเบิร์ตสันส์ และเซฟเวย์ เป็นต้น และยังรวมไปถึงห้างวอลมาร์ต และบริษัทกระจายอาหารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เช่น ซิสโก เป็นต้น นอกจากนี้ อาหารทะเลปนเปื้อนการใช้แรงงานเถื่อนนี้ยังสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำในอเมริกา เช่น แฟนซี ฟีสต์ รวมไปถึง เหมียว มิกซ์ และ ไอแอม หรืออาจปรากฏอยู่ในเมนูดินเนอร์ในภัตคารสุดหรู และอาจจะซ่อนตัวในซูชิภายใต้รูปโฉมปูอัด เป็นต้น

ในรายงานสอบสวนชิ้นนี้ที่กินระยะเวลายาวนานร่วมปี โดยเอพีได้สัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 40 คนที่เป็นทั้งอดีตและปัจจุบันแรงงานทาสบนเกาะเบนจินา ซึ่งสื่อสหรัฐฯได้ติดตามการขนส่งอาหารทะเลที่จับได้ด้วยแรงงานทาสล็อตใหญ่ด้วยดาวเทียม และตามติดต่อไปถึงยังเมืองท่าในไทย ซึ่งเอพีพบว่ามีรถบรรทุกจำนวนมากได้ทำการขนถ่ายปลาและอาหารทะเลที่ได้ และนำไปส่งกระจายให้กับบริษัทต่างๆ รวมถึงบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์

เอพียังรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการทำข่าวชิ้นนี้ แรงงานทาสที่ถูกบังคับให้ใช้แรงงานต่างกลัวว่าจะเกิดอันตรายถึงชีวิต และร้องขอให้ช่วยเหลือ “ผมต้องการกลับบ้าน พวกเราล้วนต้องการสิ่งนี้ทุกคน” หนึ่งในแรงงานพม่าตะโกนบอกจากเรือประมง ในขณะที่แรงงานพม่าคนอื่นต่างส่งเสียงว่า “พ่อแม่ของพวกเราไม่ได้รับการติดต่อจากพวกเราเป็นเวลานานมากแล้ว พวกเขาคงคิดว่าพวกเราตายไปแล้ว”

ทั้งนี้อาหารทะเลที่แรงงานทาสเหล่านี้จับได้นั้นถูกส่งป้อนไปยังแหล่งผลิตต่างๆในไทย รวมไปถึงโรงงานแปรรูปอาหาร ซึ่งจากบันทึกของศุลกากรสหรัฐฯระบุว่า ผลิตภัณฑ์จากโรงงานไทยเหล่านี้ถูกส่งป้อนเข้าสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังส่งต่อไปยังยุโรป และเอเชีย แต่ทว่าเอพีชี้แจงว่า ทางสื่อสหรัฐฯติดตามเฉพาะที่ส่งเข้าสหรัฐฯเพราะสามารถตรวจสอบข้อมูลนำเข้าได้เนื่องจากเป็นข้อมูลสาธารณะ

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียใจว่า รายชื่อผู้นำเข้าอาหารทะเลจากไทยที่เอพีได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ แต่ออกแถลงการณ์ประณามการใช้แรงงานทาส และมีบางแห่งชี้แจงว่าได้ร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อรับรองว่าบริษัทซัพพลายเออร์ที่ทำการค้าร่วมกันนั้นทำธุรกิจตามหลักจริยธรรม

ทั้งนี้บรรดาแรงงานทาสที่เปิดเผยข้อมูลให้เอพีรับทราบต่างบรรยายถึงลักษณะการทำงานของกะเข้างานนานราว 20- 22 ชม. ในสภาพที่ไม่มีน้ำสะอาดบริโภค และคนงานเกือบทั้งหมดต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันถึงการถูกทารุณกรรม ไม่ว่าจะเป็น การถูกเตะ ตี หรือเฆี่ยนด้วยหางปลากระเบน หากคนงานพม่าเหล่านี้บ่น หรือพักผ่อนเพราะความเหนื่อยล้า และสื่อสหรัฐฯชี้ว่า แรงงานทาสได้ค่าตอบแทนน้อยมาก หรือไม่ได้ค่าตอบแทนเลยในการทำงานหนักเกือบตลอด 24 ชม.

นอกจากนี้ยังพบว่า หากแรงงานต่างด้าวคนใดก็ตามที่คิดพยายามหลบหนี ชีวิตพวกเขาต้องจบด้วยความตาย ซึ่ง Hlaing Min หนึ่งในแรงงานทาสที่สามารถหลบหนีออกมาได้กล่าวว่า “ชาวอเมริกันและอังกฤษที่ได้ทานอาหารทะเลเหล่านี้ ควรที่จะต้องจดจำพวกเราไว้ เพราะในใต้ท้องทะเลสีครามนี้มีกองกระดูกสูงราวภูเขากองอยู่ใต้น้ำ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากองกระดูกเหล่านี้อาจเป็นเกาะขนาดย่อมๆได้”

และที่บริเวณอ่าวเล็กๆบนเกาะเบนจินา อินโดนีเซีย มีตึกสูง 5 ชั้นเป็นของบริษัท Pusaka Benjina Resources ซึ่งนอกจากตึกสำนักงานแล้ว ยังมีที่พักคนงานเรือประมง รวมไปถึงกรงขังอีกด้วย ซึ่งบริษัทแห่งนี้ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียวจากรัฐบาลอิเหนาให้สามารถทำประมงรอบเกาะแห่งนี้ได้ และเอพีพบว่าบริษัทแห่งนี้จดทะเบียนขึ้นกับอินโดนีเซีย และมีเรือประมงในความครอบครองจำนวนมากกว่า 90 ลำ แต่กลับมีกัปตันเรือเป็นคนไทย ซึ่งรัฐบาลอิเหนากำลังสอบสวนว่า เรือประมงเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นของคนไทยหรือไม่

และเอพียังได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับคนงานทาสที่ได้ขนถ่ายปลาและสัตว์น้ำที่จับมาได้ให้กับเรือซิลเวอร์ ซี ไลน์ ( Silver Sea Line) ที่มีห้องเย็นบนลำเรือ ซึ่งเรือลำนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทซิลเวอร์ ซี รีฟเฟอร์ โค( Silver Sea Reefer Co) ที่จดทะเบียนในไทย และพบว่าบริษัทแห่งนี้มีเรือประมงที่มีห้องเย็นอยู่บนลำเรือถึง 9 ลำ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทแห่งนี้ปฎิเสธว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนงานประมงทาสเหล่านั้นแต่อย่างใด โดยทางเจ้าของบริษัทแห่งนี้ซึ่งเป็นคนไทยกล่าวเพียงว่า เป็นผู้รับจ้างขนส่งอาหารทะเลโดยทั่วไป และไม่เกี่ยวข้องกับเรือประมงหรือคนงานบนเรือจับปลาแต่อย่างใด

ในการสืบสวน ทางเอพีได้แกะรอยเรือประมงแรงงานทาสจากดาวเทียม ซึ่งใช้เวลา 15 วันไปจนถึงจังหวัดสมุทรสาคร และนักข่าวเอพียังได้เฝ้าติดตามสังเกตถึง 4 วัน พบคนงานขนถ่ายสินค้ากระจายไปตามรถบรรทุกจำนวนไม่ต่ำกว่า 150 คัน และส่งไปยังโรงงานต่างๆกระจายไปทั่วจังหวัด และภายในโรงงานแห่งหนึ่งที่รถบรรทุกปลาไปถึง ทางตัวแทนโรงงานได้เปิดเผยกับนักข่าวเอพีว่า ทางโรงงานได้จำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยอื่นๆ รวมไปถึงบริษัทที่นำสินค้าเหล่านี้ไปจำหน่ายต่อที่สหรัฐฯ และจากบันทึกศุลกากรสหรัฐฯระบุว่า ล็อตสินค้าจากโรงงานในไทยแห่งนี้จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ที่น่าเชื่อถือในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ในรายงานสอบสวนฉบับนี้ เอพีได้เปิดเผยรายชื่อบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ติดข้างรถบรรทุก ไม่ว่าจะเป็น คิงฟิชเชอร์ โฮลดิงส์ ( Kingfisher Holdings Ltd ) หรือ มหาชัย มารีน ฟูดส์ (Mahachai Marine Foods Co) ซึ่งพบว่าทุกเดือน บริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิงส์ และบริษัทเคเค ฟูดส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก จะส่งอาหารทะเลเข้าสหรัฐฯร่วม 100 เมตริกตัน ที่มีบริษัทสตาวิส ซีฟูดส์ ( Stavis Seafoods) ฐานอยู่ในบอสตันเป็นคู่ค้า รวมถึงบริษัทอื่นๆในอเมริกา

และเอพียังได้ติดตามรถบรรทุกของบริษัท Niwat Co. ซึ่งเจ้าของยอมรับว่าได้ป้อนอาหารทะเลแรงงานทาสให้กับบริษัทไทย ยูเนียน แมนูแฟคเจอริง ( Thai Union Manufacturing) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TUF ที่มีรายได้ต่อปีราว 3.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทาง TUF เป็นคู่ค้าโดยตรงกับห้างวอลมาร์ต สหรัฐฯ รวมไปถึงส่งอาหารแมวกระป๋องจำนวนมากป้อนสหรัฐฯทุกเดือน เช่น แฟนซี ฟีสต์ รวมไปถึง เหมียว มิกซ์ และ ไอแอม และยังป้อนตลาดซุปเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ทั่วสหรัฐฯ และทางบริษัท TUF ยอมรับว่า เป็นการยากที่จะกล่าวว่า มีอาหารแมวกระป๋องใดบ้างที่ได้มาจากแรงงานทาส

แต่กระนั้นทาง TUF ชี้แจงว่าได้ทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดแรงงานทาสให้หมดไป “เราต่างต้องยอมรับว่า เป็นการยากที่จะทำให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมการประมงไทยนั้นสะอาด 100%” ซีอีโอของบริษัท ธีรพงศ์ จันศิริกล่าวในแถลงการณ์ผ่านทางอีเมล

















กำลังโหลดความคิดเห็น