xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกายกฟ้อง"สนธิ"ไม่หมิ่น"แม้ว" ออกแถลงการณ์"กลียุคมาแล้ว"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลฎีกาพิพากษายืน ยกฟ้องคดี "ทักษิณ" ฟ้อง "สนธิ" พร้อมอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ฐานหมิ่นประมาท กรณีออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 เรื่อง "กลียุคมาแล้ว" ระบุเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนที่กระทำ ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (20 พ.ค.) ที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวก ประกอบด้วย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสุริยะใส กตะศิลา, และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 2/2551 เรื่อง กลียุคมาแล้ว เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2551

คดีดังกล่าว โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึง 6 ได้ประกาศอ้างตนต่อประชาชนว่าเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งคือประกอบกิจการผลิตรายการข่าวช่องนิวส์วัน ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวีเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักรและต่างประเทศ สามารถรับชมภาพและเสียงได้ทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ที่สามารถเปิดแสดงข้อความความคิดเห็นได้ทั่วราชอาณาจักรและต่างประเทศด้วย จำเลยทั้ง 7 โดยเจตนาทุจริตได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2551 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ถึง 6 ได้ร่วมกันโฆษณาด้วยเอกสารและคำแถลงการณ์โดยจำเลยที่ 6 เป็นผู้อ่านเอกสารชื่อว่าแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่องกลียุคมาแล้ว ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง และจำเลยที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการถ่ายทอดออกอากาศโฆษณาแถลงการณ์ดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ที่มีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราวบโดยทั่วไป สาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวมุ่งหมายใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป

โดยปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า "...มีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างอุกอาจสำคัญๆ เช่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อย่างไร้เเหตุผล อันเป็นการกระทำการโยกย้ายใช้อำนาจแบบเผด็จการทุนนิยมสามานย์อย่างโจ่งแจ้ง ดังที่เคยปรากฏมาแล้วเหมือนในอดีตในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่คุมอำนาจตัดสินใจสั่งการแต่ผู้เดียว ทำลายระบบคุณธรรม ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในการบริหาร สั่งราชการ และตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่ผู้เดียว..."

คดีนี้ ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วจำเลยทั้ง 7 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดี

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2556 ระบุว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะอันเป็นวิสัยของประชาชนที่จะติชมด้วยความเป็นธรรมได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่ามีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างไร้เหตุผล และโจทก์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักกล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ตลอดจนมีการพาดพิงไปถึงสถาบันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการสำคัญอยู่เบื้องหลัง การที่จำเลยที่ 1 ถึง 6 ออกแถลงการณ์ตามคำแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.4 ยังเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ แม้จะใช้คำเกินเลยไปบ้างก็ยังอยู่ในวิสัยอันเป็นปกติธรรมดาของการแสดงความคิดเห็น การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) และจำเลยที่ 7 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ยื่นฎีกา และศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษา โดยมีคำพิพากษาระบุว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และจำเลยที่ 7 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตามฟ้องหรือไม่

สำหรับข้อความที่ปรากฏในเอกสารชื่อ "แถลงการณ์ ฉบับที่ 2/ 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง กลียุคมาแล้ว" ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งจำเลยที่ 6 อ่านต่อสื่อสารมวลชนนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า มีข้อเท็จจริงสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์ได้กระทำเช่นนั้นจริง โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยไว้เช่นนั้น

ในชั้นนี้ โจทก์ฎีกาว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 กับพวกระบุในแถลงการณ์มุ่งประสงค์ใส่ความเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริง เมื่อได้ยินได้ฟังเกิดความเข้าใจผิด ดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ กรณีมิใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำ เป็นการกระทำเกินปกติวิสัยของวิญญูชนโดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์

เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาชั้นต้นแล้วว่า ในสมัยที่โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการตามนโยบายใดๆ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโจทก์ รัฐมนตรีมีส่วนร่วมในการตัดสินใจน้อยมาก สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสังกัดพรรคไทยรักไทยเป็นจำนวนเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของโจทก์เป็นผู้กำหนดทิศทางและแนวทางในการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ของกองทัพ ตำรวจ และข้าราชการประจำ โดยไม่ได้ใช้ระบบคุณธรรม ไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถและอาวุโส ต้องวิ่งเข้าหาโจทก์หรือภริยา บรรดาญาติพี่น้องของผู้ใกล้ชิด สร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ ใช้สื่อสารมวลชนต่างประเทศทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม พาดพิงสถาบันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง มีเป้าหมายกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน คอยบงการทางการเมืองในพรรคพลังประชาชน อยู่เบื้องหลังรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของโจทก์ มีการโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งสำคัญ เช่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อย่างไร้เหตุผล ก่อให้เกิดความแตกแยกในการบริหารราชการ เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล จึงอยู่ในฐานะที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้บนพื้นฐานของความเป็นจริง หากปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ประชาชนก็ย่อมยกย่องสรรเสริญ กล่าวถึงในทางที่ดี หากประพฤติปฏิบัติในทางมิชอบดำเนินนโยบายใดผิดพลาด ไม่เหมาะไม่ควร ก่อให้เกิดความเสียหาย ประชาชนก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน เพราะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 สังคม ตลอดจนประเทศชาติ

การที่โจทก์มีพฤติการณ์ดังที่ปรากฏในเอกสารชื่อ “แถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง กลียุคมาแล้ว” ซึ่งมีสาระสำคัญดังที่กล่าวมาข้างต้น ครั้นถึงรัฐบาลที่มีนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ในการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเฉกเช่นที่โจทก์เคยปฏิบัติเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ทักท้วง เพื่อไม่ให้ดำเนินนโยบาย แม้จะใช้คำว่า “กลียุค” เป็นชื่อเรื่อง ซึ่งสื่อให้เข้าใจได้ว่า เป็นยุคที่ธรรมะลดลง เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความรุนแรงเลวร้ายเกิดขึ้น หรือใช้ถ้อยคำแทนการดำเนินการในรูปแบบที่โจทก์ดำเนินการว่า เป็นระบบทุนนิยมสามานย์ ซึ่งหมายถึงเลวทรามต่ำช้า ก็เป็นเรื่องราวใช้ถ้อยคำโดยอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ประกอบพฤติการณ์ของโจทก์ที่ปรากฏเป็นเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นวิสัยในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) เพื่อไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ ทบทวนสิ่งที่ทำไปโดยไม่ควร ยับยั้งที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และคำนึงถึงคุณธรรมในการปกครองประเทศเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนจำเลยที่ 7 ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
กำลังโหลดความคิดเห็น