xs
xsm
sm
md
lg

ตัวตนที่เป็นจริงของ ทักษิณ ชินวัตร สะท้อนผ่านคำพิพากษาฎีกาที่ 13699/2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลบหนีโทษจำคุกคดีที่ดินรัชดาฯ และหลบหนีคดีความทุจริตคอร์รัปชันอีกหลายคดีไปอยู่ต่างประเทศ ไปพูดที่เวทีการประชุม Asian Leadership Conference 2015 ที่ประเทศเกาหลีใต้ เรื่อง 70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การรักษาสันติภาพ และความรุ่งเรืองของเอเชีย

ทีมงานที่รับจ้างเขียนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของเขา สรุปสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูด ตอนหนึ่งว่า

“การเติบโตนั้นจะยั่งยืนและเชื่อถือได้ เฉพาะเมื่อใช้หลักนิติรัฐ และมีพื้นที่เปิดกว้างให้กับความสร้างสรรค์ หมายถึงทั้งพื้นที่ทางกฎหมายและการเมืองที่ปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสินทรัพย์และกระแสเงินแก่สังคมของเรา

นิติรัฐนั้นเป็นสินทรัพย์อันจับต้องมิได้ทางเศรษฐกิจอันสำคัญที่สุดโดยใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด”


นิติรัฐ คือ การบริหารปกครองรัฐหรือสังคมซึ่งถือกฎหมายเป็นใหญ่ เป็นการปกครองโดยกฎหมาย มิใช่แล้วแต่อำเภอใจของผู้ใช้อำนาจหรือผู้ปกครอง

เมื่อย้อนกลับไปดูพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงที่เป็นผู้ปกครองโดยตรงด้วยตัวเอง และโดยการชักใยอยู่เบื้องหลัง“หุ่นเชิด” แต่ละตัวช่างตรงกันข้ามกับหลักการและความหมายที่แท้จริงของคำว่า นิติรัฐ

เป็นเรื่องบังเอิญ ที่หนึ่งวันหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณไปพูดที่เกาหลีใต้ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13699/ 2557 ซึ่งเป็นคดีหมิ่นประมาท ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้ง 5 คน คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และพลตรีจำลอง ศรีเมือง ร่วมกับจำเลยอีก 2 รายคือ นายสุริยะใส กตะศิลา และบริษัทไทยเดย์ ดอทคอม กรณีที่ออกและเผยแพร่แถลงการณ์พันธมิตร ฉบับที่ 2/2551 เรื่อง กลียุคมาแล้ว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2551 ในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

คดีนี้ เป็น 1 ใน 4 คดี ที่ พ.ต.ท ทักษิณ ฟ้องแกนนำพันธมิตร อันเนื่องมาจากแถลงการณ์พันธมิตร 5 ฉบับที่ออกมาในช่วงต้นปี 2551 ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่แม้จะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ก็สั่งการผ่านตัวแทนหุ่นเชิด

ทุกคดี ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ อีกทั้งพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ปรากฏเป็นข่าวก็เป็นไปอย่างที่ระบุไว้ในแถลงการณ์พันธมิตรทั้ง 5 ฉบับ

โดยหลักกฎหมายอาญา คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น หากตัดสินลงโทษไม่เกิน 5 ปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่จะมีผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นลงชื่ออนุญาต

พ.ต.ท.ทักษิณ เคยโจมตีกระบวนการยุติธรรมหลายครั้งว่าไม่ยุติธรรม มีสองมาตรฐาน ครั้งหนึ่งถึงกับเรียกว่า ศาลมิกกี้เม้าส์ แต่ศาลไทยก็ให้ความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีจนถึงที่สุด โดยผู้พิพากษา ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา แม้ว่าประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณฎีกานั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้ว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านกลับมาคัดค้านในขั้นฎีกา

คำพิพากษาของศาลฎีกาถือว่าเป็นข้อยุติ เป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับกันได้ เพราะว่าได้ผ่านการกลั่นกรอง พิจารณามาแล้วถึงสามศาล

คดีนี้ ศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องแกนนำพันธมิตรทั้ง 5 และพวก ด้วยเหตุผลว่า

เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)(3) เพื่อไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ ทบทวนสิ่งที่ทำไปโดยไม่ควร ยับยั้งที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และคำนึงถึงคุณธรรมในการปกครองประเทศเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ

สำหรับข้อความที่ปรากฏในเอกสารชื่อ “แถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง กลียุคมาแล้ว” อันเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า

“เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาชั้นต้นแล้วว่า ในสมัยที่โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการตามนโยบายใดๆ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโจทก์ รัฐมนตรีมีส่วนร่วมในการตัดสินใจน้อยมาก สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสังกัดพรรคไทยรักไทยเป็นจำนวนเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของโจทก์เป็นผู้กำหนดทิศทางและแนวทางในการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ของกองทัพ ตำรวจ และข้าราชการประจำ โดยไม่ได้ใช้ระบบคุณธรรม ไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถและอาวุโส ต้องวิ่งเข้าหาโจทก์หรือภริยา บรรดาญาติพี่น้องของผู้ใกล้ชิด สร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ ใช้สื่อสารมวลชนต่างประเทศทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม พาดพิงสถาบันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง มีเป้าหมายกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน คอยบงการทางการเมืองในพรรคพลังประชาชน อยู่เบื้องหลังรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของโจทก์ มีการโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งสำคัญ เช่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อย่างไร้เหตุผล ก่อให้เกิดความแตกแยกในการบริหารราชการ

เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่สำคัญเพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล จึงอยู่ในฐานะที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้บนพื้นฐานของความเป็นจริง หากปฏิบัติดีปฏิบัติชอบประชาชนก็ย่อมยกย่องสรรเสริญ กล่าวถึงในทางที่ดี หากประพฤติปฏิบัติในทางมิชอบดำเนินนโยบายใดผิดพลาด ไม่เหมาะไม่ควร ก่อให้เกิดความเสียหาย ประชาชนก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน เพราะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 สังคม ตลอดประเทศชาติ

การที่โจทก์มีพฤติการณ์ดังที่ปรากฏในเอกสารชื่อ “แถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง กลียุคมาแล้ว” ซึ่งมีสาระสำคัญดังที่กล่าวมาข้างต้น ครั้นถึงรัฐบาลที่มีนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ในการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเฉกเช่นที่โจทก์เคยปฏิบัติเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ทักท้วง เพื่อไม่ให้ดำเนินนโยบาย
แม้จะใช้คำว่า “กลียุค” เป็นชื่อเรื่อง ซึ่งสื่อให้เข้าใจได้ว่า เป็นยุคที่ธรรมะลดลง เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความรุนแรงเลวร้ายเกิดขึ้น หรือใช้ถ้อยคำแทนการดำเนินการในรูปแบบที่โจทก์ดำเนินการว่า เป็นระบบทุนนิยมสามานย์ ซึ่งหมายถึงเลวทรามต่ำช้า ก็เป็นเรื่องราวใช้ถ้อยคำโดยอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นประกอบพฤติการณ์ของโจทก์ที่ปรากฏเป็นเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นวิสัยในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)(3) เพื่อไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ ทบทวนสิ่งที่ทำไปโดยไม่ควร ยับยั้งที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และคำนึงถึงคุณธรรมในการปกครองประเทศเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนจำเลยที่ 7 ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

คดีอันเกี่ยวเนื่องกับแถลงการณ์พันธมิตร อีก 3 คดี ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นโจทก์ฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ยังไม่ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยื่นฎีกาไปแล้ว หรือไม่ หากฎีกาไปแล้ว เมื่อได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13699/2557 ไม่รู้ว่า จะคิดใหม่ไหม


กำลังโหลดความคิดเห็น