xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถก คตช.กำชับเร่งฟันพวกทุจริต พร้อมใช้ ม.44 ถ้าจำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ประชุมบอร์ดต่อต้านการทุจริตฯ กำชับเร่งรัดในเรื่องเร่งด่วน ถ้าติดระเบียบทำให้ล่าช้า พร้อมใช้ ม.44 เข้าจัดการพวกคอร์รัปชัน ชี้ที่ผ่านมามีปัญหาเพราะกระบวนการยุติธรรมถูกครอบงำ

ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (21 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2558 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอ.ตช. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ. ผบ.ทอ., ผบ.ทร. นายประยงค์ ปรีชาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณส่วนราชการและภาคเอกชน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมระบุตอนหนึ่งว่าการทำงานต่างๆ ต้องเร่งรัดให้เดินหน้าได้ โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนต่างๆ ที่ต้องใช้กระบวนการตามกฎหมายต้องได้คำตอบ และได้ข้อยุติ แต่หากการดำเนินการตามระบบมีความล่าช้าก็จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อคต่างๆ ให้การทำงานเร็วขึ้นเพราะรัฐบาลมีเวลาจำกัดในการทำงาน แต่การใช้มาตรา 44 ต้องให้ความเป็นธรรม รัดกุม และถูกต้อง ขณะเดียวกัน หากพบว่ามีผู้กระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตก็ต้องดำเนินคดี รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อสิ่งเหล่านี้ทุกเหตุการณ์ และทุกรัฐบาลก็ต้องทำเช่นกัน ประชาชนต้องเรียนรู้ว่าหากกระทำความผิดก็ต้องถูกถูกดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการทำงานมีปัญหามาก เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมถูกครอบงำทำให้การทำงานต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ถึงวันนี้ข้าราชการทุกคนต้องทำงานก็เข้าใจว่าระบบนี้มีมานานแล้ว ทั้งนี้ หากมีปัญหาอะไรติดขัดก็ขอให้แจ้งมาจะได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง

ต่อมาภายหลังการประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำประธานอนุกรรมการ คตช.4 ฝ่ายแถลงข่าว โดยนางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ กล่าวว่า ต้องปลูกฝังการศึกษาและอบรมเพื่อป้องกันการทุจริต กำหนดบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นที่จะเน้นกิจกรรมให้ซึมซับ เช่น โครงการโตไปไม่โกง โครงการบัณฑิตไม่โกง กำหนดหลักสูตรอบรมข้าราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นจัดทำสื่อสั้นๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกเพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญจิตสาธารณะ ความรับผิดชอบ ไม่ทุจริต

นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต กล่าวว่า ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ เพื่อให้เครือข่าย ประชาชนรับรู้มากขึ้น รัฐบาลถึงจะได้รับร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น แต่อดีตไม่มีหน่วยงานติดตามทำตามกฎหมายกำหนดไว้ หลายหน่วยงานไม่เปิดเผยข้อมูล ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการในรูปแบบดิจิตอล ทำให้คนรับข่าวสารสามารถสังเคราะห์ข้อมูลได้สะดวก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกทางราชการ กำหนด 180 วัน ต้องเปิดเผยขั้นตอนการทำงาน ขณะนี้ภาครัฐ 21 หน่วยพร้อมเปิดเผยขั้นตอนการทำงานแล้ว นับจากนี้ไป 30 วัน

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปราบปรามการทุจริต กล่าวว่า การปราบปรามการทุจริตประสบปัญหาล่าช้า ทำให้ประชาชนมองว่าไม่ได้ผล คนก็จะไม่กลัว นายกฯจึงให้นำมาตรการการปกครองและวินัยมาใช้ เพราะจริงๆ ข้าราชการไม่ได้กลัวมาตรการอาญา กลัวติดคุก เพราะถ้าข้าราชการโดนวินัยก็มีผลกระทบ และสามารถดำเนินการได้ และจริงๆ แล้วความผิดทุจริตทางอาญา มีผลมากมายทางวินัย ถ้าเอามาตรการวินัยและการปกครองไปตัดไฟแต่ต้นลม ตั้งแต่ตอนนี้ ทำให้ทุจริตลดลง เพราะฉะนั้น ศอ.ตช.จึงเสนอให้ใช้คำสั่งที่ คสช.ที่ 69 เข้าไปกระตุ้นในกรณีที่พบผู้บังคับบัญชาทำผิดวินัย โดย ศอ.ตช.เข้าไปตรวจสอบ ถ้าพบผู้บังคับบัญชาการไม่ดำเนินการ จะโดนวินัยเสียเอง จะใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ที่กำหนดชัดการขออนุญาตจากหน่วยไหนใช้เวลาเท่าไร เช่น กำหนดอนุมัติใน 30 วัน หากผู้ประกอบการไม่ได้รับอนุมัติใน 30 วันก็ร้องเรียนมา ทาง ศอ.ตช. เข้าตรวจสอบทันที ถ้าชี้แจงได้ก็รีบดำเนินการให้เขา ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็โดนสองกรณีไม่ละเลยก็ผิดวินัย ถ้าละเว้นก็ผิดอาญา ตรงนี้ถ้าดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทันที ทำให้กระบวนการทางราชการดีขึ้น และนายกฯย้ำว่า นอกจากการร้องเรียนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกแล้ว ขอให้มุ่งเน้นความผิดทุกประเภทที่เคยดำเนินการมา ขอให้ดำเนินการ อย่าได้ละเว้น หรือมีสองมาตรฐาน

นายวิษณุกล่าวเสริมว่า เน้นมาตรการปราบปราม 4 ขั้นตอนจากเบาไปหนักสุด คือ 1. ให้ผู้กระทำความผิด หรือมีแนวโน้มว่าจะทำความผิด ต้องรู้จักยั้งคิด หยุดคิดว่าเสี่ยงอย่าทำ ทางที่ดีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก ถ้าเลยขั้นตอนยังคิดไม่เป็น ยังคิดไม่ออกอีก ต่อไปจะเลยไปขั้นที่ 2 ถูกตรวจสอบ ถ้าฝ่าฝืนจะตรวจสอบว่าที่ทำไปนั้น ผิดหรือไม่ ประมาท จงใจหรือไม่ มี สตง., ป.ป.ช., ป.ป.ท., คตร.เข้ามาตรวจสอบการใช้งบฯ วันนี้มีการตรวจสอบรายงานลับมาถึงนายกฯ เป็นจำนวนมาก และขั้นที่ 3 จัดการในทางบริหาร คือโยกย้าย ออกจากพื้นที่เสี่ยง หรือล่อแหลม อย่าปล่อยให้อยู่ทำผิดต่อไป หรืออยู่ระหว่างหาหลักฐาน เพื่อที่จะดำเนินคดี บางคนปล่อยให้อยู่ บางคนปล่อยให้อยู่ไม่ได้ในภาษากฎหมายที่ว่า “ขืนอยู่อย่างนั้นต่อไป จะไปยุ่งเหยิงกับคดี และพยานหลักฐาน จนเสียรูปคดี” อย่างนี้ต้องเอาออกและขั้นที่ 4 ฟ้องร้องดำเนินคดี เริ่มทยอยมาใช้
ส่วนนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า หลักคิดการทำประชาสัมพันธ์ดีที่สุด การที่ผู้นำประเทศต้องเป็นคนลงมือทำให้เห็นจริง เป็นการทำประชาสัมพันธ์ราคาถูกที่สุด ประชาชนพอใจมากที่สุด การรวบรวมรายชื่อบุคคลต่างๆ ควรได้รับการลงโทษมาถึงมือนายกฯ หรือการเร่งรัดคดีที่สังคมให้ความสนใจมากๆ เพื่อให้เห็นผลทันตา เป็นกระบวนการทำประชาสัมพันธ์ในรัฐบาลชุดนี้สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำในเรื่องการต่อต้านการทุจริต แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือใช้มาตรา 44 เร่งรัดคดีให้รวดเร็ว ดึงเอาองค์กรเอกชน เครือข่ายต่อต้านการทุจริตมาอยู่ใน คตช.มาช่วยทำงานให้รัฐบาลและงานที่รัฐบาลพยายามผลักดัน นอกจากให้ความรู้ ที่สำคัญอีกอย่างคือแก้เชิงโครงสร้างให้กับสังคม เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ลดต้นทุนให้กับนายทุน ได้มีการสั่งการเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดทำคู่มือให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนไปติดต่อหน่วยงานไหน ต้องใช้เวลาเท่าไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องทำหมด นายกฯให้ความสนใจให้ทำเสร็จสิ้นก่อนเดือน ก.ค.

นายสังศิตกล่าวว่า อีกเรื่องที่รัฐบาลต้องการแก้คือการจัดซื้อจัดจ้างที่รั่วไหลมากที่สุด ที่เวลานี้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ที่รับผิดชอบโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง รวมกับทาง สปช.ใกล้แล้วเสร็จ เตรียมส่งเข้า ครม.สัปดาห์หน้า พ.ร.บ.นี้น่าจะแล้วเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ ทำให้การประมูลงานภาครัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น รวมถึง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ ทาง สปช.กำลังแก้ไข ทำให้การเข้าถึงกว้างขวางขึ้น เราเชื่อว่าข่าวสารข้อมูลสำคัญสุดควบคุมการทุจริต รัฐบาลก่อนหน้านี้มักใช้องค์กรภาครัฐขับเคลื่อน แต่รัฐบาลชุดนี้จะใช้องค์กรอิสระขับเคลื่อนตรวจสอบ ป.ป.ช. ,สตง., ป.ป.ท., ดีเอสไอ จะมานั่งทำงานรวบรวมข้อมูลเสนอนายกฯที่จะดำเนินการกับบุคคลที่กระทำความผิด

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า ทางคณะกรรมการได้มอบหมายให้ไปดำเนินการ 2 โครงการ คือข้อตกลงคุณธรรม ประกอบด้วย 1. โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ เอ็นจีวี จำนวน 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งได้มีการจัดทำข้อตกลงแล้ว แต่การจัดซื้อจัดจ้างยังไม่เรียบร้อย และ 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ซึ่งผู้สังเกตการณ์ได้เข้าไปดูเรื่องของการทำงานแล้ว นอกจากนี้ คณะกรรมการร่วมมือป้องกันการทุจริตที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ และนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานได้เสนอโครงการที่จะต้องทำ เรื่องข้อตกลงคุณธรรมเพิ่มอีก 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลของกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีราคากว่า 1,000 ล้านบาท 2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพของกรมศุลกากร ที่มีการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ และ3. โครงการจัดซื้อเครื่องจักรสำหรับโรงงานยาสูบ

นายมนัสกล่าวว่า สำหรับการสรรหาผู้สังเกตการณ์ในที่ประชุมเห็นว่า จะให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และองค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน เสนอผู้ที่มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาและคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์กลาง โดยผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการอบรมให้ความรู้จากสถาบันส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) และกรมบัญชีกลาง

นอกจากนี้ ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีมีดำริว่าน่าจะมีโครงการที่จะเข้ามาทำข้อตกลงคุณธรรมเพิ่มอีก โดยให้แต่ละกระทรวงที่อยู่ 20 กระทรวงเสนอโครงการเข้ามา

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) เปิดเผยว่า ในเรื่องการเข้าร่วมกับทาง โครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคอุตสาหากรรมสกัดทรัพยากร (EITI) นั้น เป็นการเสนอโดยนายประมนต์ สุทธิวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ เพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นสากลในเรื่องของความโปร่งใสในเรื่องของการจัดการทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ปิโตรเลียม ป่าไม้ ที่ผ่านมาการดำเนินการอาจมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของการดำเนินการ แต่ในครั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานสากล จึงมีการเสนอให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเครือข่ายกับ EITI ซึ่งองค์กรดังกล่าวมีการกำหนดมาตรฐานในการดำเนินการแก่แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิก การที่จะเป็นสมาชิกภาคีนี้ได้ต้องมีการจัดทำข้อมูล สำหรับการสร้างความโปร่งใสและสร้างการรับรู้ให้กับทางประชาชนตามหัวข้อที่ทางภาคีกำหนด ซึ่งเราต้องดำเนินการกรอกข้อมูลจากนั้นจึงส่งให้กับทางภาคีไปพิจารณา จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบดำเนินการว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วตรงกับข้อมูลที่เราแจ้งไปหรือไม่

ทั้งนี้ ขณะนี้เรามีความพร้อมที่จะเข้าสู่ภาคี เมื่อได้รับการอนุมัติให้เข้าสู่ภาคีก็จะทำให้การจัดการทรัพยากรของเราเป็นไปด้วยความโปร่งใส ประชาชนในประเทศจะมีความมั่นใจ และเข้าใจในการใช้ทรัพยากรซึ่งเป็นของพวกเราทุกคน ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งในการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมาเราอาจมีความขัดแย้งทำให้การดำเนินการต่อทรัพยากรที่เรามีอยู่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าให้กับประเทศชาติได้ เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่จะได้รับหากเราสามารถใช้มาตรฐานเดียวกับภาคีดังกล่าว จะทำให้การใช้ทรัพยากรของเราเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความโปร่งใส ประชาชนทุกคนเกิดความเข้าใจและไม่มีความเคลือบแคลงใจต่อภาครัฐในขั้นต้นจะต้องนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เห็นชอบการสมัครเข้าสู่ภาคี โดยต้องมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพิจารณาถึงจุดเด่น จุดด้อย เพื่อจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของ ครม.และเมื่อ ครม.ตัดสินใจในการอนุมัติเข้าร่วมภาคีดังกล่าว ต้องใช้ระยะเวลาในการส่งเอกสารต่างๆ กว่า 8 เดือนกว่าจะทราบผล ทั้งนี้เพื่อดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และการนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้

อนุกรรมการต้านการปราบปรามได้กำหนดมาตรการการปราบปรามไว้ 4 ขั้นตอน คือ การวางกรอบให้ผู้กระทำผิดได้ยั้งคิด หากพบการกระทำความผิดก็จะมีการตรวจสอบ จากนั้นจะเข้าสู่การดำเนินการด้วยวิธีการทางการปกครอง และวินัย สุดท้ายคือ การฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งรายชื่อข้าราชการที่ส่งให้นายกรัฐมนตรร้อยรายชื่อนั้น ถือว่าอยู่ในขั้นที่จะต้องดำเนินการทางปกครองและวินัย คืออาจจะต้องพักงานหรือโยกย้ายเปลี่ยนหน้าที่การทำงานจำนวนมาก

“พวกนี้เป็นรุ่นที่ 1 จากนี้ รุ่น 2 และรุ่น 3 อาจตามมา โดยรายชื่อทั้งหมดนี้มาจากองค์กรที่ตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมสอบสวนคดพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเขาตรวจสอบอยู่แล้วก่อนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามา แต่อาจมีเหตุผลบางประการทำให้บางเรื่องเงียบไป เมื่อรัฐบาลนี้ให้ความมั่นใจว่าให้ดำเนินการ โดยไม่ต้องการไปแก้แค้นหรือเล่นงานใคร ใครไม่ผิดก็ปล่อยไป ใครที่ผิดก็ดำเนินการต่อไป จึงมีการส่งรายชื่อและพฤติกรรมมายังคณะทำงานที่ตั้งขึ้น แต่เรายังปักใจไม่ได้ว่าพวกเขาทุจริต เพราะถ้าทุจริตต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ผลอาจจะไม่ทุจริต หรือพฤติกรรมไม่หนักหนาก็ได้ ก่อนหน้านี้ผมก็เคยรายงานในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายว่ามีคดีใหญ่ๆที่รัฐจับตาดูอยู่ประมาณ 30 เรื่องด้วยกัน”

นายวิษณุกล่าวต่อว่า รายชื่อในมือ นายกฯ วันนี้เป็นข้าราชการ จึงต้องหาวิธีการจัดการ บางคนอาจไม่ต้องทำอะไรเพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่บางพวกหากให้อยู่ในหน้าที่เดิมต่อไปอาจเป็นปัญหาเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจนทำให้เสียรูปคดี หรือเป็นปัญหาทางปกครอง ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาอาจไม่เชื่อถือผู้บังคับบัญชาที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาใหญ่ จึงต้องจัดการในเชิงบริหารคือการโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่ จากนี้ไปจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูกาลเกิดขึ้นเพื่อจัดการกับคนบางประเภท โดยการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะเกิดขึ้นจะทำกับบุคคล 3 ประเภทคือ 1. ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง 2. สับเปลี่ยนเพื่อประสิทธิภาพของงาน และ 3. คือผู้ที่ถูกส่งรายชื่อมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าทั้ง 100 กว่าคนที่มีทั้งข้าราชการผู้ใหญ่และผู้น้อย อยู่ในขั้นต้องจัดการทั้งหมดหรือไม่ อาจจะมีทั้งพวกที่ปล่อยให้อยู่ที่เดิม หรือกลุ่มที่อาจจะมีปัญหาต้องโยกย้าย ซึ่งอาจทำตามช่องทางปกติเข้าที่ประชุม ครม. หรือบางกรณีเป็นข้าราชการระดับสูงอาจหาตำแหน่งรองรับปกติยาก ต้องเอาออกจากกระทรวงที่สังกัดโดยหาตำแหน่งมารองรับ หัวหน้า คสช.อาจต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อสร้างตำแหน่งใหม่รองรับโดยเอาคนเหล่านี้ออกมาโดยให้หลักประกันว่าเป็นมาตรการชั่วคราวเมื่อการสอบสวนดำเนินการแล้วพบว่าไม่มีความผิดก็กลับไปดำแห่นงเดิม แต่ถ้าผิดต้องถูกดำเนินคดี

“เหตุที่ต้องใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายข้าราชการเพราะกระบวนการปกติล่าล้า อาจใช้เวลาหลายเดือน ตำแหน่งที่จะให้บุคคลที่โดนโยกย้ายเข้ามารัฐบาลกำลังตัดสินใจแต่ไม่ให้อยู่กระทรวงเดิมแน่นอน ทุกคนอาจจะมาประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี หรือเป็นที่ปรึกษานายกฯ อย่างไรก็ตามไม่อยากใช้คำว่าสุสานคนโกง เพราะหลายคนสุดท้ายเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร”
กำลังโหลดความคิดเห็น