xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนไทย 65ล้านต้องช่วยดูรัฐ“ลดขั้นตอนการเบิกจ่าย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อน เว็บไซต์ราชกิจจานุเษก เผยแพร่ประกาศสํานักทะเบียนกลาง เรื่อง จํานวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 จึงประกาศจํานวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐาน การทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ลงชื่อ นายกฤษฎา บุญราช ผู้อํานวยการทะเบียนกลาง

ทั้งนี้ ทั่วประเทศ มี 65,124,716 คน กรุงเทพมหานคร มีประชากรมากสุด จำนวน 5,692,284 คน และ สมุทรสงคราม มีประชากรน้อยสุด จำนวน 194,189 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 ราว 4 แสนคน แบ่งเป็นชาย 31,999,008 คน และหญิง 33,125,708 คน

ขณะที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ก็เห็นชอบ การปรับปรุงการปฏิบัติราชการและหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ของสำนักงบประมาณ

เป็นการปรับปรุงการปฏิบัติราชการและหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสด์ จนถึงรัฐบาลของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่า ถือเป็นการขับเคลื่อนงบประมาณของรัฐบาล และปรับปรุงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้เป็นเรื่องของระเบียบวิธีการ

“ไม่ใช่ความบกพร่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของใครแต่อย่างใด”

นายกฯ บอกว่า สำหรับในปี 2558 การจัดสรรงบประมาณ จะแตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆ มา โดยรัฐบาลมุ่งเน้นให้งบประมาณกระจายไปสู่ทุกพื้นที่ มีโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินที่ใช้ในการดำเนินการเพิ่มขึ้น

“เมื่อกระจายโครงการลงไปแล้ว ก็มีปัญหาเกี่ยวกับผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณไม่มาก โครงการละประมาณ 5-10 ล้านบาท ทำให้หาผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนยาก ตอนนี้ก็กำลังขับเคลื่อนอยู่ หาผู้ประกอบการและหาทางบูรณาการโครงการต่างๆ ให้มารวมกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ”

นายกรัฐมนตรี ยังพูดถึง งบประมาณเฉลี่ยที่กระจายลงไปในแต่ละพื้นที่ โดยยกตัวอย่างว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการจัดสรรงบประมาณลงไปมากที่สุด ลำดับถัดมาคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ความเดือดร้อน และย้ำว่า การจัดสรรงบประมาณต่างๆ นั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรเป็นสำคัญ

เมื่อเทียบการจัดสรรงบประมาณในปี 2558 กับย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2555-2557 แล้วงบประมาณในปีนี้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาอยู่ที่การระดับปฎิบัติการ ซึ่ง นายกฯได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าไปดูแลปัญหาในการจัดหาเอกชนที่จะเข้ามารับผิดชอบโครงการ เพื่อให้เกิดความทั่วถึงสู่พี่น้องประชาชน รวมทั้งเร่งดำเนินการเรื่องน้ำ ทั้งน้ำที่ใช้อุปโภค/บริโภค ประปา ตลอดจนการดูแลพืชไร่ พืชสวน ของพี่น้องเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังย้ำถึงการ “ลดขั้นตอนการเบิกจ่าย-จัดซื้อจัดจ้าง”

“ได้สั่งการเรื่องขั้นตอนการเบิกจ่ายและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยการแก้ปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณนั้นไม่ได้เป็นการลดขั้นตอนในการดำเนินงาน แต่เป็นการย่นกรอบระยะเวลาการดำเนินการลง กรณีไหนที่มอบหมายลงไปในระดับล่างได้ก็ต้องหาคนรับผิดชอบ จากเดิมใช้เวลา 45 วัน ก็กำหนดให้ต้องเร่งดำเนินการภายใน 25 วัน”

“คำว่าลดขั้นตอนนั้นไม่ได้เป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริต แต่เพื่อเร่งให้การดำเนินการเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น วันนี้เป็นวาระพิเศษที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หากใช้ระบบปกติทั้งหมดก็จะไปไม่ได้ วันนี้ก็มีการหารือกันทั้งสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และ ครม. ก็จะออกมาเป็นมติและมีคำสั่งลงไป ซึ่งก็ต้องหาผู้รับผิดชอบให้ได้ โดยวันนี้ผู้รับผิดชอบหลักก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ”

การ“ลดขั้นตอนการเบิกจ่าย-จัดซื้อจัดจ้าง” ของสำนักงบประมาณ คือ ให้หัวหน้าส่วนราชการ / ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินรายการค่าที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างภายในเขตพื้นที่จังหวัดเดียวกันได้ รวมถึงให้แก้ไขข้อความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนให้ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ

ให้ส่วนราชการเร่งจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานภูมิภาคภายใน 3 วันทำการ

ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น / ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจอนุมัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินการได้ โดยอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมและไม่เป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของรายการ สำหรับกรณีเปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ ฯ

กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการฯ/ผู้ว่าราชการจังหวัด โอนงบประมาณไปสมทบรายการค่าครุภัณฑ์ / ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างที่มีผลการจัดซื้อจัดจ้างเกินกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ได้อีกไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร

ขณะที่ สำนักงบประมาณ ได้รายงาน ครม.ถึงเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณ และเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ จากมาตรการต่างๆของรัฐบาลยัง มีการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 47.4% แต่เบิกจ่ายได้ 42.6% ต่ำกว่าเป้าหมาย 4.8% หรือเบิกวงเงินไปเพียง 1,095,709 ล้านบาท

นายกฯสั่ง “ลดขั้นตอนการเบิกจ่าย-จัดซื้อจัดจ้าง” การปรับปรุงการปฏิบัติราชการและหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 เป็นเป้าหมายที่ประชากร ทั่วประเทศ ที่มี 65,124,716 คน จะต้องร่วมกันดูแล




กำลังโหลดความคิดเห็น