โฆษกรัฐเผย “ประยุทธ์” สั่งเร่งใช้จ่ายงบ 57 ผลักดันงบ 58 ผ่าน สนช. เพื่อให้เม็ดเงินถึง ปชช.โดยเร็ว รับตั้งเป้าเบิกจ่ายงบที่ท้าทาย พร้อมสร้างความเข้าใจในท้องถิ่น ย้ำเร็วแต่ต้องโปร่งใส ไร้โกง คาดเดือนนี้เบิกจ่ายงบตามเป้า เทียบปีนี้ดีกว่าปีก่อน แต่รัฐยังไม่พอใจ-ให้ทุกกระทรวงติดตาม ประสานพ่อเมืองดูแล สั่งขับเคลื่อนโครงการเล็ก วอนผู้ประกอบการถึงกำไรน้อยแต่ขอทำเพื่อชาติ
วันนี้ (5 มี.ค.) ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ประสบปัญหาชะงักงัน และสภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลไกหนึ่งที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อทำให้มีการกระจายรายได้ ผลักดันให้มีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนในท้องถิ่น คือ การใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการต่างๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เล็งเห็นเรื่องการเร่งรัดการใช้จ่ายและเบิกจ่ายงบประมาณที่เหลือของปี 2557 พร้อมผลักดันกฎหมายงบประมาณปี 2558 ให้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เร็วที่สุด และเมื่อมีตัวบทกฎหมายที่รับรองการใช้จ่ายงบประมาณปี 2558 แล้ว ทุกองคาพยพของรัฐบาลก็จะต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ โดยเร็ว เพื่อให้เม็ดเงินไปถึงมือประชาชนในทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ตั้งเป้าการเบิกจ่ายงบประมาณที่ท้าทาย พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณอย่างกระฉับกระเฉง มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการต่างๆลง แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องยึดมั่นในความโปร่งใส ไร้การทุจริตโดยสิ้นเชิง แม้ว่าผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ในช่วงสามเดือนแรกของรัฐบาลอาจมีความล่าช้า แต่ด้วยการสั่งการ กำกับ และขันนอตจากผู้นำรัฐบาลไปยังส่วนราชการในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ทำให้ตัวเลขการเบิกจ่ายงบประมาณก้าวกระโดดอย่างชัดเจน ซึ่งเดือนธันวาคม 2557 สามเดือนแรกของปีงบประมาณใหม่ รายจ่ายประจำมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 34% แต่เมื่อถึงกุมภาพันธ์ 2558 ตัวเลขได้กระโดดมาถึง 47.8% และคาดว่าในเดือนมีนาคม 2558 ก็น่าจะถึง 60% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวต่อว่า ขณะที่รายจ่ายลงทุนในช่วงสามเดือนแรกของปีงบประมาณ ประมาณ 9-12% แต่มาถึงกุมภาพันธ์ 2558 ตัวเลขได้ขยับขึ้นมาเป็น 17.9% และยังผูกพันอีก 27.8% ดังนั้น เป้าหมายการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในเดือนมีนาคม 2558 ก็น่าจะถึง 30% ส่วนเงินกันไว้เหลื่อมปีก็เช่นเดียวกัน เดือนธันวาคม 2557 จ่ายไปแล้ว 22% มาถึงกุมภาพันธ์ 2558 กระโดดเป็น 33% ดังนั้น ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 45% ในเดือนมีนาคม 2558 ก็ไม่น่าจะมีปัญหานัก สำหรับภาพรวมของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีงบประมาณทั้งสิ้น 2.575 ล้านล้านบาท ตัวเลขวันที่ 27กุมภาพันธ์ 2558 มีการเบิกจ่ายแล้ว 1.095 ล้านล้านบาท หรือ 42.6% โดยประเด็นสำคัญคือ หากเปรียบเทียบการก่อหนี้รายจ่ายลงทุน หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ จากต้นปีงบประมาณ 2558 คือ ตุลาคม 2557 ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2557 2556 และ 2555 จะพบตัวเลขที่สะท้อนผลสำเร็จของรัฐบาลปัจจุบันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศ นั่นคือรัฐบาลสามารถทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ถึง 31.1% ในช่วงห้าเดือนของปีงบประมาณ 2558
ขณะที่ในห้วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2557 ทำสัญญาได้เพียง13.9% ของปีงบประมาณ 2556 ทำได้เพียง 12.5% และของปี 2555 ทำสัญญาได้เพียง 7.4% นั่นสะท้อนว่า มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2558 ที่ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีมติและสั่งการลงไป ให้มีการแก้ไขขั้นตอนต่างๆ แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ สามารถเร่งรัดให้หน่วยราชการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้สูงกว่าที่เคยทำมาในช่วงสามปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจของรัฐบาล เพราะหากพิจารณาเป้าหมายการเบิกจ่ายภาพรวมตามมติของ คสช. ไตรมาสที่ 2 ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กำหนดไว้ว่า ควรต้องเบิกจ่ายงบประมาณประเทศได้ถึง 47.4% แล้ว แต่ในความเป็นจริงเบิกจ่ายได้ 42.6% ถือว่ายังห่างจากเป้าหมายที่คสช.ตั้งไว้อยู่ 4.8%
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวอีกว่า ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้เพิ่มเติมอย่างเข้มข้น ทั้งการผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ โดยส่วนราชการในท้องถิ่น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเร่งรัดอย่างเต็มที่ พร้อมกับให้ความสำคัญกับความโปร่งใส เป็นธรรม ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และต้องไร้การทุจริต การสั่งการให้กลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนต่างๆ ของรัฐบาลและของ คสช.ลงไปกำกับและติดตามการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งการมอบหมายให้ทุกกระทรวงติดตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณของตนในระดับจังหวัดด้วย เพื่อช่วยเร่งรัดอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ หน่วยงานส่วนกลางที่มีแผนงานลงไปในจังหวัดใดก็จะต้องแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบเพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการและบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นให้ เช่น แผนการบริหารจัดการน้ำซึ่งมีโครงการลงไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ จำเป็นที่พ่อเมืองในแต่ละจังหวัดจะต้องทราบในรายละเอียด และกำกับดูแลโครงการทั้งหมดในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด เมื่อ 3 มีนาคม 2558 ครม.ยังได้ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงการปฏิบัติราชการและหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ เพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการดำเนินการต่างๆ ลงอย่างมากเพื่อเร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกทางหนึ่งด้วย เราจะเห็นโครงการภาครัฐที่ลงสู่พื้นที่นั้นว่ามีจำนวนนับเป็นหมื่นโครงการ และมีโครงการขนาดเล็กจำนวนมาก ในระดับ 5 ล้าน 10 ล้านบาท ที่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้ในเวลาอันสั้น และจะช่วยกระจายเม็ดเงินไปทั่วท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว ทว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากมักไม่ค่อยให้ความสนใจในโครงการขนาดเล็กๆ ทำให้เกิดความล่าช้าต่อรัฐในการหาผู้ประกอบการมาดำเนินโครงการ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงไปขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินโครงการขนาดเล็กเหล่านี้ให้ได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่จะต้องใช้เวลาเตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย
นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้หน่วยราชการให้การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกระจายข่าวสารเกี่ยวกับโครงการที่รอการจัดซื้อจัดจ้างผ่านทางเว็บไซต์ สื่อออนไลน์ และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อดึงความสนใจของผู้ประกอบการให้มาร่วมประมูล แม้บางโครงการอาจมีกำไรน้อยบ้างก็ขอให้ผู้ประกอบการมองถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นหลัก มายื่นข้อเสนอและพร้อมทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง โดยยึดมั่นในความโปร่งใสเป็นธรรม และปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันในช่วงเวลานี้ที่ประเทศต้องการการกระตุ้นและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีงานทำ มีรายได้ที่ต่อเนื่อง