xs
xsm
sm
md
lg

อลหม่านเครื่องส่งทีวีดิจิตอล “อสมท” เรื่องร้องเรียนเพียบ “กรมประชาฯ” พิรุธอื้อ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ

อนาคตของ “ทีวีดิจิตอล” กับประเทศไทยดูจะไม่สดใสเท่าไรนัก ทั้งที่มีการออนแอร์ ยิงสัญญาณจริงทั่วประเทศมาเป็นเวลาร่วมปี ท่ามกลางกระแสข่าวบรรดาช่องใหญ่ ช่องเล็ก ล้วนแต่ประสบปัญหากับการหารายได้มาจุนเจือสถานีของตัวเอง

สาเหตุก็เนื่องมาจากการที่บรรดาบริษัทเอกชน หรือเอเยนซีโฆษณา ยังโฟกัสทุ่มงบประมาณโปรโมตสินค้าและหน่วยงานของตัวเองไปที่ฟรีทีวีช่องหลักเช่นเดิม ส่วนแบ่งโฆษณาทางทีวีที่ว่ากันว่าหมุนเวียนอยู่ราว 100,000 ล้านบาทต่อปีก็เลยกระจุกตัวอยู่กับทีวีช่องหลักไม่กี่ช่องเช่นเดิม และไม่ใกล้เคียงกับการที่จะใช้คำว่า “แบ่งเค้ก” ด้วยซ้ำ มีเพียงเศษเงินที่ไหลแบบกะปริดกะปรอยไปถึงฝั่งทีวีดิจิตอลเท่านั้น

ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังต้องมี “ทีวีแอนะล็อก” ควบคู่ไปกับ “ทีวีดิจิตอล” เช่นนี้ ช่องไหนจะรุ่งหรือจะร่วงจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครหารายได้จากค่าโฆษณาเก่งกว่ากันเป็นหลัก แต่อยู่ที่ “สายป่าน” ของนายทุน และเจ้าของช่องว่าใครจะยาวมากน้อยเพียงใด ยืนระยะได้นานขนาดไหนมากกว่า

ต้นตอที่ทำให้วงการ “ทีวีดิจิตอล” เงียบเป็นเป่าสาก หลายช่องใกล้เข้าสู่ช่วงวิกฤตแบบนี้ คงจะหนีไม่พ้น “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “กสทช.” ที่ไม่ว่าจะหยิบจับเรื่องใดก็มีแต่ผู้คนก่นด่า มอบก้อนหินให้มากกว่าดอกไม้

กระทั่งวันนี้ ชาวบ้านก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ทีวีดิจิตอล-ทีวีแอนะล็อก” มันแตกต่างกันตรงไหน

เรื่องผลงานสอบตกซ้ำซากของ กสทช.นี่เอง ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยังหมายหัวเพ่งเล็ง โดยส่ง “บิ๊กโย่ง” พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ กุนซือคู่ใจในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าไปตรวจสอบและรื้องบประมาณหลายโครงการของ กสทช.มาแล้ว หากจำกันได้ดีก็เป็นผลงานของ คตร.ชุดนี้เองที่ทำให้ “คูปอง” สำหรับซื้อกล่องรับทีวีดิจิตอล ซึ่ง กสทช. รับหน้าเสื่อในการแจกให้แก่ประชาชนทุกครัวเรือนทั่วประเทศ ลดมูลค่าลงฮวบฮาบ จากที่ กสทช.ตั้งไว้ 1,000 บาท เหลือเพียง 690 บาทเท่านั้น

ซ้ำร้าย กสทช.ยังต้องเผชิญกับข่าวที่ไม่ค่อยเป็นมงคล เมื่อรัฐบาล คสช.เตรียมผลักดันแพกเกจเศรษฐกิจดิจิตอลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจของบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย กสทช.ก็เป็นหนึ่งในนั้น จากเดิมที่เคยเป็นหน่วยงานอิสระ มีอำนาจล้นมือ รวมไปถึงรายได้มหาศาล จะต้องตกไปอยู่ในการควบคุมของ “คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติ” แทน เท่ากับว่า กสทช.เหมือนถูกตัดแขนขาและลดอำนาจลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ก็เป็นผลมาจากการทำงานของ กสทช.ที่ไม่เข้าตามาตลอด

หันมาดูที่ด้านเทคนิคของระบบการส่งสัญญาณของทีวีดิจิตอลเองก็ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสความนิยมฟรีทีวีช่องใหม่ที่เกิดขึ้นเข็นไม่ค่อยขึ้นเท่าที่ควร เพราะดูจะมีก็แต่ “คนเมือง” เท่านั้นที่ได้สัมผัสกับทีวีดิจิตอลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนพื้นที่อื่นๆ อาจจะดูได้บ้าง แต่ก็มีปัญหาสัญญาณสะดุด ไม่ลื่นไหล จนรำคาญใจ กลับมาคว้า “หนวดกุ้ง” อันเก่ามาเสียบดูทีวีแอนะล็อกกันต่อไป

ต้องยอมรับว่า การดำเนินแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.นั้น กระท่อนกระแท่นมาตั้งแต่ต้น เหตุก็เพราะทีวีดิจิตอลถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย กระทั่งผู้ที่มาทำหน้าที่กำกับดูแลเองก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจ จนต้องบินไปดูงานต่างประเทศกันแบบถี่ยิบ จึงเป็นที่มาของงบประมาณดูงานของ กสทช.แต่ละคนตกปีละหลายล้านบาท

ทีวีดิจิตอลในประเทศไทยนั้นได้ทำการทดลองออกอากาศกันมาเป็นระยะเวลาพอสมควร หลังจากที่ได้ตัวผู้ประกอบการในส่วนของช่องธุรกิจ 24 ช่อง เมื่อช่วงปลายปี 2556 และได้ทำการออกอากาศจริงเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาออกอากาศจริงแล้ว 4 หน่วยงานหลักซึ่งได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย ทีวีดิจิตอล หรือทำหน้าที่เป็น “แม่ข่าย” หรือ Multiplex (Mux) ได้แก่ ททบ.5 ไทยพีบีเอส อสมท และช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ กลับยังไม่มีความพร้อม

มีเพียง ททบ.5 และไทยพีบีเอสเท่านั้นที่ทำการประมูล และจัดซื้อเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลแล้วเสร็จก่อนการออกอากาศจริง ส่วน อสมท และช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เชื่อหรือไม่ว่าจนถึงวันนี้ก็ยังดำเนินการไม่เรียบร้อย ทั้งที่ในความเป็นจริง 4 หน่วยงานที่ว่าต้องดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ส่งสัญญาณให้ได้ตั้งแต่ในช่วงทดลองออกอากาศ แต่ กสทช.ในฐานะผู้ควบคุมโครงการกลับไม่กำหนดเงื่อนเวลาว่าแต่ละรายต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเมื่อใดเพื่อให้การออกอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จึงกลายเป็น “ช่องโหว่” ที่ทำให้ อสมท และช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ดึงเวลาการจัดหาอุปกรณ์โดยใช้เครื่องส่งสัญญาณที่ใช้ในช่วงทดลองออกอากาศไปพลาง

สำหรับ อสมท นั้นมีความพยายามในการเดินหน้าจัดหาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอล อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ติดปัญหาความไม่โปร่งใสมาโดยตลอด ก่อนที่ล่าสุด บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เข้าวิน ในการประมูลรอบล่าสุด ท่ามกลางหนังสือร้องเรียนของผู้ร่วมแข่งขันที่ร่อนให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาตรวจสอบ ทั้งสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ย้อนไปดูถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณของทาง อสมท ซึ่งมีกระแสข่าว ตั้งแต่กระบวนการการจัดทำร่างข้อกำหนด “ทีโออาร์” ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีการนำข้อมูลของ ททบ.5 และไทยพีบีเอส ที่จัดหาแล้วเสร็จมาประกอบการพิจารณา แต่กลับร่างขึ้นมาใหม่ จนถึงคนในวงการทีวีดิจิตอล วิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความพยายาม “ล็อกสเปก” และเอื้อให้แก่บริษัทเอกชนบางราย รวมไปถึงดัดแปลงรายละเอียดทางเทคนิคอื่นๆ อย่างมีพิรุธ

แต่จนแล้วจนรอดก็ได้ดำเนินการประกวดราคาแล้วเสร็จ และได้ “บริษัท เทค ทีวี จำกัด” เป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำเนินโครงการ แต่เวลาผ่านไปพอสมควร ก็ยังไม่มีการลงนามในสัญญาว่าจ้างอย่างเป็นทางการ ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ตอนนั้นมีข่าวว่าทาง “เทคทีวี” ได้สั่งซื้ออุปกรณ์ และเตรียมบุคลากรเพื่อให้ทันเดดไลน์ที่กำหนด รวมทั้งแจ้งขอเข้าดำเนินการติดตั้งไปยัง อสมท หลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้ส่งมอบพื้นที่สถานี สำหรับติดตั้ง แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ

ที่สุดแล้ว การประกวดราคากลับถูกยกเลิกไปอย่างเงียบๆ โดยมี “ไอ้โม่ง” อยู่เบื้องหลังการตีเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการเปิดซองฯ ชี้ว่า คุณสมบัติของอุปกรณ์ประกอบชิ้นหนึ่งของ “เทคทีวี” ไม่ตรงกับทีโออาร์ ทั้งที่คณะกรรมการเปิดซองฯยืนยันว่า อุปกรณ์ที่ว่าเป็นแค่เพียงอุปกรณ์ส่วนประกอบ ไม่ใช่อุปกรณ์หลัก และไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการให้บริการโครงการ

ยิ่งไปกว่านั้น การยกเลิกครั้งนั้น ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของบอร์ด อสมท ด้วยซ้ำ แต่กลับมีการเสนอตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณซ้ำซ้อนขึ้น จนทำให้ “เทคทีวี” ต้องหันหน้าไปพึ่งกระบวนการยุติธรรม และเรื่องอยู่ในศาลปกครองขณะนี้

สำหรับการประกวดราคารอบใหม่ เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่ง บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับคัดเลือก แต่ก็ถูกบริษัทที่ร่วมเสนอราคาประท้วง เนื่องจากอุปกรณ์หลักของทางล็อกซเล่ย์ที่ไม่ตรงกับที่ อสมท กำหนด แต่สุดท้ายทาง อสมท ก็ไม่รับฟังข้อท้วงติง และลงนามในสัญญาให้ “ล็อกซเล่ย์” เริ่มดำเนินโครงการไป เมื่อไม่กี่วันก่อน

แต่ก็ยังมีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่ที่ สตง. และ ป.ป.ช.ที่ยังไม่ทราลบผลการพิจารณาของทั้ง 2 หน่วยงาน ต่อนี้ไปก็ต้องจับตาว่า เรื่องนี้จะจบอย่างไร

ข้ามฟากมากันที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์กันบ้าง ก็ยุ่งเหยิงชุลมุนไม่แพ้กัน มีการ “ดึงเรื่อง” ถ่วงเวลามาร่วมปี โดยมีข้อน่าสังเกตว่า มีความพยายามผลักดัน ตั้งเรื่องจัดหาเครื่องส่งฯ แต่ก็มีการดึงเรื่องไปมา เพื่อให้ใกล้ถึงเวลาออกอากาศ และใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการเข้าเงื่อนไขจัดซื้อวิธีพิเศษ ซึ่งไม่ได้ผิดแผกไปจากกรณีของ อสมท ที่ร่ำลือว่ามี “ฝ่ายการเมือง” เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง หวังกอบโกยผลประโยชน์มหาศาล

ที่พิสดารไปกว่าของ อสมท ก็คือ ในวงเงินงบประมาณ 980 ล้านบาท ของกรมประชาสัมพันธ์นั้น นอกเหนือจากระบุว่า เพื่อการจัดหาอุปกรณ์เครื่องส่งฯ เพื่อติดตั้งใน 18 สถานีหลัก จำนวน 33 เครื่อง ยังมีในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไว้ด้วย ทั้ง เสา ระบบสาย ท่อ และอื่นๆ ที่สำคัญมีการบรรจุโครงการสร้าง “อาคารใหม่” เข้าในวงเงินดังกล่าวด้วย ซึ่งในส่วนของการก่อสร้างอาคาร ก็ยังมีการล็อกสเปกในรายละเอียดเล็กน้อยไว้อีกเช่นกัน

แต่การจัดหาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลครั้งนั้น ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ หลังจากที่ กรรมาธิการเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา และ สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบ พร้อมทั้งมีหนังสือท้วงติงไปยัง นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีสัญญาณความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ ส่งผลให้ กรมประชาสัมพันธ์ ได้ยกเลิกการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษฯ และแจ้งว่าจะเปลี่ยนเป็นการประมูลแบบเปิดกว้าง แต่ก็เพิ่งมาเริ่มกระบวนการใหม่ เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่าการที่โครงการของกรมประชาสัมพันธ์ถูกเก็บดองไว้ เนื่องจากในกระบวนการจัดทำทีโออาร์ และการกำหนดทำสเปก มีพิรุธหลายจุด จนทำให้ “อภินันท์ จันทรังษี” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ยอมลงนามในประกาศโครงการ ทำให้ไม่สามารถเริ่มการประกวดราคาได้

แต่ในการประกวดราคาล่าสุด ที่มีการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วม ไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความผิดปกติในหลายจุดด้วยกัน โดยเฉพาะการกำหนดสเปกอุปกรณ์บีบอัดสัญญาณ (Head-End) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญของเครื่องส่งสัญญาณ ที่มีคุณสมัติพิเศษตรงกับอุปกรณ์เพียงยี่ห้อเดียว ซึ่งเข้าร่วมการประกวดราคาด้วย จนผู้ร่วมเสนอราคารายอื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการฯ แต่ก็ไม่เป็นผล ทางคณะกรรมการยังยืนกรานที่จะใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้มีผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติในเบื้องต้นหลายราย

ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นมีผู้ผ่านการพิจารณาทางเทคนิคจำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด (บจ.สามารถฯ) บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.ไออาร์พีซีฯ) และ บริษัท สตรองบราเดอร์ส 1961 จำกัด (บจ.สตรองบราเดอร์สฯ) โดยมีการนัดหมายเข้าฟังผลและยื่นซองราคาใน วันที่ 9 เม.ย.นี้ แต่สุดท้ายทาง อสมท ได้มีหนังสือแจ้งเลื่อนไปเป็น วันที่ 23 เม.ย. 58 โดยให้เหตุผลว่ายังพิจารณาคุณสมบัติ และรายละเอียดเอกสารของผู้เข้าร่วมประกวดราคาที่ยื่นเข้ามาทั้งหมด 7 ราย ไม่แล้วเสร็จ

ในทางกลับกัน แหล่งข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์ยืนยันว่า คณะกรรมการได้ดำเนินการในส่วนของการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้วแต่ถูกตีเรื่องกลับเพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ผ่านด้านเทคนิคใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามที่จะตัดเหลือบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค และมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาซองราคา เพียง 2 รายเท่านั้น เพื่อตัดโอกาสไม่ให้เอกชนรายอื่น ชนะการประกวดราคา

ทั้ง 2 ราย ที่ได้รับการล็อกไว้ รายหนึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยชนะการประกวดราคาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลของแม่ข่ายรายอื่นมาก่อน ขณะที่อีกรายหนึ่งเป็นบริษัทที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการผลิตรายการโทรทัศน์ แต่ไม่เคยยื่นเสนอราคาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ใดมาก่อน เพิ่งเข้ามาเสนอราคาในส่วนกรมประชาสัมพันธ์เป็นครั้งแรก โดยทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ถือเป็นพันธมิตรทางการค้าของกันและกัน และยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับ “ระดับบิ๊กของกรมประชาสัมพันธ์” ด้วย ทำให้ต้องจับตามองว่า หากมีเพียง 2 บริษัทนี้ผ่านเข้าไปในรอบสุดท้ายก็สุ่มเสี่ยงที่จะมีการเกิดการฮั้วประมูลขึ้นได้

ว่ากันว่า “บิ๊กบริษัทใหญ่” อีกแห่ง ที่ร่วมวงประกวดราคากับกรมประชาสัมพันธ์ด้วย ซึ่งมีข่าวซุบซิบว่า อิงแอบอยู่กับ “เจ๊ ด.” จนเคยไปคุยทั่วคุ้งทั่วแควว่าบริษัทตัวเอง “นอนมา” ที่จะซิวโครงการจัดซื้อเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลของ กรมประชาสัมพันธ์ แต่เอาเข้าจริงเมื่อโครงการถูกปัดฝุ่นขึ้นมาในยุค คสช. ก็ต้องหงายเงิบ เมื่อเริ่มรู้ระแคะระคายว่า “ตั๋ว” ที่ตัวเองจับจองอยู่ถูกเปลี่ยนชื่อเจ้าของไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นัยว่า ยุคใครยุคมัน เมื่อ “ฟ้าเปลี่ยนสี” อะไรๆ มันก็เปลี่ยนไปได้ 
                    
     ทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นเรื่องราวความไม่ชอบมาพากลในวงการทีวีดิจิตอล ที่มีเครื่องหมายคำถามกำกับอยู่ในทุกขั้นตอนการดำเนินการว่ามีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด หรือยังหาญกล้าปล่อยให้มี “เหลือบ” เข้าเขมือบแสวงหาผลประโยชน์ไม่เลิก ในยุคที่ “ผู้นำประเทศ” ประกาศเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
กำลังโหลดความคิดเห็น