xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกายืนยกฟ้อง “สนธิ-อดีตแกนนำ พธม.” แถลงฉบับ 2/51 ไม่หมิ่น “ทักษิณ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาพิพากษายืน ยกฟ้องคดี “ทักษิณ” ฟ้อง “สนธิ” พร้อมอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ฐานหมิ่นประมาท กรณีออกแถลงการณ์ฯ ฉบับที่ 2/2551 ระบุเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ เพื่อไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ



วันนี้ (20 พ.ค.) ที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวก ประกอบด้วย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสุริยะใส กตะศิลา, และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 2/2551 เรื่อง กลียุคมาแล้ว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551

คดีดังกล่าว โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึง 6 ได้ประกาศอ้างตนต่อประชาชนว่าเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งคือประกอบกิจการผลิตรายการข่าวช่องนิวส์วัน ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวีเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักรและต่างประเทศ สามารถรับชมภาพและเสียงได้ทางอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ที่สามารถเปิดแสดงข้อความความคิดเห็นได้ทั่วราชอาณาจักรและต่างประเทศด้วย จำเลยทั้ง 7 โดยเจตนาทุจริตได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ถึง 6 ได้ร่วมกันโฆษณาด้วยเอกสารและคำแถลงการณ์โดยจำเลยที่ 6 เป็นผู้อ่านเอกสารชื่อว่าแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่องกลียุคมาแล้ว ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง และจำเลยที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการถ่ายทอดออกอากาศโฆษณาแถลงการณ์ดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ที่มีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราวบโดยทั่วไป สาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวมุ่งหมายใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป

โดยปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “...มีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างอุกอาจสำคัญๆ เช่น เลขาธิการองคค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อย่างไร้เเหตุผล อันเป็นการกระทำการโยกย้ายใช้อำนาจแบบเผด็จการทุนนิยมสามานย์อย่างโจ่งแจ้ง ดังที่เคยปรากฏมาแล้วเหมือนในอดีตในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่คุมอำนาจตัดสินใจสั่งการแต่ผู้เดียว ทำลายระบบคุณธรรม ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในการบริหาร สั่งราชการ และตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่ผู้เดียว...”

คดีนี้ ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วจำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดี

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2556 โดยระบุว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะอันเป็นวิสัยของประชาชนที่จะติชมด้วยความเป็นธรรมได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่ามีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างไร้เหตุผล และโจทก์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักกล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ตลอดจนมีการพาดพิงไปถึงสถาบันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการสำคัญอยู่เบื้องหลัง การที่จำเลยที่ 1 ถึง 6 ออกแถลงการณ์ตามคำแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.4 ยังเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ แม้จะใช้คำเกินเลยไปบ้างก็ยังอยู่ในวิสัยอันเป็นปกติธรรมดาของการแสดงความคิดเห็น การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) และจำเลยที่ 7 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ยื่นฎีกา และศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้(20 พ.ค.) โดยมีคำพิพากษาระบุว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และจำเลยที่ 7 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตามฟ้องหรือไม่ สำหรับข้อความที่ปรากฏในเอกสารชื่อ “แถลงการณ์ ฉบับที่ 2/ 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง กลียุคมาแล้ว” ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งจำเลยที่ 6 อ่านต่อสื่อสารมวลชนนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า มีข้อเท็จจริงสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์ได้กระทำเช่นนั้นจริง โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยไว้เช่นนั้น ในชั้นนี้โจทก์ฎีกาว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 กับพวกระบุในแถลงการณ์มุ่งประสงค์ใส่ความเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริง เมื่อได้ยินได้ฟังเกิดความเข้าใจผิด ดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ กรณีมิใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำ เป็นการกระทำเกินปกติวิสัยของวิญญูชนโดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาชั้นต้นแล้วว่า ในสมัยที่โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการตามนโยบายใดๆ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโจทก์ รัฐมนตรีมีส่วนร่วมในการตัดสินใจน้อยมาก สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสังกัดพรรคไทยรักไทยเป็นจำนวนเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของโจทก์เป็นผู้กำหนดทิศทางและแนวทางในการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ของกองทัพ ตำรวจ และข้าราชการประจำ โดยไม่ได้ใช้ระบบคุณธรรม ไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถและอาวุโส ต้องวิ่งเข้าหาโจทก์หรือภริยา บรรดาญาติพี่น้องของผู้ใกล้ชิด สร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ ใช้สื่อสารมวลชนต่างประเทศทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม พาดพิงสถาบันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง มีเป้าหมายกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน คอยบงการทางการเมืองในพรรคพลังประชาชนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของโจทก์ มีการโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งสำคัญ เช่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อย่างไร้เหตุผล ก่อให้เกิดความแตกแยกในการบริหารราชการ เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่สำคัญเพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล จึงอยู่ในฐานะที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้บนพื้นฐานของความเป็นจริง หากปฏิบัติดีปฏิบัติชอบประชาชนก็ย่อมยกย่องสรรเสริญ กล่าวถึงในทางที่ดี หากประพฤติปฏิบัติในทางมิชอบดำเนินนโยบายใดผิดพลาด ไม่เหมาะไม่ควร ก่อให้เกิดความเสียหาย ประชาชนก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกันเพราะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 สังคม ตลอดประเทศชาติ การที่โจทก์มีพฤติการณ์ดังที่ปรากฏในเอกสารชื่อ “แถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง กลียุคมาแล้ว” ซึ่งมีสาระสำคัญดังที่กล่าวมาข้างต้น ครั้นถึงรัฐบาลที่มีนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ในการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเฉกเช่นที่โจทก์เคยปฏิบัติเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ทักท้วง เพื่อไม่ให้ดำเนินนโยบาย แม้จะใช้คำว่า “กลียุค” เป็นชื่อเรื่อง ซึ่งสื่อให้เข้าใจได้ว่า เป็นยุคที่ธรรมะลดลง เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความรุนแรงเลวร้ายเกิดขึ้น หรือใช้ถ้อยคำแทนการดำเนินการในรูปแบบที่โจทก์ดำเนินการว่า เป็นระบบทุนนิยมสามานย์ ซึ่งหมายถึงเลวทรามต่ำช้า ก็เป็นเรื่องราวใช้ถ้อยคำโดยอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นประกอบพฤติการณ์ของโจทก์ที่ปรากฏเป็นเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นวิสัยในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)(3) เพื่อไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ ทบทวนสิ่งที่ทำไปโดยไม่ควร ยับยั้งที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และคำนึงถึงคุณธรรมในการปกครองประเทศเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนจำเลยที่ 7 ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน”















กำลังโหลดความคิดเห็น