xs
xsm
sm
md
lg

โรฮีนจา ดัน ประยุทธ์-ไทยกลับมามีบทบาทนำภูมิภาค !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศไทยได้ริเริ่มจัดการประชุมแก้ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจา หรือที่เรียกแบบเท่ๆตามลักษณะทางการทูตแบบเท่ๆว่า "การประชุมวาระพิเศษเรื่องการโยกย้ายถิีนฐานอย่างไม่เป็นปกติในมหาสมุทรอินเดีย" โดยจัดประชุมขึ้นที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้
ตามรายงานข่าวระบุว่ามีการเชิญประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 17 ประเทศรวมทั้งมีองค์กรระหว่างประเทศเช่น สหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชซีอาร์) เป็นต้นน่าจะส่งตัวแทนเข้าร่วม
เชื่อหรือไม่ว่าบทบาทของไทยแบบนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคนี้ ยุคที่เป็นรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งห่างหายมานานหลายสิบปีแล้ว นับตั้งแต่ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในราวปี 2523 หรือแม้แต่ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นต้นมา
แน่นอนว่านี่คือสถานการณ์ และปัญหาที่ต้องบังคับให้เราต้องเข้ามาแก้ปัญหา จากเดิมที่เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ตามบัญชีดำและใบเตือนมาจากประเทศตะวันตกอย่างสหภาพยุโรป ที่"ขีดเส้น"ให้ไทยต้องแกัปัญหาดังกล่าวภายใน 6 เดือน หากแก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไขไม่น่าพอใจก็จะไม่ซื้อสินค้าจากไทยโดยเฉพาะสินค้าประมง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายตามมาหลายแสนล้านบาท จากเรื่องดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใช้กฎหมายพิเศษคือ "มาตรา 44 "มาบังคับใช้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนไปก่อน ทั้งการจดทะเบียนเรือประมง จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีการกวาดล้างปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศ มีการโยกย้ายลงโทษ จับกุม นายกตำรวจ ทหาร ข้าราชการท้องถิ่วน รวมไปถึงพลเรือนจำนวน และจุดหักเหสำคัญคือการค้นพบหลุมฝังศพหมู่ชาวโรฮีนจาจำนวนมากบนเขาแก้ว ที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และต่อมาในจังหวัดรอยต่อทั้งที่ระนอง พังงา จนเกิดความตื่นตัวกันอย่างขนานใหญ่
แต่จุดหักเหและกลายมาเป็นเรื่องที่ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศต้องหาทางเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน จากการที่มีการพบเรือผู้อพยพชาวโรฮีนจนในมหาสมุทรแปซิฟิกลอยลำเป็นจำนวนมาก มีสภาพที่น่าเวทนา มีทั้งเด็ก ผู้หญิงจำนวนมาก
อย่างไรก็ดีสำหรับไทยโชคดีก็คือในเบื้องต้นยังพบว่าไม่ใช่เป็นประเทศเป้าหมายปลายทางของผู้อพยพกลุ่มนี้ แต่เป้าหมายคือประเทศมุสลิม คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเป้าหมายสูงสุดคือออสเตรเลีย แต่ถึงอย่างไรกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็ยังปฏิเสธไม่ยอมให้เรือผู้อพยพขึ้นฝั่งหรือเข้ามาในน่านน้ำของตัวเอง และเห็นว่าต้นเหตุของปัญหาคือ พม่า และบังคลาเทศ ที่เป็นประเทศต้นทาง
แน่นอนว่าหากพิจารณากันในเชิงลึกแล้วไทยที่เป็นประเทศทางผ่าน ซึ่งแม้จะต้องรับปัญหาเรื่องดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันหากพิจารณากันในอีกมุมหนึ่ง นี่ก็เป็นเป็นโอกาสอันสำคัญที่จะทำให้นานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศลูกน้องสหรัฐฯอย่างออสเตรเลียต้องการพึ่งพาบทบาทของไทย และนี่คือโอกาสที่รัฐบาลคสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมามีบทบาทนำในภูมิภาคอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานหลายสิบปี
สำหรับประเทศที่ถือว่าประสบปัญหาต้องแบกรับภาระผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา เนื่องจากเป็นปลายทางของผู้อพยพ และเป็นประเทศที่สามคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย และหากสังเกตให้ดีจะเห็นเป็นครั้งแรกหรือน้อยครั้งที่ ออเตรเลียไม่ค่อยพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน แบบเอาเท่ เอาหล่อเหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา รวมไปถึงการแสดงการรังเกียจไทยนับตั้งแต่ คสช.เข้ามา และนี่เป็นครั้งแรกที่ทางการออสเตรเลียแสดงความเห็นอกเห็นใจ ทั้งมาเลย์ อินโดฯและไทย ในทำนองมี"หัวอกอันเดียวกัน" จากการถูกกล่าวหาว่าผลักใสไล่ส่งผู้อพยพให้ไปตาย โดยออสเตรเลียประกาศชัดว่าจะไม่ยอมให้เรือผู้อพยพขึ้นฝั่งอย่างเด็ดขาด
ส่วนบทบาทของไทย ที่แสดงออกมาผ่านทาง นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นอกจากก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์อย่างเฉียบขาดจนเริ่มได้รับคำชมเชยจากนานาชาติมากขึ้น และในกรณีลุกลามมาเป็นปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาในเวลานี้ไทยก็แสดงบทบาทได้น่าจับตาด้วยการเป็นผู้ริเริ่มจัดการประชุมวาระพิเศษเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่เป็นปกติฯในกรุงเทพฯวันที่ 19 พฤษภาคม โดยเชิญ 17 ประเทศเข้าร่วม และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทางเลขาฯยูเอ็น บันคีมูน ก็ต่อสายคุยและขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีบทบาทริเริ่มแก้ปัญหา และก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จอห์น แครี่ ก็ได้โทรศัพท์หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยคือ พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร ส่วนจะเป็นการกดดันให้ไทยต้องเปิด"ศูนย์พักพิงชั่วคราว"หรือไม่ เพื่อแลกกับอะไรบางอย่างหรือเปล่า
แต่อีกด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทนำในภูมิภาคอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน ปล่อยให้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เคยเล่นบทแบบนี้ไปพักใหญ่ ขณะเดียวกันนี่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ถูกพูดถึงในเวทีนานาชาติมากขึ้น แม้ว่าผลของการประชุมจะมีแถลงการณ์ร่วมหรือมติความร่วมมือออกมาได้แค่ไหน เพราะยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนออกมาจากทางการพม่า แต่นาทีนี้บางประเทศอย่างสหรัฐฯ และออสเตรเลียเริ่มหันกลับมองไทยและปฏิเสธบทบาทไม่ได้อีกต่อไป !!
กำลังโหลดความคิดเห็น