ผ่าประเด็นร้อน
ประเทศไทยได้ริเริ่มจัดการประชุมแก้ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจา หรือที่เรียกตามลักษณะทางการทูตแบบเท่ๆ ว่า “การประชุมวาระพิเศษเรื่องการโยกย้ายถิีนฐานอย่างไม่เป็นปกติในมหาสมุทรอินเดีย” โดยจัดประชุมขึ้นที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้
ตามรายงานข่าวระบุว่า มีการเชิญประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 17 ประเทศ รวมทั้งมีองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เป็นต้นน่าจะส่งตัวแทนเข้าร่วม
เชื่อหรือไม่ว่าบทบาทของไทยแบบนี้ เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคนี้ ยุคที่เป็นรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งห่างหายมานานหลายสิบปีแล้ว นับตั้งแต่ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในราวปี 2523 หรือแม้แต่ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้นมา
แน่นอนว่านี่คือสถานการณ์ และปัญหาที่ต้องบังคับให้เราต้องเข้ามาแก้ปัญหา จากเดิมที่เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ตามบัญชีดำและใบเตือนมาจากประเทศตะวันตกอย่างสหภาพยุโรป ที่ “ขีดเส้น” ให้ไทยต้องแกัปัญหาดังกล่าวภายใน 6 เดือน หากแก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไขไม่น่าพอใจก็จะไม่ซื้อสินค้าจากไทยโดยเฉพาะสินค้าประมง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายตามมาหลายแสนล้านบาท จากเรื่องดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใช้กฎหมายพิเศษคือ “มาตรา 44” มาบังคับใช้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนไปก่อน ทั้งการจดทะเบียนเรือประมง จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีการกวาดล้างปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศ มีการโยกย้ายลงโทษ จับกุม ตำรวจ ทหาร ข้าราชการท้องถิ่น รวมไปถึงพลเรือนจำนวน และจุดหักเหสำคัญ คือ การค้นพบหลุมฝังศพหมู่ชาวโรฮีนจาจำนวนมากบนเขาแก้ว ที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และต่อมาในจังหวัดรอยต่อทั้งที่ระนอง พังงา จนเกิดความตื่นตัวกันอย่างขนานใหญ่
แต่จุดหักเหและกลายมาเป็นเรื่องที่ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศต้องหาทางเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน จากการที่มีการพบเรือผู้อพยพชาวโรฮีนจนในมหาสมุทรแปซิฟิก ลอยลำเป็นจำนวนมาก มีสภาพที่น่าเวทนา มีทั้งเด็ก ผู้หญิง จำนวนมาก
อย่างไรก็ดี สำหรับไทยโชคดีก็คือในเบื้องต้นยังพบว่าไม่ใช่เป็นประเทศเป้าหมายปลายทางของผู้อพยพกลุ่มนี้ แต่เป้าหมายคือ ประเทศมุสลิม คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเป้าหมายสูงสุดคือออสเตรเลีย แต่ถึงอย่างไรกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็ยังปฏิเสธไม่ยอมให้เรือผู้อพยพขึ้นฝั่ง หรือเข้ามาในน่านน้ำของตัวเอง และเห็นว่าต้นเหตุของปัญหาคือ พม่า และ บังกลาเทศ ที่เป็นประเทศต้นทาง
แน่นอนว่าหากพิจารณากันในเชิงลึกแล้ว ไทยที่เป็นประเทศทางผ่าน ซึ่งแม้จะต้องรับปัญหาเรื่องดังกล่าว แต่ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันในอีกมุมหนึ่ง นี่ก็เป็นเป็นโอกาสอันสำคัญที่จะทำให้นานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศลูกน้องสหรัฐฯ อย่างออสเตรเลีย ต้องการพึ่งพาบทบาทของไทย และนี่คือโอกาสที่รัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมามีบทบาทนำในภูมิภาคอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานหลายสิบปี
สำหรับประเทศที่ถือว่าประสบปัญหาต้องแบกรับภาระผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา เนื่องจากเป็นปลายทางของผู้อพยพ และเป็นประเทศที่สาม คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย และหากสังเกตให้ดีจะเห็นเป็นครั้งแรกหรือน้อยครั้งที่ออสเตรเลียไม่ค่อยพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน แบบเอาเท่ เอาหล่อเหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา รวมไปถึงการแสดงการรังเกียจไทยนับตั้งแต่ คสช. เข้ามา และนี่เป็นครั้งแรกที่ทางการออสเตรเลียแสดงความเห็นอกเห็นใจ ทั้งมาเลย์ อินโดฯ และ ไทย ในทำนองมี “หัวอกอันเดียวกัน” จากการถูกกล่าวหาว่าผลักใสไล่ส่งผู้อพยพให้ไปตาย โดยออสเตรเลียประกาศชัดว่าจะไม่ยอมให้เรือผู้อพยพขึ้นฝั่งอย่างเด็ดขาด
ส่วนบทบาทของไทย ที่แสดงออกมาผ่านทาง นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นอกจากก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์อย่างเฉียบขาด จนเริ่มได้รับคำชมเชยจากนานาชาติมากขึ้น และในกรณีลุกลามมาเป็นปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาในเวลานี้ไทยก็แสดงบทบาทได้น่าจับตาด้วยการเป็นผู้ริเริ่มจัดการประชุมวาระพิเศษเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่เป็นปกติในกรุงเทพฯวันที่ 29 พฤษภาคม โดยเชิญ 17 ประเทศเข้าร่วม และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทางเลขาฯ ยูเอ็น บัน คี มูน ก็ต่อสายคุยและขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีบทบาทริเริ่มแก้ปัญหา และก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จอห์น เคร์รี ก็ได้โทรศัพท์หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย คือ พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร ส่วนจะเป็นการกดดันให้ไทยต้องเปิด “ศูนย์พักพิงชั่วคราว” หรือไม่ เพื่อแลกกับอะไรบางอย่างหรือเปล่า
แต่อีกด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทนำในภูมิภาคอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน ปล่อยให้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เคยเล่นบทแบบนี้ไปพักใหญ่ ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ถูกพูดถึงในเวทีนานาชาติมากขึ้น แม้ว่าผลของการประชุมจะมีแถลงการณ์ร่วม หรือมติความร่วมมือออกมาได้แค่ไหน เพราะยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนออกมาจากทางการพม่า แต่นาทีนี้บางประเทศอย่างสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เริ่มหันกลับมองไทยและปฏิเสธบทบาทไม่ได้อีกต่อไป !!