ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ความรู้สึกตอนนี้คล้ายกับแผลที่กำลังจะหาย แต่กลับมาเจอสะกิดอยู่เรื่อย ทำให้ยังรู้สึกเจ็บ และเสียใจทุกครั้งที่คิดถึง ถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากจำเลย ไร้การพูดคุย หรือโทรศัพท์มาหา ... ขอให้เหลียวแลกันบ้าง แค่เจอหน้าคุยกันบ้าง หรือแค่บอกว่าเสียใจด้วยนะ คงทำให้รู้สึกดีขึ้นได้บ้าง แต่จำเลยกลับไม่เคยทำเลย”
นั่นคือถ้อยคำประหนึ่งตัดพ้อของนางทองพูน พานทอง มารดาของ น.ส.นฤมล ปิตาทานัง เหยื่อที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรม กรณี น.ส.แพรวา (สงวนนามสกุล) ขับรถยนต์โดยประมาทพุ่งเข้าชนรถตู้โดยสาร บนทางยกระดับโทลล์เวย์ เมื่อปี 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต กระเด็นตกจากทางด่วนรวม 9 ศพ
จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่ญาติของผู้เสียชีวิตต้องทุกข์ตรมจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความประมาทของน.ส.แพรวา แต่ที่เจ็บช้ำระทมทุกข์ใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือการไม่ได้รับการเหลียวแลและเยียวยาทางจิตใจใดๆ จากผู้ก่อเหตุ แม้แต่คำว่าเสียใจด้วยนะก็ยังไม่มี
กรณีของน.ส.แพรวา เมื่อเทียบกับ กรณีของไอซ์ - ศรัณยู วินัยพานิช นักร้องชื่อดัง ช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว
“ไอซ์ - ศรัณยู” ได้ขับรถชนนายวิชัย ใยยอง จนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทว่า ตลอดเวลานับจากที่เกิดอุบัติเหตุจวบจนวาระสุดท้าย “ไอซ์ - ศรัณยู” ได้ไปเยี่ยมเยียนและดูแลนายวิชัย ซึ่งเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตลอด พร้อมกับชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต
ทั้งสองกรณีสะท้อนให้เห็นถึงสำนึกของความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับคดีที่น.ส.แพรวา ได้ขับรถพุ่งชนรถตู้โดยสาร จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ นับเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจและเฝ้าติดตามคำตัดสินของศาล เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นจากการที่นักศึกษาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และมีอายุไม่ถึง 18 ปี อีกทั้งยังขับรถด้วยความประมาท จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวดเดียว 9 ศพ
โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นบทลงโทษที่จะนำความยุติธรรมมาสู่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และให้เป็นคดีตัวอย่างที่จะทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ระมัดระวังและมีวินัยบนท้องถนน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11พ.ค. 2558ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า ไม่รับฎีกา เนื่องจากไม่มีสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิม โดยการยื่นฎีกานั้น ก่อนหน้านี้ น.ส.แพรวา ซึ่งเป็นจำเลย ได้เป็นผู้ยื่นคำร้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่ศาลไม่รับฎีกา จำเลยจึงยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาอีกครั้ง เพื่อต่อสู้ว่าไม่มีเจตนา กระทำประมาท แต่ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำร้องฎีกาของจำเลยไม่มีสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาล จึงยังคงให้จำคุก 2 ปี รอลงอาญา 4 ปี รวมทั้งห้ามขับรถยนต์จนอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์
สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.แพรวา (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายต่อร่างกายบาดเจ็บสาหัส และทรัพย์สินเสียหาย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์ กรณีวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ขณะจำเลยมีอายุ 17 ปี ขับรถยนต์ฮอนด้า รุ่นซีวิค ทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นบนทางยกระดับโทลล์เวย์ ก่อนพุ่งเข้าชนกับรถตู้โดยสาร ทะเบียน 13-7795 กรุงเทพมหานคร วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ศพ
คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2555 ว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นเวลา 3 ปี คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โทษจำคุก ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี โดยคุมประพฤติจำเลย 3 ปี และให้รายงานตัวทุกๆ 3 เดือน พร้อมให้ทำงานบริการสังคมด้วยการดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมงต่อปี และห้ามจำเลยขับรถยนต์ จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์
ต่อมา วันที่ 22 เม.ย. 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 2 ปี และแก้จากที่รอลงอาญา 3 ปี เป็นรอลงอาญา 4 ปี และให้บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลารวม 4 ปี และห้ามจำเลยขับรถยนต์ จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปี บริบูรณ์
จากนั้นจำเลยจึงได้ยื่นฎีกา และศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย เนื่องจากคำร้องฎีกาไม่มีสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาล เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2558ที่ผ่านมา
ในวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา จนเป็นที่สิ้นสุดของคดีดังกล่าวนั้น น.ส.แพรวา ได้เดินทางมารับฟังคำตัดสินด้วย ทว่าไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ แก่สื่อมวลชน อีกทั้งไม่ได้เข้าไปพูดคุยหรือทักทายกับญาติของผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด
สำหรับกรณีของนักร้องดัง ไอซ์-ศรัณยู วินัยพาณิช ที่ได้ขับรถเก๋ง เฉี่ยวชน นายวิชัย ใยยอง เกิดขึ้นจากการขับรถโดยประมาท จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเช่นกัน แต่การปฏิบัติต่อผู้สูญเสียสะท้อนให้เห็นถึงสำนึกความรับผิดชอบที่ต่างกับ น.ส.แพรวา และครอบครัว ซึ่งนั่นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าไอซ์ - ศรัณยู มีวัยวุฒิและมีวุฒิภาวะมากกว่าน.ส.แพรวา แต่ทว่านั่นไม่ใช่เหตุผลสำคัญเพราะหากครอบครัวของน.ส.แพรวา มีมโนสำนึกก็ต้องปฏิบัติต่อครอบครัวและญาติของผู้สูญเสียให้ดีกว่านี้
การปฏิบัติของหนุ่มไอซ์และครอบครัวได้ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลตลอด เมื่อคนเจ็บเสียชีวิตในเวลาต่อมา ก็อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายศพ พร้อมทั้งมอบเงินส่วนหนึ่งให้จัดงานศพ และขอขมาผู้ตายด้วยความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
อุบัติเหตุกรณีที่ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช วัย 31 ปี ขับรถฮอนด้า ซีอาร์-วี สีขาวทะเบียน ณข 7942 กรุงเทพมหานคร ชนนายวิชัย ใยยอง วัย 43 ปี บาดเจ็บสาหัสขณะเดินข้ามถนนในซอยรามอินทรา 14 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558ก่อนเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลลาดพร้าว นานกว่า 1 สัปดาห์ กระทั่งนายวิชัย ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา
ต่อมา วันที่ 11 พ.ค. 2558ไอซ์-ศรัณยู เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ดำรงค์ บุญวิไล พงส.ผทค.สน.โคกคราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นร้อยเวรเจ้าของคดีได้แจ้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พร้อมอนุญาตให้ตัวแทนประกันภัยรถของไอซ์-ศรัณยู นำหลักทรัพย์มาประกันตัวในราคา 2 แสนบาท ภายหลังจากที่เขาได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง พนักงานสอบสวนจึงอนุญาตให้ประกันตัว และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานทำสำนวนส่งฟ้องศาล
ไอซ์-ศรัณยู ได้แถลงข่าวในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่ชั้น 30 อาคาร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส ด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่ายังรู้สึกช็อกในเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ก็ต้องรับผิดชอบการกระทำ ไม่มีใครอยากให้เกิดการสูญเสีย
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ผมได้ให้ผู้จัดการส่วนตัวไปเฝ้าดูอาการตลอดตั้งแต่เช้าจนถึง 3 ทุ่ม รวมทั้งผมและครอบครัวก็ไปเยี่ยมตลอด กระทั่งคนเจ็บได้เสียชีวิตเหตุการณ์ในวันนั้นเกิดขึ้นขณะขับรถกลับบ้านหลังไปร้องเพลงย่านเจริญกรุง ถึงจุดเกิดเหตุประมาณ 23.00 น. พบว่าในซอยไฟดับทั้งถนน เลยใช้ความระมัดระวังเต็มที่ แต่ก็เกิดเหตุจนได้ ผมเห็นผู้ตายในระยะประชิด แม้จะพยายามเบรกแล้ว เหตุที่เกิดกะทันหันมาก และไม่ได้ขับรถเร็ว รถแท็กซี่ที่ขับตามมายังเบรกไม่ทันเหมือนกัน ขับรถชนท้ายของผมด้วย ยืนยันว่าไม่ได้มึนเมา เพราะไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ตอนเกิดเหตุตกใจวิ่งลงไปไหว้ขอโทษผู้เสียหาย จากนั้นทางมูลนิธินำตัวส่ง รพ.นพรัตน์ ฯ ผมก็ให้เพื่อนตามไปที่โรงพยาบาลก่อน เพราะผมต้องรอเคลียร์กับตำรวจ จากนั้นคู่กรณีก็ถูกย้ายไปรพ.ลาดพร้าว
“ตอนที่ทราบข่าวว่าเขาเสียชีวิตรู้สึกว่าช็อก ไม่อยากให้มีการสูญเสีย อะไรก็ตามที่สามารถรับผิดชอบได้ผมก็ทำ ไม่เคยหนีจนเขาเสียชีวิต ส่วนตัวได้มอบเงินส่วนหนึ่งให้จัดงานศพ อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายศพไป จ.สุรินทร์ และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วย จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด”
ไอซ์-ศรัณยู ยังไปเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรรมศพ ที่ จ.สุรินทร์ และไปเพื่อขอขมาครอบครัวผู้ตาย ถึงตรงนี้เขาเผยด้วยความสะเทือนใจที่ได้รับความเมตตาจากครอบครัวผู้ตายในวันนั้น
“ทางญาติผู้ตายได้ทำพิธีผูกข้อไม้ข้อมือเรียกขวัญผม ทุกคนเข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ผมไม่คิดว่าจะได้รับสิ่งเหล่านี้ เพราะคิดว่าอยากไปขอขมาผู้ตายเท่านั้น ต่อจากนี้ขอให้เป็นไปตามกฎหมาย เรื่องอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับผิดชอบ และตอนนี้คงไม่ขับรถไปอีกนาน แค่นั่งรถไปเห็นทางข้างหน้ามืด ผมก็กลัวแล้ว”
แน่นอนว่า ความสูญเสียไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่การสำนึกผิดยอมรับสิ่งที่ตัวเองได้กระทำขึ้นต่างหากที่ช่วยให้สังคมเลิกประณามและพร้อมให้อภัย