xs
xsm
sm
md
lg

คณบดีนิติศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ต้องเพิ่มโทษเมาแล้วขับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณบดีนิติศาสตร์ ม.รังสิต ค้านนักวิชาการอ้างเพิ่มโทษเมาแล้วขับแก้ปัญหาปลายเหตุ ยกญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เลือกใช้เพิ่มโทษหนัก บังคับใช้เข้มงวด ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้จริง แล้วค่อยหาวิธีป้องกันต่อไป

วันนี้ (8 พ.ค.) รศ.พิเชษฐ เมาลานนท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยญี่ปุ่นร่วมสมัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีที่มีนักศึกษาเมาแล้วขับ พุ่งเข้าชนกลุ่มนักปั่นจักรยานเสียชีวิต3รายที่เชียงใหม่ ว่าทุกครั้งที่มีคดีใหญ่ๆ ในปัญหาเมาแล้วขับ ผู้คนมักจะเรียกร้องให้เพิ่มโทษ ซึ่งก็มักจะมีคำค้านจากนักวิชาการหรือศาลบางท่าน ว่าการเพิ่มโทษมิใช่วิธีที่ถูกต้อง แต่พึงต้องหาวิธีที่จะป้องกัน ไม่ให้ใครเมา แล้วยังขับรถ หรือยิ่งจะดี ถ้าไม่มีคนเมาอีกต่อไปในสังคม นักวิชาการเหล่านั้น ท่านเชื่อว่า การเพิ่มโทษคือ วิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่วิธีป้องกันนั้นต่างหาก ที่จะเป็น วิธีแก้ปัญหาที่สาเหตุ ขณะที่ผู้คนในหลายสังคม ต่างอภิปรายกันว่าพึงจะ เพิ่มโทษเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทว่าปลายเหตุหรือพึงจะต้อง หาวิธีป้องกัน อันเป็นวิธีแก้ปัญหาที่สาเหตุ แต่ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และจีน คือสามชาติเป็นอย่างน้อย ที่เลือกใช้นโยบาย”เพิ่มโทษหนัก แล้วบังคับให้เข้มงวด”

“ประเทศเหล่านี้เชื่อว่า จะต้องรีบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วจึงค่อยหาวิธีที่จะป้องกันกันต่อไป ซึ่งทำให้ญี่ปุ่น ลดยอดผู้ตายจากเมาแล้วขับ ลงไปได้มหาศาล กล่าวคือ ลดลงเหลือ 227รายทั่วประเทศเมื่อปี 2014จากจำนวนประชากรทั้งหมด126.5ล้านคน ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาที่ดียิ่ง สำนักงานอัยการญี่ปุ่น คือสถาบันผู้กระตุ้นรัฐสภาให้เพิ่มโทษ โดยเชื่อว่าถ้าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ย่อมจำต้อง“ให้ยาแรงๆ”ดังเช่น กรณีเมาแล้วขับ ที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน25ปี หรือปรับไม่เกิน1ล้านเยน หรือราวสามแสน ส่วนกรณีเมาแล้วขับ ที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แล้วหนีโดยที่ไม่อยู่ช่วยเหลือ (Hit and Run) ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 30ปี หรือปรับไม่เกิน1ล้านเยน” รองศาสตราจารย์ พิเชษฐ กล่าว

รศ.พิเชษฐ กล่าวว่า สำหรับงานบังคับเข้ม จะเห็นได้จากคดีตัวอย่าง เมาแล้วขับชนคนตาย3ราย ซึ่งศาลโกเบ ที่ญี่ปุ่น เมื่อปี2007 ตัดสินให้จำคุก 23ปี โดยที่ศาลเขียนในคำตัดสินว่าเมาแล้วขับนั้นประดุชดังอาชญากรรม ที่เปลี่ยนรถยนต์หลายสิบตัน ให้กลายเป็นอาวุธซึ่งเคลื่อนที่(A Moving Weapon) ศาลท่านยังเขียนไว้อีกว่า เมาแล้วขับคือโศกนาฎกรรมที่กระทำล่วงหน้า เพราะจำเลยละเลยกฎหมาย ทั้งที่รู้ดีว่า อาจจะมีคนที่ตาย หลังจากออกวิ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดชอบอย่างยิ่งในการคร่าชีวิตที่มีค่าทั้งสามราย

อย่างไรก็ตาม ที่ญี่ปุ่น นักวิชาการต่างทราบดีว่า ทุกวันนี้ นโยบาย “โทษหนัก-บังคับเข้ม” ได้ถึงซึ่งจุดอิ่มตัวลงแล้ว และการที่จะลดจำนวนคนตาย 227ต่อปี ให้ต่ำลงกว่า200 รายต่อปี ก็แทบไม่มีหวัง ญี่ปุ่นจึงกำลังบ่ายหน้าเข้ายุคใหม่ ในการแสวงหา วิธีที่จะป้องกัน กันต่อไป แต่กระนั้น งานสู้กับปัญหาเมาแล้วขับ ก็คงยังพึงเริ่ม“นับหนึ่ง” จาก วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือต้อง เพิ่มโทษให้หนัก-และบังคับให้เข้ม แล้วจึงบ่ายหน้าเข้าสู่ วิธีที่จะป้องกัน ในลำดับที่ถัดไป ซึ่งก็หาใช่จะทำได้ง่าย ทั้งนี้ เพราะคนญี่ปุ่นรักการดื่มสุรา จนดูจะเหนือกว่าชนชาติอื่นใดในโลก ซึ่งสุราคือ “วิถีชีวิต” ที่ญี่ปุ่น ดังนั้น การแก้ปัญหาที่สาเหตุ จึงดูจะสิ้นหวัง เว้นแต่จะแก้วิถีชีวิต แก้คนเมาเหล้าไม่ให้เข้าขับรถ และรณรงค์ให้คนทั้งสังคมชิงชัง “เมาแล้วขับ”

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น