ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หากจะเอ่ยถึงผู้กว้างขวางและมากอิทธิพลในภาคใต้ แม้ชื่อจะยังไม่ดังกระฉ่อนคับภาคเหมือนในภูมิภาคอื่นๆ แต่ห้วงหลายสิบปีมานี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “มังกรอันดามัน” อันเป็นฉายาของ “ชวน ภูเก้าล้วน” ที่มีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองกระบี่ เวลานี้ก็ล่วงวัยชราและมอบหน้าที่สืบต่อบัลลังก์การเมืองท้องถิ่นไปให้น้องชาย “กีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน” ไปแล้วหลายเพลา
ทว่า ตลอดช่วงกว่า 2 สัปดาห์มานี้กลับปรากฏชื่อผู้กว้างขวางและมากอิทธิพลบนแผ่นดินฝั่งทะเลอันดามันเช่นกัน แต่ขยับลงสู่ภาคใต้ตอนล่าง แม้จะยังไม่ได้รับฉายาจนเป็นที่กล่าวขานแบบติดปากผู้คน แต่หากจะเรียกว่า “เจ้าพ่อเกาะหลีเป๊ะ” ถือว่าสมเหตุสมผลแบบแทบจะไม่มีใครคัดค้าน หรือถ้าจะกล่าวขานว่าเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสตูล” ก็ไม่น่าจะขัดข้องอะไร ยิ่งในเวลานี้ตกเป็นข่าวครึกโครมทั้งในและต่างประเทศชนิดถูกกล่าวถึงไม่เว้นแต่ละวัน คำว่า “มังกรอันดามัน” ก็น่าจะนำกลับมาใช้ได้เหมาะสม
สำหรับ “โกโต้ง” หรือ “นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์” จากข้อมูลข่าวสารที่รับรู้กับในวันนี้ ถ้าจะเปรียบเทียบให้เป็นมังกรอันดามัน ก็คงจะใหญ่โตโอฬารชนิดเลื้อยพาดไปได้ทั้ง 3 ประเทศในแถบนี้ ตั้งแต่พม่า ยันไทย แล้วเลยไปถึงมาเลเซีย
ณ วันนี้โกโต้งถูกข้อหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่สุด หรือเป็น “หัวหน้า” ของเครือข่ายขบวนการค้าโรฮีนจาข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีต้นทางถูกส่งตัวมาจากรัฐยะไข่ชายฝั่งทะเลตะวันตกตอนบนของพม่า ก่อนจะผ่านเข้าไทยทางภาคใต้ แล้วส่งต่อข้ามพรหมแดนไปยังมาเลเซียเป็นปลายทาง
เขาเป็น 1 ในกว่า 60 คนที่ถูกออกหมายจับไปแล้วในหลายฐานความผิด ไม่ว่าจะเป็นสมคบและร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำการอันเป็นการค้ามนุษย์ ร่วมกันช่วยเหลือแก่บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันเรียกค่าไถ่ แต่ก็ยังสามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือของทั้งตำรวจและทหารไปได้
การใช้ชีวิตบนวิถีผู้กล้าของโกโต้ง ต้องนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญยิ่งในยุคสมัยรัฐบาลพลเรือน ซึ่งบรรดานักเลือกตั้งสลับสับเปลี่ยนกันครองเมือง เพราะตัวเขาเองก็ถือเป็นผู้คร่ำหวอดที่วนเวียนอยู่ในสนามเลือกตั้งมายาวนาน แถมยังเคลื่อนย้ายไปได้ในหลายขั้วการเมือง ในระดับการเมืองท้องถิ่นเคยสู่จุดสูงสุดได้นั่ง “นายก อบจ.สตูล” มาแล้ว ด้านการเมืองระดับชาติเคยได้เป็นถึง “ผอ.เลือกตั้ง” ของพรรคการเมืองใหญ่ อีกทั้งยังมอบหมายหน้าที่สำคัญในฐานะ “กระเป๋าเงิน” ของบรรดาผู้สมัครในหลายจังหวัดของใต้ล่าง
แต่เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเอาอย่างมากๆ คือ ปัจจุบันผู้กุมบังเหียนรัฐนาวากลับเป็นคณะนายทหารใหญ่ ซึ่งยึดอำนาจเมื่อกลางปีที่แล้วด้วยข้ออ้างรัฐบาลพลเรือนมีการแบ่งขั้วแยกข้าง แถมสร้างความปั่นป่วนให้เกิดการแตกระส่ำทาง ความคิดในหมู่ประชาชน เกิดการเผชิญหน้าและเป็นสาเหตุตกตายไปหลายชีวิต หากปล่อยไว้มีแต่จะลุกลามใหญ่โต ซึ่งเมื่อได้อำนาจมาแล้วก็ต้องหาหนทางรักษาไว้ให้มั่นคงที่สุดก่อนจะยอมถ่ายคืนไป ปรากฏการณ์เชือดไก่ให้ลิงดูนับว่าจำเป็นอย่างสุดๆ เพราะไม่มีเป้าหมายล้างบางใคร
จึงไม่แปลกเมื่อ คสช.ทำรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค.2557 ชื่อของโกโต้งจึงถูกจัดไว้ในบัญชีเฝ้าจับตาของหน่วยงานความมั่นคง เมื่อมีนโยบายเรียกผู้มีอิทธิพลเข้ารายงานตัวในเดือน มิ.ย.ถัดมา เขาได้ถูกให้เข้ารายงานตัวกับฝ่ายทหารถึง 2 ครั้ง หนแรกวันที่ 25 มิ.ย.ตามคำสั่งเรียกตัวของหน่วยเฉพาะกิจประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กองทัพเรือภาคที่ 3 (ฉก.ปชท.ทรภ.3) โดยให้เข้ารายงานตัวที่หน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (นป.สอ.รฝ.) 452 อ.ละงู จ.สตูล และหนสองวันที่ 26 มิ.ย.ตามคำสั่งของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 ค่ายสมันตรัฐบุรินทร์ อ.เมือง จ.สตูล
หลังจากนั้นโกโต้งก็เลือกที่จะเก็บเนื้อเก็บตัว และด้วยห่วงเรื่องความปลอดภัยถึงกลับต้องหลบไปอาศัยอยู่กับพรรคพวกในมาเลเซียเป็นช่วงๆ ด้วยหวังให้เรื่องเงียบหายจนกว่าจะมีรัฐบาลเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ก็ทำได้ไม่นานก็เกิดเรื่องราวให้ต้องแจ้นกลับมาเคลียร์ปัญหา โดยในวันที่ 27 พ.ย.2557 เรือเร็วลำหนึ่งของเขาที่นำไปรอรับนายตำรวจใหญ่ที่จะไปท่องเที่ยวและพักผ่อนบนเกาะหลีเป๊ะถูก พ.ต.ท.เสกสิทธิ์ ปรากฏชื่อ รอง ผกก.ป.สภ.ละงู ขอกำลังทหารบุกเข้าตรวจค้นขณะจอดอยู่ที่ท่าเรือปากบาราแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ เนื่องจากต้องสงสัยว่าลักลอบขนของผิดกฎหมาย ซึ่งก็กลายเป็นข่าวฮือฮา
แม้จะคว้าน้ำเหลว ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่สถานการณ์บังคับให้โกโต้งก็ต้องออกมาเคลียร์ด้วยตัวเอง พร้อมอ้างว่าเรือเร็วลำดังกล่าวไม่ได้นำมารับผู้ใหญ่ แต่นำมารับผู้จัดการไปยังเกาะสัมปทานรังนกที่เป็นธุรกิจของตนเอง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทำได้แค่เพียงจับปรับเป็นเงินหลักหมื่นบาท ฐานเป็นเรือที่ยังไม่มีใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า
เหตุการณ์จับเรือเร็วครั้งนั้น แม้โกโต้งจะพยายามอ้างว่าไม่ได้นำมารอรับคณะนายตำรวจใหญ่ในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แต่ก็ทำให้ พล.ต.ต.สุนทร เฉลิมเกียรติ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ถึงกลับมีคำสั่งย้ายด่วน พ.ต.ท.เสกสิทธิ์ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำ ศปก.ตร.จว.สตูล ก่อนที่จะย้ายต่อไป สภ.มะนัง จ.สตูล ซึ่งภายหลังเกิดคดีพบค่ายกักกันและหลุมศพโรฮีนจาอย่างใหญ่โต พล.ต.ต.สุนทรก็ถูกย้ายไปประจำ ศปก.ตร.ด้วยข้อหาสนิทสนมกับโกโต้ง
ความจริงแล้วโกโต้งไม่ใช่เพิ่งจะมาโด่งดังเอาช่วงที่มีรัฐบาล คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีสั่งให้จัดการเด็ดขาดกับขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเท่านั้น ห้วงเวลาราว 54 ฤดูฝนที่บ่มเพาะความเป็นนักสู้ของเขาก็นับว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน
โกโต้งเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2504 บิดาคือ “กำนันจง-บรรจง อังโชติพันธุ์” ผู้กว้างขวางแห่ง จ.สตูล มารดาคือ “ดารา อังโชติพันธุ์” ทายาทของ “โต๊ะคีรี” ผู้นำชาวเลมุสลิมที่อพยพด้วยการแจวเรือมาจากจังหวัดอาเจ๊ะ ประเทศอินโดนีเซีย บางส่วนขึ้นไปตั้งรกรากไกลถึงเกาะลันตา จ.กระบี่ รวมถึงเกาะแก่งและบางส่วนของ จ.ภูเก็ต แต่โต๊ะคีรีเลือกที่จะลงหลักปักฐานบนเกาะหลีเป๊ะของ จ.สตูล
นับได้ตั้งแต่รุ่นตาที่มากไปด้วยความเป็นผู้นำ ขณะที่รุ่นพ่อก็ไม่น้อยหน้า เพราะเป็น 1 ใน 3 เกลอผู้โด่งดังแห่งฝั่งทะเลอันดามันในใต้ล่างคือ “กำนันจง-โกกัง-โกเล็ก” ซึ่งทำธุรกิจแบบเกื้อหนุนจุนเจือกันทั้งในธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท สัมปทานรังนก โรงงานปลาป่น การค้าน้ำมันและสินค้าน้ำเข้าตามชายฝั่งทะเล
สำหรับตระกูล “อังโชติพันธุ์” นับว่ายิ่งใหญ่บนเกาะหลีเป๊าะแท้จริง เพราะนอกจากจะสืบเชื้อสายจาก “โต๊ะคีรี” ที่แต่งงานอยู่กินกับชาวเกาะลันตาชื่อ “แบอ๊ะ” ซึ่งได้ร่วมกันหักร้างถางพงจนมีที่ดินตกทอดถึงรุ่น “กำนันจง-แม่ดารา” จำนวนมาก อีกทั้งนับตั้งแต่ท่องเที่ยวบูมบนเกาะหลีเป๊ะก็เร่งสะสมที่ดินไว้เรื่อยๆ บางส่วนได้มาจากการพิพาทกับชาวเลบนเกาะด้วยกัน ว่ากันว่าตอนนี้มีรวมแล้วกว่า 300 ไร่
เมื่อตกทอดมาถึงโกโต้งก็ยังมุ่งมั่นเป็นนายหน้าค้าที่ดิน ทั้งบนเกาะหลีเป๊ะและขยับขยายไปในหลายพื้นที่ของ จ.สตูล จึงไม่แปลกที่วันนี้เขาจะมีทั้งโรงแรมและรีสอร์ทหลายแห่งอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ และถูกใช่เป็นสถานที่ที่รองรับผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงตำรวจและฝ่ายปกครองแบบถี่ยิบ พร้อมๆ กับนำเรือเร็วที่ว่ากันว่าใช้ขนต่างด้าวเอามาคอยบริการรับส่งด้วย
จึงไม่แปลกเช่นกันที่จะมีเสียงร่ำลือหนาหูว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงราชการเมื่อย้ายมาใน จ.สตูลและทั่วภาคใต้ ต่างก็อยากจะได้สัมผัสบรรยากาศของเกาะหลีเป๊ะ ส่งผลให้โกโต้งได้มีโอกาสรับใช้และได้ใกล้ชิดสนิทสนมด้วย หรือหากต้องการไปถึงเกาะลังกาวีในมาเลเซียที่ไม่ไกลกัน เขาก็สามารถจะสั่งผ่านเครือข่าย นายมาเลย์ โต๊ะดิน นายกเทศมนตรีตำบลปูยู อ.เมืองสตูล ให้ดูแลเป็นพิเศษได้ ซึ่งก็นำไปสู่การขยับขยายอาณาจักรธุรกิจมากมายและหลากหลาย ทั้งส่วนตัวและในเครือข่าย และไม่จำกัดเฉพาะต้องอยู่แต่บนดินเท่านั้น
ความที่เป็นคนครบเครื่องทั้งในเรื่องการเมืองแบบไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร ความสามารถในการทำธุรกิจได้รอบตัวทั้งเบื้องบนและเบื้องใต้ อีกทั้งยังเชี่ยวชาญเรื่องบริการแบบเป็นพิเศษนี่เอง โกโต้งที่ได้เคยใกล้ชิดพรรคประชาธิปัตย์ พอถึงยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 ถือได้ว่าเป็นอีกยุคทองของโกโต้งก็ว่าได้ เพราะในปีเดียวกันนั้นเขาก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายก อบจ.สตูล แล้วได้มีโอกาสใกล้ชิดระบอบทักษิณ
ถึงช่วงต้นปี 2547 ไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุจากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง พ.ต.ท.ทักษิณส่งนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้จะคนละพรรค แต่ถือเป็นคนสนิทชิดใกล้ ให้ลงมาดูแลโครงการของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเมกะโปรเจ็กต์อย่างการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นพิเศษ นายเนวินจึงคิดการณ์ใหญ่ที่จะสร้างอาณาจักรปักหลักไว้ที่ชายแดนใต้
ทางหนึ่งเริ่มด้วยการดึงเอา นายมานิต วัฒนเสน จากรองผู้ว่าฯ ปัตตานีให้มานั่งเป็นผู้ว่าฯ สตูลในคาถา ซึ่งนายมานิตพื้นเพเป็นคน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ตอนไปเรียนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ที่ ม.เชียงใหม่ ทำให้มีพรรคพวกพอที่จะต่อสายให้สัมพันธ์ใกล้ชิด นายคะแนน สุภา พ่อตาของนายเนวินได้ จากนั้นนายมานิตก็ต่อสายเข้าไปดูแล นายสมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ แห่งเกียรติเจริญชัยการโยธา ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่สุดในสตูล แล้วเชื่อมถึง นายสุมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล
ทางหนึ่งนายเนวินรับฝากฝั่งจาก นายชัย ชิดชอบ ผู้เป็นพ่อและเพื่อพ่อ นายวัฒนา อัศวเหม ให้ช่วยดูแลหุ้นส่วนปักษ์ใต้เชื้อเพลิงที่ทำธุรกิจน้ำมันด้วยกันและอยู่ใน จ.สตูลคือ ตระกูล “รัชกิจประการ” ซึ่งตระกูลนี้มี นายพิพัฒนา รัชกิจประการ เป็นแก่นแกน และยังแผ่ขยายไปถึง จ.พัทลุงที่มี นางนที รัชกิจประการ ภรรยานายพิพัฒน์ดูแลพื้นที่อยู่ และดันให้ นายพิบูลย์ รัชกิจประการ ขึ้นแท่นนายกเทศมนตรีเมืองสตูล
สำหรับนายพิพัฒน์นี่แหละที่ต่อสายมาดึงเอาโกโต้งเข้าไปรวมก๊วนกับนายเนวินด้วย ซึ่งภายหลังโกโต้งก็ได้เป็นหัวหอกในการทะลุทะลวงธุรกิจสัมปทานรังนกให้หลายจังหวัดภาคใต้ นับตั้งแต่สตูล พัทลุง ไปจนถึงสุราษฎร์ธานี ไม่เพียงเท่านั้นธุรกิจที่ดินเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โกโต้งก็เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยจัดการให้ด้วย
นอกจากนี้อาจจะด้วยให้บรรลุผลบางอย่าง โกโต้งจึงพร้อมใช้จ่ายเงินแบบมือเติบ เช่น ช่วงเลือกตั้งใหญ่ 3 ก.ค.2554 ขณะนั่งเป็น ผอ.เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.สตูลให้พรรคชาติไทยพัฒนา เขาบริจาคเงินเข้าพรรคถึง 1.5 ล้านบาท บริจาคสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปให้ตำรวจสตูล 1 แสนบาท เคยประมูลป้ายทะเบียนรถ กค 9999 และ กค 8888 รวม 1.5 ล้านบาท ล่าสุดที่เพิ่งเป็นข่าวดังร่วมสมทบสร้างที่พักตำรวจ สภ.หลีเป๊าะ 2 แสนบาท เป็นต้น
ดังนี้แล้วจึงเป็นที่กล่าวขานกันว่า เงินหลักหมื่น หลักแสน หรือแม้กระทั่งหลักล้านบาทต่อเดือน เพื่ออำนวยความสะดวกในธุรกิจบางอย่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าโรฮีนจาข้ามชาติ มีหรือที่โกโต้งจะไม่กล้าควัก
ภายในอาทิตย์ที่ผ่านมามีการยึดทรัพย์ของโกโต้งเพื่อส่งให้ ปปง.ดำเนินการตามกำหมายแล้วจำนวนมาก โดยทรัพย์ที่สำคัญๆ ได้แก่ โรงแรมมายด์เซเว่นขนาด 28 ห้องพัก เรือ 2 ลำ รถยนต์ 4 คันที่รวมเอารถทะเบียน กค 9999 กับ กค 8888 ไว้พร้อมด้วย กค 5555 สตูล รถกอล์ฟ รถจักรยานยนต์ เครื่องปั่นไฟ ระบบกล้องวงจรปิด โซล่าเซล ปืนและเครื่องกระสุนจำนวนมาก รวมทั้งกวาง 17 ตัวและวัวอีก 35 ตัว เป็นต้น
หันมาดูเครือข่ายขบวนการค้าโรฮีนจาข้ามชาติใน จ.สตูล (ดูแผนภาพประกอบ) ซึ่งเวลานี้ถูกออกหมายจับหมดแล้ว โดยข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ระบุไว้ชัดว่า เครือข่ายใหญ่มี 1.โกโต้ง-นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ เป็นหัวหน้า แล้วแบ่งเป็น 5 เครือข่ายย่อยดูแลแต่ละพื้นที่ โดยเขามีมือขวาคือ 2.นายอาบู ฮะอรา อดีต ส.อบจ.เขต 2 อ.ควนโดน จ.สตูล ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ได้แล้ว นอกนั้นที่เหลืออีก 27 คน ประกอบด้วย
3.นายชาคริต หลงสามะ 4.นายสมบูรณ์ สันโด 5.นายโปเซี่ย อังโชติพันธุ์ 6.นายมาเลย์ โต๊ะดิน 7.นายเจ๊ะปา ลาปีอี 8.นายอนัส หะยีมะแซ 9.นายหาก ทอดทิ้ง 10.นายเจ๊ะอาด โต๊ะดิน 11.นายอนุ โต๊ะดิน 12.นายสุชาติ โต๊ะดิน 13.นายซำซูดิน โต๊ะดิน 14.นายรอสัก โต๊ะดิน 15.นายสมพล อาดำ 16.SABIRIN (มาเลย์) 17.ABDUL RAHMAN (มาเลย์) 18.นายสมยศ อังโชติพันธุ์ 19.นายสะอาด ฮะยีบิลัง 20.นายวุฒิ วุฒิประดิษฐ์ 21.นายสถิต แหมถิ่น 22.นายมุฮัมมัดสุกรี แหมถิ่น 23.นายหมาดสะอาด ใจดี 24.นายหมาดดี ละใบแด 25.นายอามีด หวังกุหลำ 26.นายสมาน เจ๊ะเล็ม 27.นายธีรพล จิตตวาที 28.นายอรุณ แก้วผ่ายนอก และ 29.นายสา เหมนะ
ล่าสุดมีข่าวว่า “โกโต้ง-นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์” ซึ่งตำรวจเชื่อว่าหลบหนีไปตั้งหลักที่มาเลเซีย ที่ผ่านมาได้มีความพยายามส่งคนเจรจาว่า พร้อมจะขอมอบตัว แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้ประกันตัวโดยทันที ซึ่งยังไม่เป็นที่ตกลง แต่ในส่วนของตำรวจได้มีการประสานไปยังอินเตอร์โพลและขอความร่วมมือไปทางมาเลเซียแล้ว ซึ่งก็ยังต้องจับตากันต่อไป