ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” คือต้นกำเนิดของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ “กปปส.” ดังนั้น คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่สุดท้ายแล้วหลังรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จัดให้มีการเลือกตั้งและคืนอำนาจสู่ประชาชน แกนนำ กปปส.ที่ตบเท้าลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะหวนกลับคืนไปซบพรรคการเมืองอันเป็นรากเหง้าหรือบ้านเกิดของตัวเองอีกครั้ง
และในวันนี้ ชั่วโมงนี้ หลังอึมครึมและแทงกั๊กมาได้พักใหญ่ ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า แกนนำ กปปส.จะกลับคืนสู่อ้อมอกของพรรคประชาธิปัตย์ตามคำประกาศของ “ลูกหมี-นายชุมพล จุลใส” แกนนำ กปปส.และอดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์
“อนาคตของ กลุ่ม กปปส.ที่เป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้มีการเลือกตั้ง ก็จะยกขบวนเข้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นผู้สมัคร สส.ทั้งหมด โดยไม่มีลงสมัครในนาม กปปส. เพราะเล่นการเมืองหน้าเดียว ไม่ใช่อะไหล่พรรค และไม่มีนอมินี ส่วนพระสุเทพยังไม่มีกำหนดลาสิกขา และจะไม่ลงสมัคร สส.หรือลงเลือกตั้งอีก”นายชุมพลประกาศ
นี่คือก้าวย่างที่สำคัญยิ่งของแกนนำ กปปส.ในวันที่การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใกล้สำเร็จ และการเลือกตั้งจะมาถึงในเร็ววัน
ยิ่งเมื่อหลุดออกมาจากปากของนายชุมพล ยิ่งมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ว่า จะดำเนินไปในเส้นทางสายนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ลูกหมีผู้มากบารมีแห่งเมืองชุมพรนั้นคือคนใกล้ชิดสนิทแน่นของ “พระสุเทพ ปภากโร” หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งนั่นหมายความว่า หลวงลุงกำนันของมวลมหาประชาชนตกผลึกทางความคิดในทางการเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะไม่แยกออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้วจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อจัดตั้งรัฐบาล
มิเพียงแต่นายชุมพลเท่านั้น หากความเคลื่อนไหวหรือการประกาศจุดยืนทางการเมืองดังกล่าวยังสอดคล้องกับสิ่งที่ “นายถาวร เสนเนียม” แกนนำคนสำคัญของ กปปส.อีกคนหนึ่งอรรถาธิบายโฉมหน้าประเทศไทยหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่เอาไว้อย่างพอดิบพอดี
อดีตนักการเมืองผู้เจนสนามแห่งสงขลาให้สัมภาษณ์รายการฟ้าวันใหม่นิวส์ ซึ่งออกอากาศทางช่องฟ้าวันใหม่เอาไว้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับไอ้ปี๊ดนั้น ได้ออกแบบ “รัฐบาลผสม” ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยหลังการเลือกตั้งทั่วไปจะไม่มีพรรคไหนได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ทั้งนี้ โฉมหน้ารัฐบาลผสมจะละม้ายคล้ายคลึงกับ “รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” เมื่อปี พ.ศ.2518 โดยจะมีพรรคขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก และกลุ่มการเมือง รวมตัวคิดสูตรจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติและมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพรรคใหญ่
แปลไทยเป็นไทยก็คือ พรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวอีกต่อไป
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็เชื่อว่า จะดำเนินไปในร่องเดิมคือ ได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่สอง แต่จะมีลุ้นด้วยการไปจับมือกับพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ส่วนจะทำสำเร็จหรือไม่ ตอบได้ทันทีเลยว่า เลือนรางเต็มที หากสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเป็นไปในลักษณะนี้
สมการการเมืองของประเทศไทยกำลังเคลื่อนไปสู่เส้นทางสายนี้
สิ่งที่น่าสนใจประการถัดไปก็คือ การกลับเข้าไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ของ แกนนำ กปปส.จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประการสำคัญภายในพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยังคงเป็นหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม หรือจะมีการผลัดใบเพื่อหวังชัยชนะในการเลือกตั้ง เพราะต้องยอมรับว่า ถ้าหัวหน้าพรรคยังเป็นนายอภิสิทธิ์ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งนั้น ริบหรี่เต็มทน
ถ้าไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ แล้วใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรค และใครจะเป็นเลขาธิการพรรค
ที่สำคัญคือ แกนนำ กปปส.จะกลับเข้ามายืนในจุดไหน เก้าอี้ตัวใด จะกลับมายึดพรรคหรือไม่ แล้วจะส่งใครเข้ามาเป็นหัวหน้ากลุ่มแทนนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่เล่นการเมืองอีกต่อไป
นี่คือคำถามที่สำคัญยิ่ง
และเป็นคำถามที่เชื่อขนมกินได้ว่า จะต้องเขย่าขวัญนายอภิสิทธิ์และกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันอยู่ไม่น้อย เพราะชั่วโมงนี้ บารมีของหลวงลุงกำนันและแกนนำ กปปส.นั้นมีมากล้นพ้นประมาณชนิดที่สามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้
ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็ไม่อาจปฏิเสธ แกนนำ กปปส.และหลวงลุงกำนันได้ และถ้าไม่มีความมั่นใจที่จะช่วงชิงการนำในพรรคได้สำเร็จ เชื่อว่า หลวงลุงกำนันและแกนนำ กปปส.จะไม่ประกาศผ่านนายชุมพล จุลใสเยี่ยงนี้
กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่า การประกาศกลับไปซบอกพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ อาจมิได้มีความหมายในเชิงของการเลือกตั้งก็เป็นได้ เพราะเมื่อฟังสัญญาณที่ออกจากปากหลวงลุงกำนันโดยตรง ก็จะเห็นได้ว่า สถานการณ์มิได้เข้าสู่โหมด “นับถอยหลังเลือกตั้งสู่รัฐบาลแห่งชาติ” เลยแม้แต่น้อย
พระสุเทพที่ประกาศตัวว่า ไม่ข้องเกี่ยวกับทางโลก เทศน์นอกธรรมาสน์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเอาไว้ชัดเจนว่า “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้วแก้ปัญหาประเทศได้ ทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะอยู่อีก 3 ปี 5 ปีก็ไม่เห็นน่ารังเกียจอะไรเลย ไม่ใช่เอาแต่ความเท่ เอาแต่ยี่ห้อ แล้วก็กินไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้รูปแบบประชาธิปไตย แต่ประชาชนร้องไห้ น้ำตาไหล จะมีความหมายอะไร ตรงนี้ แล้วแต่ใครจะคิด”
นั่นแปลว่า หลวงลุงกำนันปรารถนาจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อปัดกวาดประเทศไทยให้ใสสะอาด เหมือนกับจะบอกคนที่อยู่ฟากฝั่งเดียวกันว่า ไม่ต้องรีบร้อนเลือกตั้ง ยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ยังดีกว่าปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาครองอำนาจ
และความจริงถ้าจะว่าไปแล้ว ถ้าหากย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ของนายชุมพลอย่างละเอียดนอกเหนือจากเรื่องการกลับไปซบพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะพบว่า สอดคล้องกับแนวทางของหลวงลุงกำนันเช่นเดียวเดียวกัน
นายชุมพลบอกว่า “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำงานได้ตามเป้าหมายของ กปปส.ที่ได้คาดหวังไว้แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ แต่เหลือเพียงปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของเกษตรกรเท่านั้นที่ยังแก้ไม่ได้ จึงอยากให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญมาก ดังนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลจะอยู่ได้ยาวเพราะชาวบ้านมีความสุข”
ดังนั้น การประกาศกลับไปซบพรรคประชาธิปัตย์ของแกนนำ กปปส.ในครั้งนี้ จึงอาจมีได้มีความหมายในเชิงของการเตรียมการเลือกตั้ง หากแต่เป็นการกลับไปเพื่อปฏิบัติการปัดกวาดเช็ดถูบ้านของตนเองเพื่อรอคอยการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะมาถึง โดยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เพราะถ้ายังทำการเมืองในรูปแบบเดิม ก็อย่าหวังเลยว่า จะสะกดคำว่า “ชนะ” เป็น
ที่สำคัญคือต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยประสบความสำเร็จทางการเมืองโดยสามารถชนะการเลือกตั้งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้เห็นมาเป็นเวลานานโข
เมื่อสถานการณ์ดำเนินไปในร่องรอยเช่นนี้ บอกได้คำเดียวว่า ระทึกใจยิ่ง
ระทึกใจว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใดภายใต้การชี้นำของ “ผู้มีบารมีนอกพรรคตัวจริง” ที่ชื่อ “พระสุเทพ ปภากโร”