xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดรามาหน้าเซเว่น กับวันไม่สะดวกซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถามว่า ใน พ.ศ.นี้มีคนไทยคนไหนบ้างที่ไม่เคยเข้าไปใช้บริการร้านสะดวกซื้ออย่าง “7-Eleven”

คงตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า แทบจะไม่มี ด้วยเหตุผลในเรื่องของความสะดวกสบายและสินค้าสารพัดชนิดที่วางขายอยู่ในร้าน

ดังนั้น ทุกวันนี้ 7-Eleven ซึ่งบริหารงานโดย “บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน)” หนึ่งในกลุ่มธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงกลายเป็นร้านสะดวกซื้ออันดับหนึ่ง มีสาขากว่า 8,000 แห่งกระจายอยู่แทบจะทั่วทุกตรอก ซอก ซอยของประเทศ

ทว่า ชั่วโมงนี้ 7-Eleven กำลังเผชิญกับปัญหาอันหนักอกยิ่งจาก แคมเปญรณรงค์ที่ดังกระหึ่มในโลกออนไลน์เชิญชวนให้คนไทยงดซื้อของที่ร้าน 7-Eleven ในช่วงระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม 2558 เป็นเวลา 5 วันเต็ม

นี่คือปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าจับตามองยิ่ง เพราะมิได้เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของร้าน 7-Eleven เท่านั้น หากแต่ยังสั่นสะเทือนไปถึง “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ทั้งเครือ หรือ “อาณาจักรซีพี” ทั้งอาณาจักรเลยทีเดียว

ทั้งนี้ แคมเปญดังกล่าวเป็นผลพวงจากกรณีบทความชื่อ “โตเกียวบานาน่าไทยที่แลกมาด้วยน้ำตา” ที่กล่าวถึงเรื่องราวของขนมเค้กสอดไส้คัสตาร์ดรสกล้วยยี่ห้อ “สยาม บานาน่า” ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกผู้บริหารบริษัทร้านสะดวกซื้อแสดงความสนใจสั่งซื้อมาวางขายในร้าน ก่อนจะบอกเลิก และหันมาผลิตพร้อมจัดจำหน่ายเอง ก่อนที่ผู้เผยแพร่บทความจะโดนบริษัทซีพีฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ทั้งๆ ที่มิได้มีการเอ่ยชื่อของบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด

การดำเนินการทางกฎหมายดังกล่าวเป็นเชื้อไฟอย่างดี กระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักคิดถึงความยิ่งใหญ่ของเครือซีพีที่ได้ขยายกิจการและมีอำนาจเหนือตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา ไปจนถึงปลายน้ำในกิจการ ด้านค้าปลีก และ ค้าส่ง จนส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้บริโภค

ที่สำคัญคือได้จุดประเด็นให้สังคมเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีผลบังคับใช้ แทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเลยแม้แต่น้อย

แน่นอน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ย่อมไม่สามารถอยู่นิ่งเฉย โดยพยายามอธิบายข้อมูลต่อสื่อเพื่อทำความเข้าใจว่าซีพีออลล์ และรวมถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งเครือไม่ได้ทำธุรกิจที่ผูกขาดแต่ประการใด ดังปรากฏเป็นบทความและคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารในสื่อหลายสำนัก

นอกจากนี้ ก่อนที่ “แคมเปญดังกล่าว” จะเริ่มขึ้น 2 วัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 แฟนเพจ “CP ALL” ก็ได้ชี้แจงข้อมูลเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงธุรกิจของทางบริษัทว่า ร้าน 7-Eleven มิได้เป็นของซีพีออลล์ทั้งหมด

“ร้าน 7-Eleven กว่าครึ่งเป็นแฟรนไชส์ ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการรายย่อยข
องพี่น้องคนไทยทุกภูมิภาค”

นั่นคือข้อความที่ทางซีพีออลล์พยายามอธิบายต่อสังคม

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่า คำอธิบายเรื่องจำนวนร้านแฟรนไชส์ของ 7-Eleven ที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของร้านที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 8 ,000 แห่ง ก็ไม่ได้ให้คำตอบของเรื่องทั้งหมด และมิได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าเดิม

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ โพสต์ดังกล่าวของซีพี ออลล์ ยิ่งกระตุ้นให้ ดรามายิ่งลุกลาม มีผู้เข้าแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยได้ตั้งคำถามถึงวิธีการปฏิบัติกับแฟรนไชส์ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายย่อยจริงหรือ

หนึ่งนั้น ซีพี ออลล์ก็ได้รับประโยชน์จากการขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจแบบเนื้อๆ เน้นๆ อยู่แล้ว ทั้งจากค่าแฟรนไชส์ราว 1.5 ล้านบาท ทั้งทำให้สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งทำให้ซีพีออลล์ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าบริหารจัดการบุคลากรภายในร้าน เป็นต้น

มิหนำซ้ำยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า ทำไมหลังจากที่ผู้ประกอบการ รายย่อยยอมควักเงินเพื่อซื้อแฟรนไชส์แล้ว ทำไมในเวลาต่อมาอีกไม่นานนักบนถนนเส้นเดียวกัน ซอยเดียวกัน หรือฝั่งตรงกันข้าม ซีพีออลล์ถึงยังมาเปิดร้านของตนเอง เสมือนหนึ่งต้องการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างไรอย่างนั้น

นี่ไม่นับรวมสินค้าที่วางจำหน่ายภายในร้าน ซึ่งเมื่อทอดสายตาไปก็จะเห็นว่า ซีพี ออลล์พยายามรุกเข้าไปในการค้าระดับรากหญ้า ขายทั้งไข่ต้ม ข้าวแกง และอาหารตามสั่งสำเร็จรูปมากมาย จนแทบไม่เหลือพื้นที่สำหรับคนจนค้าขาย

แถมซีพีออลล์ยังผลิตสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองออกมาจำหน่ายแข่งกับผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายย่อยอีกด้วย ซึ่งถ้าเข้าไปดูในร้าน 7-Eleven ก็จะเห็นสินค้าของ “เฮ้าส์แบรนด์” ของซีพีวางขายเกร่อ ขณะที่แผงเพื่อวางสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นเริ่มถูกเบียดบังพื้นที่

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ในโลกออนไลน์ยังมีการแชร์ภาพการรุกคืบและการกินรวบของ 7-Eleven ที่กำลังขยายตัวออกไปในหลากหลายธุรกิจ เช่น การเปิดขาย “อาหารตามสั่ง” ที่สาขาประชาสงเคราะห์ 23 การเปิดให้บริการ “ซัก อบ รีด ตลอด 24 ชั่วโมง” ที่สาขาสีลม ซอย 9 รวมกระทั่งถึงการจัดส่งสินค้าผ่านทาง 7-Eleven ที่ใช้ชื่อว่า ม้าขาว ให้บริการส่งสินค้าและพัสดุครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย ด้วยระบบ SMS ที่จะคอยแจ้งเตือนตลอดกระบวนการ สามารถรับสินค้าที่สั่งไว้ได้ผ่านร้านค้า 7-Eleven ที่เลือกได้เอง พร้อมทั้ง ระบุหมายเลขและรหัสสินค้าที่ชัดเจน กับกล่องพัสดุคุณภาพ รวมทั้งการรุกคืบเข้าไปสู่ธุรกิจขายกาแฟด้วยการเปิดคีออสก์จำหน่ายกาแฟสดและเครื่องดื่มต่าง ๆ ในราคาที่เรียกว่าสั่นสะทือนร้านขายกาแฟทั่วประเทศกันเลยทีเดียว

และนั่นก็เป็นที่มาของคำถามที่ซีพี ออลล์แก้ไม่ตกว่า 7-Eleven จะไม่เหลือพื้นที่ธุรกิจเอาไว้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยบางเลยหรือ

กล่าวสำหรับซีพีออลล์นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลธุรกิจพบว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมาบริษัทได้รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยว่า มีรายได้รวมเท่ากับ 371,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 284,670 ล้านบาท ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 30.4 % เนื่องจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้ 1.การรับรู้รายได้ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ระยะเวลา 12 เดือน ในปี 2557 เทียบกับระยะเวลา 6 เดือน ปี 2556 โดยรายได้ตามส่วนธุรกิจแม็คโครปี 2557 เท่ากับ 142,537 ล้านบาท 2.การขยายสาขาร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพิ่มขึ้นจาก 7,429 สาขาในปี 2556 เป็น 8,127 สาขาในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 9.4 %

อัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าและบริการ (ไม่รวมบัตรโทรศัพท์ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ) เพิ่มขึ้นจาก 25.6 % ในปี 2556 เป็น 25.8 % ในปี 2557 จากการเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ในขณะที่สัดส่วนกำไรขั้นต้นในงบการเงินรวมของบริษัทลดลงจาก 22.6 % ในปี 2556 เป็น 21.3 % ในปี 2557 เนื่องจากการบันทึกกำไรขั้นต้นจากผลการดำเนินงานแม็คโคร ในปี 2557 เป็นระยะเวลา 12 เดือน เทียบกับปี 2556 ซึ่งรับรู้ผลประกอบการแม็คโครระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งธุรกิจแม็คโครมีสัดส่วนกำไรขั้นต้นน้อยกว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

สรุปแล้วก็คือในปี 2557 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 21,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.8 % จากปี 2556 และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 10,154 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบอีกด้วยว่า นอกจากร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แล้ว บริษัทซีพีออลล์ยังมีธุรกิจในเครืออีกเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย
1.บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (CS) ตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ และเป็นนายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย
2.บริษัท ซีพีแรม จำกัด (CPRAM) ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งและเบเกอรี่
3.บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด (CPR) จำหน่ายและซ่อมแซมอุปกรณ์ค้าปลีก
4.บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด (TSC) บริการจัดหาเครื่องรับบัตร ให้บริกาารบันทึกข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเงินสด
5.บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (GOSOFT) บริการด้านระบบสารสนเทศ
6.บริษัท เอ็ม เอ เอ็ม ฮาร์ท จำกัด (MAM) บริการด้านกิจกรรมการตลาด การออกแบบโฆษณา
7.บริษัท ไดนามิค แมนเนจเม้นท์ จำกัด (DM) บริการด้านโลจิสติกส์และซื้อขายสินค้าทั่วไป
8.บริษัท ศึกษาภิวัฒน์ จำกัด (SPW) บริการด้านการศึกษา อันได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเปิดสอนในระดับอาชีวศึกษา และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท
9.บริษัท ปัญญธารา จำกัด (PTR) ฝึกอบรม และการจัดสัมมนาทางวิชาการ
10.บริษัท ออลล์ เทรนนิ่ง จำกัด (ATN) ฝึกอบรมให้กับนิติบุคคลในเครือเดียวกัน
11.บริษัท เทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด (24shopping) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยระบบออนไลน์
12.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (Makro) ธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการขยายช่องทางธุรกิจภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท อาทิ ธุรกิจ 7-Catalog Order ช่องทางธุรกิจด้านการสั่งซื้อสินค้าผ่านทาง “วารสารแคตตาล็อก” ,ธุรกิจ บุ๊คสไมล์ (Book Smile) ช่องทางในการจำหน่ายหนังสือและวารสาร ,ธุรกิจ เอ็กซ์ต้า (eXta) ร้านสุขภาพและความงาม ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าประเภทยาและเวชภัณฑ์ สินค้าสุขภาพ และเครื่องสำอาง,ธุรกิจ คัดสรร (Kudsan) ช่องทางจำหน่ายสินค้าที่คัดสรรพิเศษทั้งกาแฟและเบเกอรี่,ธุรกิจ เบลินี (Bellinee’s) ร้านเบเกอรี่และกาแฟ ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งเบเกอรี่อบสดผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ และเค้กหลากหลายสไตล์

ยิ่งเมื่อขยายวงไปถึงเครือซีพีทั้งเครือ ก็ยิ่งทำให้คนเห็นชัดเจน เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ล้วนแล้วแต่มีเครือซีพีเข้าไปเกี่ยวข้องแทบจะทุกไลน์ในสินค้าอุปโภค-บริโภค

ปฏิบัติการตอบโต้ข้อมูลยังไม่จบเมื่อเฟซบุ๊กแฟนเพจ "We are CP" ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสำหรับพนักงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นซีพีเอฟ ซีพีออลล์ ทรู ซีพีอินเตอร์เทรด ซีพีแลนด์ ฯลฯ ได้จัดทำอินโฟกราฟิกส์ในหัวข้อ "ข้อสงสัย-ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ ซีพี" เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ และทำความเข้าใจกับสังคมในทุกประเด็น

ตัวอย่างเช่น ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีจะผูกขาดทุกอย่าง" ชี้แจงว่า ซีพีไม่ได้มีความเก่งหรือถนัดทำทุกอย่าง ธุรกิจหลักของซีพีคือ อาหารคนและอาหารสมอง

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีผันตัวเองไปทำธุรกิจข้ามชาติ แล้วไปไม่รอดเพราะรัฐบาลประเทศนั้นดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดในประเทศ" ชี้แจงว่า ซีพีไปทำธุรกิจข้ามชาติเพราะรัฐบาลประเทศต่างๆ เชิญไปช่วยลงทุนพัฒนาเกษตรกรอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ประชาชนของประเทศนั้น ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม โดยปัจจุบัน ซีพีตอบรับไปลงทุนรวม 16 ประเทศ

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพียังมีธุรกิจสื่อสาร เคเบิ้ลทีวี ธุรกิจลอจิสติกส์แข่งกับไปรษณีย์ไทย จะมีธนาคาร จะลงทุนรถไฟความเร็วสูง" ชี้แจงว่า ซีพีดำเนินธุรกิจสื่อสารเพราะถือเป็นธุรกิจอาหารสมองที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่วนการทำธุรกิจไปรษณีย์เป็นการต่อยอดธุรกิจเนื่องจากซีพีมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ตั้งอยู่ในชุมชนเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่วนเรื่องของธนาคาร ซีพีไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด

ส่วนกรณีของรถไฟความเร็วสูง ซีพีเห็นว่าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม แต่สิ่งนี้ต้องอาศัยการลงทุนที่สูงและต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้าง ซีพีดำเนินธุรกิจในประเทศจีนจึงมีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการของจีนที่มีความรู้ความสามารถในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จึงเห็นว่าซีพีน่าจะช่วยดำเนินการสิ่งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีมีอิทธิพลเหนือทุกรัฐบาล ไม่มีใครกล้าทำอะไร" ชี้แจงว่า ซีพีเป็นผู้ประกอบการไทยที่ให้ความเคารพในกฎหมาย กฎระเบียบของสังคม ไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมือง ที่ผ่านมารัฐบาลหรือองค์กรทางการเมืองได้ขอความร่วมมือหรือขอความคิดเห็นต่อการดำเนินนโยบายในการพัฒนาหรือปัญหาของประเทศ ซึ่งซีพีก็ได้เสนอแนะ ข้อคิดตามประสบการณ์และความรู้ที่ซีพีมี ซีพีเป็นภาคเอกชนไทยที่ต้องการเห็นการพัฒนาประเทศที่มั่นคง แข็งแรง เป็นประโยชน์ ตามปรัชญาค่านิยมที่ว่าด้วย 3 ประโยชน์ คือ ทำอะไรจะต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติก่อน ตามมาด้วยประชาชนได้ประโยชน์และค่อยมาถึงบริษัท

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ทั้งเทสโก้ โลตัส แม็คโคร โดนซีพีซื้อ ค้าปลีก ค้าส่ง เกือบทั้งประเทศตกอยู่ในกำมือของบริษัท" ชี้แจงว่า ซีพีให้ความสนใจเรื่องการค้าปลีกและค้าส่งมานานและเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีการพัฒนาด้านการค้าที่ทันสมัย สะดวกสบายและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ซีพีจึงได้เป็นผู้ริเริ่มนำเทสโก้ โลตัส และแม็คโคร เข้ามาในประเทศไทย แต่ต้องขายกิจการทั้งสองในช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

ซีพีเพิ่งซื้อกิจการแม็คโครกลับคืนมา ซึ่งมีตลาดที่สำคัญคือร้านค้าย่อย ร้านอาหาร ภัตตาคาร กิจการโรงแรม ซีพีไม่ได้คุมกิจการอย่างที่เข้าใจ แม้แต่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซีพีก็มีสาขาอยู่ปัจจุบัน 8 พันสาขา ขณะที่ร้านโชห่วยทั่วประเทศมีอยู่ถึง 8 แสนราย ซีพียังมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ร้านโชห่วยมีความรู้ มีการบริหารจัดการร้านที่ทันสมัยและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีทำให้ผู้ค้ารายย่อย เช่น โชห่วย อยู่ไม่ได้ ไปแย่งอาชีพคนอื่นหมด" ชี้แจงว่า ซีพีไม่ได้มีนโยบายไปทำลายผู้ค้ารายย่อย และตามข้อเท็จจริงปัจจุบันไทยยังมีผู้ค้ารายย่อยหรือร้านโชห่วยอยู่ราว 8 แสนราย ขณะที่ซีพีมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ราว 8,000 สาขาทั่วประเทศหรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 โดยให้บริการคนไทยอยู่ราว 30 ล้านคน นอกจากนี้ซีพีมีนโยบายสนับสนุนร้านโชห่วยด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการค้าสมัยใหม่

นอกจากนี้ยังใช้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นแขนขาด้านการตลาดให้กับเอสเอ็มอีกว่า 990 ราย คิดเป็นสินค้าจากเอสเอ็มอีจำนวน 30,000 รายการ ส่วนการที่ร้านโชห่วยล้มเลิกไปสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขาดลูกหลานที่จะมาดำเนินกิจการ การปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ซีพีแข่งขันแบบเป็นธรรมกับใครไม่เป็น" ชี้แจงว่า ซีพีเชื่อมั่นในการแข่งขันเสรี และไม่เชื่อว่าการทำธุรกิจผูกขาดจะเป็นผลดี เพราะการผูกขาด ทำให้ขาดประสิทธิภาพ ขาดการสร้างสรรค์ ซีพีเชื่อมาตลอดว่าเราไม่ได้เก่งตลอดเวลา ไม่ได้เก่งอยู่คนเดียว จึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ซีพีอยากเห็นผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาขีดความสามารถอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่สม่ำเสมอ

ข้อกล่าวหาที่ว่า "ไทยกับเม็กซิโกคล้ายกัน คือสินค้าเกษตรถูกคุมตลาดจากบริษัทเกษตรกรที่ผูกขาด" ชี้แจงว่า ตามข้อเท็จจริงผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรของประเทศไทยไม่ได้มีการผูกขาด มีผู้ประกอบการมากกว่า 2-3 ราย และซีพีมีนโยบายที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศร้อยละ 25 ส่วนที่เหลือเป็นการมุ่งทำตลาดในต่างประเทศ อีกทั้งซีพีไม่มีอำนาจเหนือตลาด ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของดีมานด์ ซัพพลาย

ในขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมามูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า จากการติดตามปัญหาเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การคุ้มครองผู้บริโภค และอิทธิพลของบรรษัทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง เห็นร่วมกันว่าขณะนี้ปัญหาการมีอิทธิพลเหนือตลาด และการมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐโดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่บางรายนั้นเกิดขึ้นจริง จนเกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถูกกลั่นแกล้งจากอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ การไม่ได้รับความเป็นธรรมและต้องรับภาระความเสี่ยงในการเลี้ยงสัตว์ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาที่บริษัทเป็นผู้ผูกขาดปัจจัยการผลิต กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางถูกกีดกันและเอาเปรียบจากการวางจำหน่ายสินค้าในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น จึงขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน และเห็นว่านี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งในฐานะผู้บริโภคที่จะตัดสินใจไม่อุดหนุนสินค้า และในฐานะพลเมืองที่ต้องการสื่อสารเพื่อสะท้อนความอ่อนแอของกฎหมายและนโยบายที่อำนวยผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนรายใหญ่มากกว่าจะคุ้มครองประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภค

“เราขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มร่วมกันสนับสนุนและเคลื่อนไหวเพื่อให้การรณรงค์นี้นำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเลย ทั้งนี้ โดยต้องลดสัดส่วนและอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน กำหนดขอบเขตความหมายของบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด ร่วมกันออกแบบให้กฎหมายนี้สามารถดำเนินการและบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนได้ในที่สุด”แถลงการณ์ระบุ

แน่นอนว่า ปรากฏการณ์ “วันไม่สะดวกซื้อ” ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นอารมณ์ร่วมของสังคมที่มีต่อ 7-Eleven และบริษัทในเครือซีพีที่กำลังขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ และในที่สุดแล้วอาจจะย่ำรอยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง “ปตท.” ที่กำลังเผชิญกระแสต่อต้านในเรื่องการผูกขาดจนต้องตัดสินใจขายหุ้นใน “บางจาก” ออกไปให้กับสำนักงานประกันสังคมและกองทุนวายุภักษ์

อย่างไรก็ตาม ดรามาหน้าเซเว่นจากหลายฝ่ายในครั้งนี้ อาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ หากผู้บริหารระดับสูงของซีพีจะรับฟังปฏิกิริยาของคนในสังคม และทบทวนปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารตอบโต้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟันอันมีแต่จะขยายความร้าวฉานระหว่างซีพีและผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยให้ลุกลามมากขึ้น มาเป็นช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีสินค้าที่ดีได้ลืมตาอ้าปาก มีที่มีทางในเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นโดยไม่ไปออกสินค้าในเครือประกอบ หรือการหาสินค้าออร์แกนิกส์ที่ดีต่อสุขภาพมาวางขายนอกเหนือจากสินค้าของผู้ผลิตรายใหญ่ๆ เพียงไม่กี่เจ้า หรือเสนอโควตาให้คนพิการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในร้านสะดวกซื้อของตนเอง

ตัวอย่างเล็กน้อยเหล่านี้ อาจจะสร้างความรู้สึกเป็นมิตรให้กับหลายคนที่ติดกับดรามาหน้าเซเว่นได้ไม่น้อย

ถ้าทำได้ ความรู้สึกร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของร้านสะดวกซื้อโมเดิร์นเทรดที่มีบริษัทคนไทยเป็นเจ้าของ ทั้งเครือซีพี ผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชส์ เจ้าของร้านหมูปิ้งที่อาศัยทำเลรอบๆ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และผู้บริโภคชาวไทยก็จะเชื่อมโยงกัน

แนวคิดที่ว่า ยิ่งมียิ่งต้องให้ ยิ่งใหญ่ต้องยิ่งถ่อมตัวนั้นสำคัญกว่า ฟ้าเป็นของนก น้ำเป็นของปลา พสุธาเป็นของ....

แน่นอนว่า ดรามาวันไม่สะดวกซื้อดังกล่าว ผู้คนย่อมไม่ได้คาดหวังให้เซเว่นอีเลฟเว่นถึงกับต้องเจ๊งปิดกิจการ เพียงแต่เป็นการสื่อสารที่ต้องการให้นายทุนได้เข้าใจมุมมองของคนทั่วไปที่มีต่อบริษัทแห่งนี้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แคมเปญดังกล่าวก็อาจไม่ได้สร้างความสั่นสะเทือนในเรื่องยอดขายในช่วงไม่กี่วันนี้แม้แต่น้อย

เพราะอย่างไรก็ตาม เซเว่นอีเลฟเว่นก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของชุมชนอย่างที่ต่างก็ขาดกันและกันไม่ได้อยู่แล้ว


ร้านอาหารตามสั่งนำร่องสาขาแรกของเซเว่นอีเลฟเว่นที่ประชาสงเคราะห์ ซอย 23 (ม.หอการค้าไทย)
ห้บริการซัก-อบ-รีด ใน 7 สาขาคือสาขาศาลปกครอง, สาขาวิภาวดี 64, สาขา A-Space ดินแดง, สาขา The Parkland ท่าพระ, สาขา Happy Park Ploenchit สุขุมวิท 1, สาขาสาทร ซอย 10 และสาขา เมโทรพาร์ค (สาทร)
บริการรับ-ส่งพัสดุทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น