xs
xsm
sm
md
lg

ต้าน7-11วันแรกคนเข้าร้านบางตา ซีพีโต้ปัดทำลายรายย่อย เจอตอกกลับหักหลังตลอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เช็กกระแสต้านซื้อสินค้าเซเว่น อีเลฟเว่นวันแรก ยังประเมินไม่ได้ แต่พบบางสาขาคนเข้าน้อยลงจริง เผยต้องรอสรุปยอดขายจากซีพีอีกครั้งก่อน "ผู้กองปูเค็ม"โพสต์เฟซถึงเวลาดีดหูเจ้าสัว พร้อมเขียนป้ายประจานหน้าเซเว่น ด้านคนซีพีดาหน้าโต้โลกออนไลน์ ยันไม่ได้ผูกขาด ปัดทำลายผู้ค้ารายย่อย เจอสวนกลับแฟรนไชส์ทำเงินดี มาเปิดข้างๆ ทันที ลือสะพัด "เจ้าสัวธนินท์" สั่งตรวจสอบเบื้องหลังสงครามทุบหม้อข้าวแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 พ.ค.) เป็นวันแรกที่สังคมออนไลน์ได้ร่วมรณรงค์งดซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ค.2558 เพื่อต่อต้านการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งจากการตรวจสอบร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ต่างๆ พบว่า มีประชาชนยังคงเข้ามาเลือกซื้อสินค้าตามปกติ แต่บางสาขาก็มีจำนวนคนลดลง ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่ากระแสการต่อต้านส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายสินค้าของเซเว่น อีเลฟเว่นหรือไม่ เพราะยังเป็นวันแรกของการรณรงค์

ทั้งนี้ หากจะประเมินว่ายอดขายสินค้าลดลงหรือไม่ ก็ต้องรอการประเมินผลการจำหน่ายจากทางเซเว่น อีเลฟเว่นอย่างเป็นทางการก่อน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีการแจ้งผลหรือไม่

สำหรับบรรยากาศในต่างจังหวัด ผู้สื่อข่าวได้ทำการสำรวจในพื้นที่ต่างๆ และได้สอบถามประชาชนที่มาใช้บริการ พบว่า มีบางส่วนที่รู้ว่ามีกระแสการต่อต้านเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ แต่บางส่วนก็ไม่ทราบ โดยในพื้นที่พัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว พบว่า บรรยากาศร้านเซเว่น อีเลฟเว่นหลายแห่งไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา โดยพนักงานแจ้งว่า ลูกค้ามาใช้บริการน้อยลง แต่ไม่ทราบสาเหตุว่าเพราะอะไร แต่จากการสอบถามเพื่อนจึงได้รู้ว่ามีกระแสต่อต้านอยู่

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีผู้ที่กระทำการต่อต้านเซเว่น อีเลฟเว่นอย่างชัดเจน โดย ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม อดีตทหารนอกราชการ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "ผู้กองปูเค็ม" ว่า ยุทธการดีดหูเจ้าสัวมาตามนัดแล้ว หากกลุ่มบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังไม่เลิกธุรกิจที่เอาเปรียบคนจนผู้กองปูเค็มจะยกระดับกิจกรรมต้านให้เข้มข้นขึ้นอีก

พร้อมกันนี้ ผู้กองปูเค็มยังได้นำแผ่นป้าย เช่น ANTI CP เมื่อแฟรนไชส์ขายดี CP เปิดสาขาแข่ง ทำร้ายเพื่อร่วมธุรกิจ และหลอกลวงล้วงสูตรลับ สยามบานาน่า เป็นต้น ไปยืนประท้วงอยู่หน้าสาขาของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแจ้งวัฒนะ

ส่วนเพจเฟซบุ๊ก We are CP ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสำหรับพนักงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ ทรู ซีพีอินเตอร์เทรด ซีพีแลนด์ ได้จัดทำอินโฟกราฟิกส์ในหัวข้อ "ข้อสงสัย-ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ ซีพี" เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ในโซเชียลมีเดียกำลังโจมตีในขณะนี้

ข้อกล่าวหาที่ได้มีการชี้แจง เช่น ซีพีไม่ได้ผูกขาด เพราะไม่เก่งหรือถนัดทำทุกอย่าง ธุรกิจหลัก คือ อาหารคนและอาหารสมอง , ซีพีทำธุรกิจข้ามชาติ เพราะรัฐบาลประเทศต่างๆ เชิญไปลงทุน เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและราคาเป็นธรรม โดยปัจจุบันไปลงทุนรวม 16 ประเทศ , ซีพีทำธุรกิจสื่อสาร เพราะเป็นธุรกิจอาหารสมอง ทำธุรกิจไปรษณีย์ เป็นการต่อยอดธุรกิจ ส่วนธนาคาร ไม่ได้ดำเนินการ , ลงทุนรถไฟความเร็วสูง เพราะเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน , ซีพี ไม่ได้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล มีแต่เสนอแนะข้อคิด ประสบการณ์ , ซีพีให้ความสนใจค้าปลีกค้าส่ง แต่ไม่ได้อยู่ในกำมือซีพีทั้งหมด จะมีก็การซื้อแม็คโครกลับคืน ส่วนเซเว่น อีเลฟเว่น มี 8 พันสาขา แต่โชห่วยมี 8 แสนราย ซึ่งซีพีได้มีนโยบายส่งเสริมร้ายโชห่วยให้อยู่รอด มีการพัฒนา และไม่ได้ทำลายผู้ค้ารายย่อย , เซเว่น อีเลฟเว่น ยังเป็นแขนขาด้านการตลาดให้กับเอสเอมอีกว่า 990 ราย คิดเป็นสินค้า 3 หมื่นรายการ , ซีพีมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่มีการผูกขาด และไทยไม่มีการผูกขาดธุรกิจด้านการเกษตรเหมือนเม็กซิโก เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังพบบทความที่เผยแพร่ในองค์กรที่ทำออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาจากสังคมออนไลน์ โดยผู้ใช้นามแฝงว่า "กฤษณ์ วิชะยา" กล่าวโดยสรุปว่า โซเชียลมีเดียเมืองไทยแสดงความรู้สึกต่อปรากฏการณ์ค้าปลีก ค้าส่งของเมืองไทยแบบสวนทางกับทฤษฎี ตำราที่มีมา คนกลุ่มหนึ่งพยายามให้หยุดซีพี แล้วเชียร์เอสเอ็มอี อาจหมายถึงการถอยหลังเข้าคลอง ทั้งที่ซีพีเดินหน้าไปแล้วแต่เอสเอ็มอีเพิ่งจะเดินหน้า ร้านโชห่วยหรืออะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในสนามเดียวกับซีพียังทำการผลิตแบบเดิม ทำการค้าแบบเดิม คิดแบบเดิม จึงไม่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยีเท่าซีพี ซึ่งหากเราไม่มองจุดนี้หรือศึกษาให้ดีก็จะเข้าใจว่าซีพีผูกขาด ครอบงำตลาด เกิดความเข้าใจผิดไปตลอด การต่อต้านก็คือการทำลายล้าง ทำไมไม่ส่งเสริม สร้างสรรค์ คิดบวก เรียกร้องให้ซีพีมาช่วยน้องเล็ก ช่วยสร้างการเติบโต หมดเวลาแล้วที่คนไทยคิดจะจ้องทำร้ายกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แย่ลงไปอีก

นอกจากนี้ ยังพบบทความของผู้ใช้นามแฝง "Bundid Think" ที่ชื่อว่า "ทำอย่างไรเมื่ออยู่ในองค์กรที่มีดราม่า?" ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้เขียนเป็นพนักงานบริษัทด้านไอทีในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่า ในยุคที่โซเชียลบูม แล้วมีดราม่าเกิดขึ้นทุกวัน เชื่อว่าวันหนึ่งอาจมีเรื่องดราม่าขององค์กรที่ทำงานอยู่ก็ได้ บางคนก็ดราม่าตามกระแส เกลียดชังองค์กรตัวเอง บางคนก็รักองค์กรยิ่งชีพ ปกป้องทุกอย่างจนทะเลาะกับเพื่อนไปเลยก็มี จึงมีข้อปฏิบัติง่ายๆ 5 ขั้นตอน ที่จะไม่ให้เสียงานและไม่เสียเพื่อน ได้แก่ ตั้งสติ หาข้อมูล ชี้แจง ปล่อยวาง และทำความดีเพื่อพิสูจน์

อีกด้านหนึ่ง รายการ "ขยายข่าว" โดยทิน โชคกมลกิจ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ข่าว TNN 24 ทีวีดิจิตอลช่อง 16 ซึ่งเป็นของบริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ในเครือทรูคอร์ปอเรชั่น ได้จัดรายการในหัวข้อ "เรื่องจริง...ธุรกิจในโลกเสรี" โดยได้เชิญนายเสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นแขกรับเชิญ

นายเสรีระบุถึงข้อกล่าวหาที่ว่าซีพีไปรังแกโชห่วยตายหมดทั่วประเทศ ว่า ถ้าสมมติว่าเขาทำโดยขาดจริยธรรม เอาเปรียบ กีดกัน อันนั้นค่อยว่ากัน แต่ถ้าเขาทำครรลองไปตามธุรกิจแล้วกระทบใคร คนที่ถูกกระทบต้องปรับตัว ไม่จำเป็นต้องตาย แต่เราต้องรู้ว่าจะต้องปรับอย่างไร ไม่งั้นจะถูกตำหนิว่าเก่าแล้ว การมองตัวเองและปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญ

ก่อนหน้านี้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า "รู้หรือไม่? ร้าน 7-Eleven กว่าครึ่งเป็นแฟรนไชส์ ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการรายย่อยของพี่น้องคนไทยทุกภูมิภาค" แต่เจอสวนกลับว่า หากร้านแฟรนไซส์ขายดี ก็จะมีร้านสาขาของ 7-Eleven มาเปิดเพิ่มใกล้ๆ กัน หรือฝั่งตรงข้ามทันที ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้ซื้อแฟรนไชส์จริงหรือไม่

ล่าสุด มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศราว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหลังกระแสต้านธุรกิจซีพี และเซเว่น อีเลฟเว่นแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น