xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพี” มุ่งชอปปิ้งโฮมหมื่นล้าน 3 ปี เปิดเว็บรุกจีน-ทุ่ม 200 ล้านอัปเกรด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด
นายอำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า “ซีพี ออลล์” ได้เปิดธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นการพัฒนาการทำธุรกิจจากหน่วยงาน “เซเว่นแคตตาล็อก” มาเป็นการบริหารจัดการในรูปแบบบริษัทภายใต้ชื่อ “บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด” เพื่อให้บริการสั่งจองและจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางที่หลากหลาย (Omni Channel) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557

ปัจจุบัน “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง” มีจำนวนลูกค้า 1.7 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโต 7% ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 70% ส่งผลให้ปี 2557 มียอดขาย 3.4 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 25% แบ่งเป็นยอดขายจากลูกค้าในกรุงเทพฯ 44% และต่างจังหวัด 56% ส่วนในปี 2558 ตั้งเป้าหมายยอดขายรวมประมาณ 4.7 พันล้านบาท หรือเติบโตกว่า 34% เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ขยายตัวมากขึ้น และมีคู่ค้าที่มีสินค้าเข้ามาร่วมจำหน่ายกับบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นถึง 5.5 หมื่นราย จากเดิมที่มีเพียง 3 หมื่นราย โดยคาดว่าในปี 2558 จะมียอดขายเติบโตเฉลี่ย 30% หรือมียอดขายรวมถึง 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2560

สำหรับสัดส่วนยอดขายของบริษัทฯ มาจากร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 70% โดยมีลูกค้าเข้าใช้บริการเฉลี่ยกว่า 10 ล้านคนต่อวัน ส่วนอีก 15-20% มาจากนิตยสาร และอีก 10-15% เป็นช่องทางออนไลน์และเว็บไซต์ โดยคาดว่าภายใน 3 ปีจะเติบโตเพิ่มขึ้นและทำรายได้ถึง 1 พันล้านบาทจากปัจจุบันที่ยังมีเพียง 100 ล้านบาท

โดยล่าสุดได้เปิดตัวเว็บไซต์ขายสินค้า www.taiwang.com เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าชาวจีนโดยตรง โดยบริษัทฯ จะใช้งบประมาณการตลาด 8-9% ของยอดขายในการจัดรายการส่งเสริมการขายและโปรโมชันต่างๆ รวมถึงเพิ่มจำนวนสินค้าให้มีความหลากหลายและครอบคลุมความต้องการมากขึ้น

“บริษัทฯ ยังมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจ SMEs ด้วยการเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs นำสินค้ามาจำหน่ายผ่านนิตยสาร 7-Catalog มากกว่า 100 ราย พร้อมทั้งยังได้วางแผนงานเพื่อรองรับการขยายงานและการเติบโตด้วยการพัฒนาการจัดส่งในรูปแบบของ “สโตร์ฮับ” คือ การให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้ามาเก็บไว้ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อพักสินค้าชั่วคราวก่อนที่รถขนส่งจากศูนย์กระจายสินค้าส่วนกลางของ 7-Catalog จะมารับเพื่อไปส่งต่ออีกทอดหนึ่ง”

นายอำพากล่าวด้วยว่า ในปี 2558 บริษัทฯ มีแผนลงทุนทางด้านไอทีและเทคโนโลยีต่างๆ จากประเทศเยอรมนี ด้วยมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงการให้บริการสั่งจองสินค้าในทุกช่องทางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความสะดวกราบรื่น รวมถึงพัฒนาระบบกระจายสินค้าและจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าให้ตรงเวลาด้วยความรวดเร็วและปราศจากข้อผิดพลาด หรือความเสียหายใดๆ ทั้งยังจะเพิ่มการจัดส่งสินค้าจากเดิมที่ยังคงมีเพียงวันละ 1 ครั้ง

นายอำพากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนของนิตยสาร 7-Catalog เป็นนิตยสารราย 2 เดือน มียอดพิมพ์ 4 แสนฉบับ แจกฟรีให้สมาชิกจำนวน 2 แสนฉบับ และจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ราคาเล่มละ 10 บาท จำนวน 2 แสนฉบับ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1.7-1.8 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มอีกประมาณ 1.5-2 แสนคนในปี 2558 โดยเป็นสมาชิกใหม่จากการซื้อนิตยสารประมาณ 3 หมื่นคนต่อฉบับ

“บริษัทฯ แบ่งระดับลูกค้าในส่วนของนิตยสาร 6 ส่วน โดยพิจารณาจากการซื้อหลังได้รับนิตยสาร โดยระดับที่ 1 จะมีการตอบรับ 50% ระดับที่ 2 ประมาณ 30% ระดับที่ 3 ประมาณ 20% ระดับที่ 4 ประมาณ 10% ส่วนที่เหลือเป็นระดับที่ 5-6 โดยแต่ละคนมีกำลังซื้อประมาณ 700-800 บาทต่อครั้ง โดยแต่ละฉบับจะมีการคงสินค้าที่จำหน่ายดีประมาณ 60% และหมุนเวียนสินค้าใหม่ 40%”

นายอำพากล่าวอีกว่า สำหรับการจำหน่ายผ่านเว็บไซต์มีการกำหนดอย่างชัดเจน คือ www.7catalog.com เป็นการจำหน่ายในรูปแบบเดียวกันกับนิตยสาร ขณะที่ www.shopat7.com มีสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุมความต้องการลูกค้ามากกว่า ส่วน www.amuletat7.com เน้นการจำหน่ายวัตถุมงคลและเผยแพร่โครงการบุญกุศลต่างๆ โดยแต่ละคนมีกำลังซื้อประมาณ 2-3 พันบาทต่อครั้ง เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีมูลค่าสูง เช่น สินค้าไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น