xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! พลังโซเชียลฯ สั่งสอนเจ้าสัว รณรงค์ไม่เข้าเซเว่น งดใช้สินค้าซีพี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากกระแสดรามาเอาเปรียบบริษัทขนาดเล็กโดยนำสินค้าไปลอกเลียนแบบจนได้รับความเสียหายทางธุรกิจ และอีกหลายกรณี ปลุกกระแสโซเชียลฯ ตื่นตัว รณรงค์ไม่เข้า 7-eleven ไม่ใช้สินค้าซีพี 5 วัน (7-11 พ.ค.58) หวังสั่งสอนบริษัทยักษ์ใหญ่หยุดเอาเปรียบสังคม ในขณะที่บางกลุ่มเรียกร้องกฎหมายควบคุมการผูกขาดเพื่อปกป้องการทุ่ม หรือครอบงำตลาดของผู้ประกอบการที่นับวันยิ่งอำมหิตมากขึ้นทุกที

เกาะกระแสโซเชียลฯ สั่งสอนเจ้าสัว!

ตกเป็นเป้าหมายโจมตีของผู้ใช้สังคมออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะกรณีมีการเผยแพร่บทความ "แบ่งปัน SIAM BANANA โตเกียวบานาน่าไทย แบบมีกล้วยอยู่จริงๆ ที่แลกมาด้วยน้ำตา" ที่กล่าวถึงเรื่องราวของขนมเค้กสอดไส้คัสตาร์ดรสกล้วยยี่ห้อ "สยาม บานาน่า" ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกผู้บริหารบริษัทร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งแสดงความสนใจจะสั่งซื้อเพื่อวางขายในร้าน ก่อนจะบอกเลิก และหันมาผลิตพร้อมจัดจำหน่ายเอง กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจพร้อมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย


แม้ทางฝั่ง บมจ.ซีพี ออลล์ ได้ออกมาชี้แจงรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวไปแล้วว่าได้มีการเจรจาธุรกิจจริง แต่อยู่ระหว่างการเจรจา และพัฒนาสินค้าร่วมกัน ส่วนขนมปังรสกล้วยของบริษัท นั่นก็คือ เลอแปงก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบ แต่มีกรรมวิธีผลิตเฉพาะที่แตกต่าง และพัฒนาโดยทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทเองซึ่งมีอยู่กว่า 200 คน

ทว่า ชาวสังคมออนไลน์ก็ยังคงคลางแคลงใจกับการตอบข้อสงสัยของร้านสะดวกซื้อเจ้านี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่อ้างว่ามีทีมวิจัยพัฒนาสินค้าโดยมิได้ลอกเลียนแบบ

ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ จึงลงพื้นที่สำรวจในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ในเขตพระนคร และเขตบางกอกน้อย กทม.รวม 7 สาขา พบ *สินค้าตราห้างในเครือของบริษัทฯ หลายชนิด มีความคล้ายคลึงกันกับสินค้าอีกยี่ห้อหนึ่ง อาทิ เซเว่น ซีเล็ค แลคติก ดริ้งค์, เลอ แปง พ็อกเก็ต แซนด์วิช ไส้ทูน่า, เลอ แปง ขนมปังหน้าสังขยาใบเตย, เซเว่น ซีเลคชั่น มิลค์ แทบเล็ต แคนดี้, เซเว่น ซีเล็คท์ เจลลี่ แบร์ และ เซเว่น ซีเลคท์ - นิชชิน รสซุปเปอร์ต้มยำกุ้ง (คลิกดูรูปเปรียบเทียบได้ที่นี่ > ส่อง 7-Eleven ปั้นเฮาส์แบรนด์ตีคู่สินค้าต้นตำรับ ไม่เว้นแม้จอลลี่แบร์!


*เฮาส์แบรนด์ หรือ สินค้าตราห้าง (House Brand) คือ สินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ซูเปอร์มาร์เกตนั้นๆ โดย สินค้าตราห้างจะเป็นสินค้าที่มีคุณลักษณะและคุณสมบัติเหมือนหรือใกล้เคียงกับสินค้าจากผู้ผลิตต้นตำรับหรือผู้ผลิตอื่นในท้องตลาด แต่มักจะมีข้อได้เปรียบด้านราคา


กระทั่งล่าสุด เกิดปฏิกริยาอย่างกว้างขวางจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการรณรงค์ไม่เข้า 7-eleven และไม่ใช้สินค้าของซีพีในระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม 2558 เพื่อเป็นการสั่งสอนบริษัทยักษ์ไม่ให้เอาเปรียบสังคม

แค่ 5 วัน คนซื้อก็ไม่ตาย คนขายก็ไม่เจ๊ง เพราะแปะแกรวยมากมหาศาล เราเองยังใช้ทุยมูฟของเฮียแกเลย หนีแกไม่พ้นหรอก แต่ถ้าทุกค...

Posted by Arwin Intrungsi on Saturday, May 2, 2015


ด้าน เพจ Drama-addict ก็ได้นำไปแชร์ต่อ พร้อมระบุข้อความแสดงทัศนะส่วนตัวไว้ดังนี้


"มีคนรณรงค์ให้ต่อต้านเจ้าสัวด้วยการงดเข้าเซเว่นว่ะ ถถถถถถถถถถ สายป่านเขายาวมากๆ แค่นี้ไม่กระเทือนซางหรอก แล้วไปประท้วงเขาเรื่องอะไรล่ะนั่น มันก็ทำธุรกิจไปตามกฎหมาย ไม่มีคำว่าจริยธรรมในแวดวงธุรกิจอยู่แล้ว ประเด็นคือรัฐควรจะออกกฎหมายมาควบคุมการ monopoly เป็นชาติแล้ว


ไม่ใช่มาเรียกร้องกันตอนที่ข้าวสารกลายเป็นข้าวสุกแบบเน้ มันสายเกินไปแล้วว้อยแต่เชื่อหรือไม่ว่าเมืองไทยมี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 แต่จวบจนถึงบัดนี้ กว่า 16 ปี ที่มีกฏหมายฉบับนี้มา ยังไม่มีธุรกิจใดที่ถูกดำเนินคดีว่าด้วยการทำ "การค้าที่ไม่เป็นธรรม" ได้แม้แต่รายเดียว


แล้วมี พ.ร.บ. นี้ไว้ทำเกลืออะไรวะ?"


พลังโซเชียลฯ บอยคอตสินค้าซีพี


ต่อกรณีเดียวกันก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาอย่างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่มองว่า เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า ในขณะที่บางความเห็นบอกว่า แม้จะไม่ได้ผล อย่างน้อยๆ ก็ได้สั่งสอนบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้ให้ฉุกคิดถึงการทำธุรกิจที่นับวันยิ่งสุ่มเสี่ยงโดนถล่มจากผู้บริโภคมากขึ้น

"มันก็เป็นการแสดงออกเพื่อให้อย่างน้อย CP ก็ตระหนักถึงว่าผู้บริโภคในประเทศไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ CP ต่อให้มันจะได้ผลไม่ได้ผล เค้าก็ดีแล้วที่ทำอะไรที่เป็นเชิงสัญลักษณ์" โอ๋ เดอะสเมิร์ฟ

"ถ้าภาคประชาชนไม่ตื่นตัวออกมาทำอะไรไห้เกิดเป็นกระแสสังคม แล้วคิดว่าภาครัฐจะไปกล้างัดเหรอ อย่าอ่อนต่อโลกนักเลย ประชาชนต้องสู้ด้วยตัวเองก่อน ดูอย่างการปฏิวัติครั้งล่าสุดสิ ประชาชนออกมาก่อนข้าราชการเสมอ" Nan Bkk


"อย่างน้อยก็ได้กระตุกต่อมสำนึก" Pornwilai Sanemuang


นอกจากนั้น ยังมีบางความเห็นหยิบยกเรื่องของกฎหมาย "ควบคุมการผูกขาด" ขึ้นมาพูด ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควรมีมานานแล้ว เนื่องจากช่วยลดพฤติกรรมในการสร้างสินค้าเพื่อแข่งขันกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในลักษณะการช่วงชิงตลาดการขาย หรือที่เรียกว่าปลาเล็กกินปลาใหญ่
ปัจจุบันกฎหมายที่ดูแลเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม ปกป้องการทุ่ม/ครอบงำตลาดของผู้ประกอบการอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคุ้มครองไม่ให้เกิดการผูกขาดภายในประเทศ หรือจากต่างประเทศ

สำหรับกฎหมายการป้องกันการผูกขาด ดร.วินัย ดะห์ลัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการหารือกันเรื่องการป้องกันการผูกขาด การมีอำนาจเหนือตลาด ว่า ในส่วนของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการประชุมกันอย่างน้อยสิบครั้ง รวมทั้งได้เดินสายหลายจังหวัดเพื่อรับฟังความเห็นเรื่องซีพี ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญมีเรื่องการป้องกันการผูกขาดอยู่ในหลายภาค


"สมาชิกสปช.ได้ขอแปรญัตติเพิ่มเติมอีกหลายข้อ และผลักดันกฎหมายการป้องกันการผูกขาด การสร้างอำนาจเหนือตลาด การชดเชยความเสียหาย การชดเชยสินค้าชำรุดบกพร่อง ในกลุ่มสปช. มีการก่อกระแสต่อต้านซีพีในหลายกรรมาธิการ ทุกคนห่วงใยกรณีซีพีไม่น้อยกว่าคนภายนอก" ดร.วินัยกล่าว


ชำแหละ! ซีพี สะเทือนถึงรัฐบาลไทย


เมื่อพูดถึงการครอบงำกิจการ และการผูกขาด พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยตั้งหัวข้อว่า "ซีพี กับ ก้าวที่สุ่มเสี่ยง" ก่อนแสดงความคิดเห็นไว้อย่างตรงไปตรงมา


"ความเป็นทุนมหึมาของซีพีนั้น ไม่มีใครจะหนีอิทธิพลได้ กล่าวได้ว่า ในทุกวงการต้องมีคนของซีพีแทรกอยู่ด้วย ดังนั้น ซีพีจึงเดินหน้า ทั้งขาย และเป็นนายหน้าสินค้า ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน ได้กำไร โดยอาศัยทุนที่เหนือกว่า ความพร้อมขององค์กร วัตถุดิบที่ผลิตได้เอง แบบไม่เกรงใจใคร พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจึงยับเยินตามไปหมด ถามว่าซีพีผิดหรือไม่ ไม่ผิดหรอกครับ พ่อค้าต้องทำอะไรก็ได้ เพื่อให้มีกำไร เป็นเรื่องปกติ แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า


(1) สมควรทำกันถึงขนาดนี้หรือไม่ ถ้าซีพีทำได้ นายทุนอื่นๆ ก็จะทำตามแบบบ้าง คนจนจะไปทำมาหากินอะไรกันละ

(2) ประเทศที่เจริญแล้วมีการผูกขาดการค้าแบบนี้ ตามซอย มีเซเว่นทุก 200 เมตรหรือไม่ เอาง่ายๆ ในจีน ซีพีทำแบบนี้ได้หรือไม่

(3) ถ้าการค้าปลีก ขายข้าวแกง การค้าเล็กๆ ริมถนนพังทลายไปหมด คนพวกนี้ และครอบครัวจะไปทำอะไร สิ่งที่พวกเขาจะทำเรื่องแรกคือ ลุกมาต่อต้านซีพีครับ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ของซีพีนะครับ ใครที่ถ่ายภาพกับผู้ใหญ่ของซีพี หรือเข้าร่วมกิจกรรมของซีพี เริ่มถูกนำมาโพสต์ข้อความไปในทางลบบ้างแล้ว ดังนั้น ถ้าซีพีไม่ทำอะไรให้ชัดเจน คิดว่าไม่น่าจะเกิน 3 เดือนจะมีการต่อต้านซีพีมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องระมัดระวัง การเข้ามาช่วยเหลือ รัฐบาลของซีพีต้องระวังให้อยู่ในกรอบที่พอดีๆ ไม่เช่นนั้นจะพลอยฟ้าพลอยฝนโดนไปด้วยแน่ๆ ครับ"

สอดรับกับ สนธิ ลิ้มทองกุล ได้เคยพูดถึง "ซีพี" ไว้ในรายการ มองโลก มองเรา โดยตั้งชื่อตอนว่า "ชำแหละ! "CP ครอบงำกิจการ ผูกขาดครบวงจรในไทย" ว่า ทุกวันนี้ขายส่งก็ผูกขาด ขายปลีกก็ผูกขาด ทุกอย่างซีพีผูกขาดหมด ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยไม่ได้เกิด แถมค่อยๆ หายไป เนื่องจากอยู่ไม่ได้




"...คณะกรรมการป้องกันการผูกขาดมีอยู่แล้วในกระทรวงพาณิชย์ แต่มันไม่เวิร์กเพราะอะไร เพราะกรรมการเกินครึ่งเป็นพวกบริษัทใหญ่ๆ หมดเลย รวมทั้งซีพีด้วย ใครทำลายชาติกันแน่ ใครทำลายคนไทย อย่างข่าวที่ออกมาว่าเดี๋ยวนี้ปลาชายฝั่งที่เคยจับได้ เปอร์เซ็นต์ลดน้อยลงมาหมดละ เพราะมันโดนจับไปหมดเลยจากการใช้อวนใหญ่ลาก เพื่ออะไร เพื่อทำอาหารสัตว์ แล้วใครล่ะเป็นคนซื้ออาหารสัตว์พวกนี้...

"ผมอยากจะถามหน่อย ใครที่มีอำนาจในวันนี้ จะชื่ออะไรก็ตาม จะเข้ามาด้วยวิธีการที่มีอำนาจอะไรก็ตาม คุณอายบ้างไหม คุณสงสารประชาชนบ้างไหม สงสารนี่คุณต้องสงสารจริงๆ นะ คุณรู้ไหมว่า ธุรกิจผูกขาดแบบนี้กำลังจะฆ่าคนไทยส่วนใหญ่ คุณอย่าทำเป็นเล่นไปนะ คนที่มีร้านเล็กๆ มีแผงลอยเล็กๆ นัยะความผูกพัน ความรับผิดชอบที่เขามีต่อหน่วยครอบครัวหน่วยหนึ่ง มันสำคัญมากสำหรับเขา แล้วลองเอาหน่วยพวกนี้คูณแสน คูณล้านเข้าไป กี่คน กี่ล้านคน เผลอๆ เป็น 10 ล้านที่ต้องฉิบหายเพราะการผูกขาดในลักษณะแบบนี้


ดังนั้น 1. คุณมีหน้าที่ไม่ให้พวกเขาผูกขาด คุณมีหน้าที่ให้ SMEs ได้โตขึ้นมา และคุณต้องบอกเลยว่า ต่อจากนี้ไป เซเว่น อีเลฟเว่นขยายไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันเต็มมากเกินไป มีส่วนแบ่งการตลาดที่อยู่ในลักษณะครอบงำการตลาดแล้ว 2. คุณต้องออกกฎหมายให้ชัดเจนว่าถ้าเป็นร้านสะดวกซื้อหน้าที่ต้องเป็นตัวกลางให้คนเอาของมาขาย ให้คนเดินเข้ามาซื้อ โดยกินส่วนต่างตรงราคา เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ ถ้ามีเกินกว่าเท่านี้ร้าน ห้ามไม่ให้ผลิตสินค้าตัวเองขาย เพราะเป็นการรังแกคนทำมาค้าขาย แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครทำอะไรเลย"


นับเป็นปัญหาใหญ่ของชาติบ้านเมืองที่หากยังตกหลุมพรางทุนสามานย์ของกลุ่มคนที่คุณก็รู้ว่าใคร ไม่เร็วก็ช้า ความฉิบหายได้มาเยือนแน่นอน


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live

*** ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แห่แชร์ดราม่า "โตเกียวบานาน่าไทย" แลกด้วยน้ำตา - "เซเว่นอีเลฟเว่น" ปัดลอกเลียนซัพพลายเออร์




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น