xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แยกงานสอบสวนจากตำรวจ ฝันเฟื่องอีกละ!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ในฐานะอนุกรรมธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ เมื่อ 29 เม.ย.
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เคยมีความพยายามปฏิรูปวงการตำรวจมานาน เพราะเป็นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกมองว่ามีปัญหาในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนมากที่สุด แต่ความพยายามที่จะปฏิรูปองค์กรนี้ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด

ภายหลังการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภาระกิจสำคัญอันหนึ่งของ คสช.ก็คือ ทำให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาอันเป็นต้นตอความขัดแย้งที่สะสมมายาวนาน การปฏิรูปตำรวจก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ด้านที่จะต้องปฏิรูปขนานใหญ่

แนวทางการปฏิรูปตำรวจปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการยกร่างฯ ได้ส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)เปิดอภิปรายในช่วงวันที่ 20-26 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในหมวดเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มาตรา 282 (8) ที่ระบุว่า

“ปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มิใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในกระบวนการยุติธรรม กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจไปสู่ระดับจังหวัดและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการตำรวจ ปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้พนักงานอัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอมีอำนาจสอบสวนร่วมกับหน่วยงานด้านการสอบสวนในกรณีที่ประชาชนร้องขอความเป็นธรรม ปรับปรุงระบบงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีความเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีระบบบริหารงานบุคคลที่ยึดหลักความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง และจัดสรรและกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณให้แก่หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เพียงพอและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เห็นได้ว่า เนื้อความตามมาตรานี้ ถ้ามีผลบังคับใช้จริง จะเป็นการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการขานรับอย่างกว้างขวาง นั่นเพราะในอดีตที่ผ่านมา ยังพบปัญหาตำรวจผู้มีอำนาจสอบสวน กล่าวหาจับกุมประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลและองค์กรเดียวกัน ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ซึ่งในประเทศเจริญแล้วส่วนมาก ต่างก็แยกงานปราบปรามจับกุมออกจากงานสอบสวนกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า นี่จะเป็นเพียงเรื่องฝันเฟื่องของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า ภายในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เองก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปรับแก้เนื้อหาในส่วนการปฏิรูปตำรวจ ที่ระบุให้ระบบงานสอบสวนเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมอธิบายว่าเนื้อหาที่ลงไปในร่างรัฐธรรมนูญไม่ตรงกับมติของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ต้องการให้ระบบงานสอบสวนแยกอิสระจากฝ่ายสืบสวนและปราบปรามเท่านั้น ไม่ได้แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยอมรับว่าข้อเสนอที่ให้แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอยู่ในข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ

ขณะที่ฝ่ายตำรวจเอง ก็ออกมาคัดค้านทันที โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เป็นประธานประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ตร.และคณะที่ปรึกษาร่วมประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะโฆษก ตร. กล่าวภายหลังประชุมว่า ในเบื้องต้น ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา มองว่าไม่ควรกำหนดแนวทางการปฏิรูปตำรวจอย่างลงรายละเอียดลงในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้แยกพนักงานสอบสวนออกจากตำรวจ ไม่ได้หวง แต่มองว่าทุกวันนี้ตำรวจทำงานเป็นทีม ทั้งสืบสวนสอบสวนอยู่ด้วยกัน ทำงานสอดคล้องกัน หากแยกไปก็จะมีช่องว่างในการประสานงาน อีกทั้งยังมีภาระเรื่องสถานที่ทำงานเมื่อต้องแยกหน่วยออกไป

โฆษก ตร.ยังตอบโต้กลับไปว่า ผู้ที่บรรจุร่างนี้มีอคติกับงานตำรวจ ทำอย่างมีเลศนัย และคล้ายมีการสอดแทรกหัวข้อนี้เข้าไปภายหลัง ดูรายชื่อก็รู้คนที่ร่วมคิดตรงนี้มีอคติกับตำรวจทั้งนั้น

พล.ต.ท.ประวุฒิบอกอีกว่า ที่ผ่านมา ตร.ได้ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางปฏิรูปตำรวจตามที่สังคมต้องการ โดยรับฟังทั้งจากภาคประชาชน หน่วยงานที่ทำงานกับตำรวจรวมทั้งตำรวจเอง โดยให้น้ำหนักไปที่ภาคประชาชน และภาคหน่วยงานร่วมเพื่อให้การปฏิรูปตรงใจสังคม ทั้งนี้สิ่งที่ตำรวจนำเสนอมาตลอด คือปัญหาความขาดแคลน ทั้งด้านกำลังพลนับแสน งบประมาณ ค่าตอบแทน แต่สิ่งที่พยายามยัดเยียดให้ตำรวจ คือ เรื่องโครงสร้าง การโอนภารกิจ เหมือนมาเกาในที่ที่เราไม่ได้คัน

นั่นคือมุมมองจากภายในขององค์กรตำรวจ ซึ่งดูจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนภายนอกมองเข้าไป

วันที่ 28 เมษายน ในการประชุม สปช.วาระการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องกิจการตำรวจ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายฯ กล่าวย้ำว่า การบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นเหตุและปัจจัยสำคัญอันก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสังคมในวงกว้าง ทั้งในด้านการรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการอำนวยความยุติธรรม เกิดปัญหาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติใช้อำนาจเชิงรวมศูนย์ในทุกด้าน รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการบริหารและการปฏิบัติงานของตำรวจทุกๆ ด้าน ส่งผลให้สังคมเกิดความแตกแยกขัดแย้งรุนแรง จนกระทั่งประชาชนขาดความเชื่อมั่นและไม่มีความไว้วางใจต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสอบสวนคดีอาญาซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สตช. ที่อยู่ในภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง จนมีเสียงเรียกร้องจากสาธารณชนให้มีการปฏิรูปประเทศไทย รวมถึงการปฏิรูป สตช. โดยประเด็นที่ศึกษาและหาแนวทางในการปฏิรูปกิจการตำรวจมีอยู่ 15 ประเด็น คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาทำการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน กล่าวว่า การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ คือการทุบในสิ่งไม่ดีให้เข้ารูปเข้ารอย อย่างไรก็ตาม ใน กมธ.มีความเห็นต่างในเรื่องการสอบสวน เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ของตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง งานสืบสวนเหมือนกำแพงที่ตำรวจเลวๆ จะใช้พิงหลัง เพราะงานสอบสวนถูกสั่งการให้ทำสำนวนคดีในรูปแบบต่างๆ ได้ ถ้ายังไม่แยกงานสอบสวนออกจาก สตช. ชีวิตแล้วชีวิตเล่า เราจะต้องรับผิดชอบ เพราะเขาเปิดโอกาสให้ทำแล้ว แต่เราไม่ทำ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สปช.ก็ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องแนวทางการปฏิรูปตำรวจ และมีมติให้เลื่อนวาระการพิจารณารายงานการปฏิรูปตำรวจฯ ออกไป เนื่องจาก กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ยังมีความขัดแย้งกันในความเห็นเรื่องการแยกอำนาจการสอบสวน

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สปช.ในฐานะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจ เพื่อประโยชน์ของประชาชน แถลงเมื่อ 29 เม.ย. ยอมรับว่าภายในกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายฯ มีความขัดแย้งเรื่องการปฏิรูปตำรวจจริง แต่ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เป็นความขัดแย้งเรื่องทางวิชาการ แต่ตนในฐานะที่เป็นอนุกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจมา 7 ปี จึงเห็นว่าควรแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระออกจาก สตช. เพื่อมิให้ตำรวจช่วยเหลือกันเองในการทำสำนวนสอบสวน

นายอมรบอกอีกว่า รู้สึกเสียใจที่สมาชิก สปช.บางคนกล่าวหาว่าคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายฯ พูดฟังไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นหรือไม่ และทุกอย่างมีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่มีการยกเมฆ มีเอกสารให้ศึกษาล่วงหน้า แต่ทราบมาว่ามีบางคนไม่แฮปปี้กับคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ และอาจจะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยอาจจะใช้ตัวแทนจากคณะกรรมาการปฏิรูปชุดต่างๆ ชุดละ 2 คน เช่น กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ให้มาดูเรื่องการปฏิรูปตำรวจแทน

นั่นเท่ากับว่า การจัดทำแนวทางการปฏิรูปตำรวจจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน นั่นเพราะแรงต้านจากผู้เสียประโยชน์ในวงการตำรวจนั้นมีมากเหลือเกิน

ใน คสช.เองก็มีนายตำรวจใหญ่เป็นสมาชิกอยู่ถึง 2 คน รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช.และพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับตำรวจภายใต้โครงสร้างเดิม เนื่องจากมีน้องชายเป็นอดีต ผบ.ตร.

การปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ จึงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์เท่านั้น ว่าจะทุบโต๊ะเอาแบบไหนกันแน่


กำลังโหลดความคิดเห็น