xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าตัดโครงสร้างสีกากี “บิ๊กตู่” ต้องลงมือเอง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตัดสินใจใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของ รธน. ฉบับชั่วคราวปี 2557 ออกคำสั่งใช้ยาแรง เพื่อแก้ปัญหาขายสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาแพงกว่าราคาควบคุม

เมื่อแตะวงการขายสลากกินแบ่งฯ ที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่กล้าไปทุบหม้อข้าวตัวเอง เพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นถุงเงินสำคัญของรัฐบาลมาทุกยุคสมัย เริ่มมีบางคน อยากวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ อีกสักเรื่อง คือ อยากให้ หัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 ดำเนินการ

“ผ่าตัดใหญ่วงการสีกากี” ที่เน่าเฟะมาหลายสิบปี ซึ่งตอนนี้ทุกฝ่ายที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในแวดวงสีกากี ดูจะหมดหวังกันแล้ว เพราะผ่านมาหลายเดือน ไม่เห็นทีท่าว่าจะมีการปฏิรูปวงการตำรวจได้ ยิ่งหากรอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) - กมธ.ยกร่าง รธน. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็เริ่มพูดกันแล้ว หากรอพวกนี้ นำร่องปฏิรูปตำรวจ ชาตินี้ก็ไม่มีทางได้เห็น!

ดูทรงการทำงานของพวกนี้แล้ว บอกตามตรง ถ้าไม่กล้าตัดสินใจ ขี้ปอดกลัวแรงต้าน ก็ล้วนแต่มีวาระซ่อนเร้น เพราะจ้องจะรักษาผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง จึงไม่มีใครขยับเรื่องปฏิรูปตำรวจ

อย่างในส่วนของ สปช. ก็เห็นกันแล้ว กับการประชุม สปช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในสภาพเกือบวงแตก ตอนพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้ชื่อรายงานว่า “กิจการตำรวจ” อันเป็นชุดที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน โดยรายงานชุดนี้ เกิดขึ้นจากการศึกษาแนวทางการปฏิรูปตำรวจ ของคณะอนุกรรมาธิการใน กมธ. ปฏิรูปกฎหมายฯ ที่ตั้งขึ้นมาอีกที ใช้ชื่อว่า อนุ กมธ. ปฏิรูปโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์กับประชาชน ที่มี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปช. เป็นประธาน

โดยความเห็นที่ขัดแย้งกันเองของ สปช. ที่อยู่ใน กมธ. ปฏิรูปกฎหมายฯ และความเห็นที่แตกต่างกันของ สปช. ต่อรายงานฉบับนี้ ที่เสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจ คงไม่ต้องนำมาฉายซ้ำ เพราะหลายคนคงทราบไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้น มันทำให้เห็นว่า ขนาดตัว สปช. ที่ประชาชนฝากความหวังไว้มากว่าจะเป็นหัวหอกในการเสนอแนวคิดเรื่องปฏิรูป แต่ถึงเวลาทำงานจริงๆ สปช. บางคนห่วยแตก ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จนส่งผลให้การประชุมสปช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่สามารถมีมติ และข้อสรุปได้ว่า จะเอาอย่างไรกับเรื่องปฏิรูปวงการสีกากี และมีแนวโน้มที่ สปช. จะดองยาวเรื่องนี้

ถึงได้บอกว่า ไหนๆ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ไปเขย่าวงการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีผลประโยชน์มากมายมหาศาลมาแล้ว แล้วทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจตาม มาตรา 44 มาปฏิรูปผ่าตัดวงการสีกากีบ้างไม่ได้ ?

อาจไม่ต้องถึงกับผ่าตัดใหญ่ แต่ควรต้องทำให้เห็นว่า คสช. เอาจริงกับเรื่องปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศอยากเห็นมากที่สุดเรื่องหนึ่ง มันก็ควรไม่ใช่หรือที่ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อการนี้สักครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องรอข้อเสนอจาก สปช. ก็ได้

ยิ่งข้อเสนอจากฝ่ายตำรวจ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่มีทางทำอยู่แล้ว เพราะถึงตอนนี้ก็ไม่เคยมีใครได้ยินวิสัยทัศน์ปฏิรูปตำรวจจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) สักครั้ง

ก็ต้องอาศัยความเด็ดขาดจาก บิ๊กตู่ ที่ต้องไม่เกรงใจ พี่ป้อม พล.อ.ประวิตร หากเห็นว่าจำเป็นต้องทำ ก็ลงมือผ่าตัดวงการสีกากีตอนนี้เสียเลย ส่วนรูปแบบจะเป็นแบบไหน ก็เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปหามา เพราะก็พบว่ามีงานศึกษา - วิจัย เรื่องการปฏิรูปตำรวจออกมามากมาย ก็นำส่วนดีของแต่ละผลการศึกษามากรองให้ตกผลึก แล้วก็ออกคำสั่งโดยอาศัย มาตรา 44 จัดการไปเลย
หรือจะเอาผลการศึกษา “กิจการตำรวจ” ของ กมธ. ปฏิรูปกฎหมายฯ ที่ค้างอยู่ใน สปช. มาศึกษาดูแนวทางก็ยังไหว เพราะหลายข้อเสนอแม้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ อีกทั้งเป็นรายงานที่มีการศึกษาโดย สปช. ที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องปฏิรูปโดยเฉพาะ ก็เลือกเอาส่วนดีๆ มาเป็นแนวทางก็ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือได้ไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายละเอียดของรายงานฉบับที่ว่า ก็พบว่ารายงานปฏิรูปตำรวจดังกล่าว มีการให้ข้อคิดเห็นหลายอันที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการปฏิรูป “ระบบงานสอบสวน” ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวพอสมควร เพราะมีแรงคัดค้านจากตำรวจ ส่วนพวก สปช. ก็ไปรับลูกเอาด้วย โดยรายละเอียดแต่ละส่วนที่น่าสนใจ ก็เช่น

“แนวทางการปฏิรูปในเรื่องความเป็นอิสระของหน่วยงานตำรวจ” ซึ่งรายงานฉบับนี้มีข้อเสนอเป็นข้อๆ ดังนี้

- กำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

โดยควรตราเป็น พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรตำรวจ และออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ รวมถึงเสนอให้ตั้ง คณะกรรมการบริหารกิจการตำรวจ และการสอบสวน โดยไม่ให้มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้องในการเข้ามาใช้อำนาจพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนขั้น หรือ แทรกแซงคดีโดยไม่ชอบ และหากพบมีนักการเมืองมีพฤติกรรมดังกล่าว ก็ต้องมีกระบวนการดำเนินคดีอาญา และถอดถอนออกจากตำแหน่งทันที

นอกจากนี้ เห็นควรว่าต้องกำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการตำรวจ ตั้งแต่ระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น โดยมีการตราเป็นกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง

หลักการแนวทางการกระจายอำนาจในการบริหารงานกิจการตำรวจ คือ

เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง และไม่ให้มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จึงเสนอให้สตช. เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับหน่วยราชการใด และแบ่งส่วนงานออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. ส่วนกลาง ให้คงเดิมพวกหน่วยงานสำคัญๆไว้ เช่น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจสันติบาล

2. ระดับภูมิภาค โดยให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการตำรวจ และสอบสวนจังหวัด ทำหน้าที่กำกับดูแล และบริหารงานตำรวจส่วนจังหวัด 3. ระดับท้องถิ่น เช่น ให้ตำรวจอยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานคร

ซึ่งโครงสร้างข้างต้น จะต้องยุบเลิกกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังมีข้อเสนอเรื่อง การสร้างกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจของตำรวจ โดยเฉพาะอำนาจการสอบสวน เช่น การสอบสวนคดีอาญา ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากมีประชาชนร้องขอความเป็นธรรม ต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ มีอำนาจถ่วงดุลการสอบสวน โดยให้เรียกหัวหน้าพนักงานสอบสวน นำสำนวนการสอบสวนมาชี้แจง แล้วก็ให้ฝ่ายปกครอง เข้ามาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม เพื่อเป็นการให้หลักประกันความเป็นธรรมกับประชาชน

โดยเรื่องปฏิรูปงานสอบสวน รายงานดังกล่าวให้ความสำคัญค่อนข้างมาก มีการระบุว่า ปัจจุบันงานสอบสวนของ สตช. อยู่ในภาวะวิกฤตอย่างร้ายแรง ประชาชนไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่น การสอบสวนมีปัญหาทุกขั้นตอน เช่น การสร้างพยานหลักฐานเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด

“พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ มีประมาณ 11,000 นาย แต่พนักงานสอบสวนในพื้นที่ อยู่ในสภาพเสียขวัญ ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากระบบงานสอบสวนของ สตช. เต็มไปด้วยปัญหามายาวนาน ไม่ได้รับการแก้ไข งานสอบสวนกลายเป็นสายงานที่ไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพตำรวจ ทั้งที่เป็นงานหลักขององค์กร ถูกมองเป็นตำรวจชั้นสอง

ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ภายใต้โครงสร้าง สตช. ปัจจุบัน เพราะมีข้อจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปงานสอบสวนคดีอาญาของประเทศ ด้วยการแยกงานสอบสวนคดีอาญาออกจาก สตช. เพื่อพัฒนางานสอบสวนของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุล โดยการออก พ.ร.บ. จัดตั้งสำนักงานสอบสวนคดีอาญาแห่งชาติ”

ข้อเสนอ ปฏิรูปตำรวจ แบบนี้ ซึ่งมีอีกหลายเรื่องและทุกเรื่อง ย่อมมีทั้ง ข้อดี - ข้อเสีย ซึ่งจะดีไม่น้อยหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะนำไปศึกษาควบคู่ไปกับการพิจารณาผลการศึกษาของอีกหลายส่วน ที่ทำเรื่องปฏิรูปตำรวจ แล้วทำให้มันออกเป็นผลลัพธ์ที่เป็นจริงโดยเร็ว ซึ่งบางเรื่องหากจำเป็นต้องเด็ดขาดรวดเร็ว ก็ควรใช้ มาตรา 44 แบบเดียวกับที่ปฏิรูปวงการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล มาจัดการก็ได้

เพราะหากทำแล้ว มีผลดีมากกว่าผลเสีย ประชาชนได้ประโยชน์ และทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น