xs
xsm
sm
md
lg

แนวต้านเริ่มก่อตัวแรง รธน.ฉบับริมหาดพัทยา

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

ข่าวปนคน คนปนข่าว

ประมาทไม่ได้เด็ดขาดกับภาวะก่อตัวของกลุ่มต้านไม่ยอมรับโมเดลร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกคณะไปเขียนกันที่ริมหาดพัทยา ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

จริงอยู่ว่าเวลานี้ หลายความเห็นที่ออกมาอาจจำกัดอยู่แค่กับ “นักเลือกตั้ง-พรรคการเมือง-กรรมการองค์กรอิสระ-นักวิชาการ” แต่ดูระยะยาวแล้ว ฝ่ายไม่เห็นด้วย น่าจะขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะหลายความเห็นที่สะท้อนออกมา ก็พบว่ากลุ่มที่ออกมาติติงไม่เอาด้วยกับโครงร่างรัฐธรรมนูญเวลานี้ หลายคนเป็นกลุ่มกลางๆ ไม่ได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ หากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

เมื่อเป็นแบบนี้ ถ้าในระยะยาวจากนี้ หาก กมธ.ยกร่างรธน. ยังไม่เคลียร์ในหลายปมร้อน ที่กระแสสังคมติติง ตั้งข้อกังขาที่มาที่ไปของกรอบที่เคาะออกมา รับรองได้ว่า มีแนวโน้ม กระแสไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับคสช. น่าจะขยายวงกว้างมากขึ้น

ปัญหามีขึ้นหลังจากที่บางมาตราที่เขียนกันออกมา กรรมาธิการยกร่างรธน. แจงฟังไม่ขึ้นเลยถึงเหตุผลการยกร่างกันออกมา ซึ่งแม้ไม่ใช่นักเลือกตั้ง-พรรคการเมือง แต่หลายคนที่เป็นประชาชนธรรมดา ก็มองว่า หลักการที่เขียนออกมา ไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศ ไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้า

ตรงกันข้ามกลับมีเค้าจะนำพาประเทศถอยหลังลงคลอง เป็นประชาธิปไตยแบบล้าหลังเสียด้วยซ้ำ

จริงอยู่ว่ากรอบที่เคาะกันมา มีหลายเรื่องที่เป็นความก้าวหน้าของการเมืองไทย

เช่น การกำหนดให้ คนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ก่อนวันรับสมัคร-การให้มีสมัชชาคุณธรรม มาคอยตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น หากมีการชี้มูลก็ทำบัญชีรายชื่อส่งให้ประชาชนลงประชามติในช่วงเลือกตั้ง พูดประสาชาวบ้านคือ ขึ้นบัญชีดำไว้นั่นเอง - การให้มีศาลวินัยการคลังและงบประมาณ ที่จะมาตรวจสอบเรื่องนโยบายต่างๆ ด้านการเงิน -งบประมาณของฝ่ายบริหารเป็นหลักซึ่งหากมีแล้วจะทำให้การพิจารณาคดีประเภทนี้เร็วขึ้น จะช่วยป้องกันความเสียหายได้ เช่น ถ้ามีศาลนี้ตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 54 หากคนเห็นว่าการโครงการรับจำนำข้าว อาจสร้างความเสียหาย ถ้าศาลรับฟ้องแล้วสั่งยุติโครงการ ป่านนี้อาจไม่ทำให้ประเทศขาดทุน 7 แสนล้านบาทก็ได้

ตัวอย่างข้างต้น ที่ยกมา แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่เมื่อมาเจอเรื่องที่เป็นกรอบใหญ่ทางการเมือง ก็เลยทำให้คนมองจุดด้อยของรัฐธรรมนูญ มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นที่ยกมาข้างต้น

โดยเฉพาะเรื่อง การเปิดช่องให้ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. ที่กระแสวิจารณ์ออกมาในทางเดียวกันว่า เป็นการถอยหลังกลับไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ รสช.ปี 2534 แม้กรรมาธิการจะยกแม่น้ำทั้ง 5 มาสาธยายเหตุผลในการเขียนออกมาเช่นนี้ แต่หลักการ-เหตุผลฟัง ดูแล้วฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะการอ้างเรื่องว่าเป็นการเขียนไว้เผื่อมี "วิกฤตการเมือง" และอ้างว่า ในความเป็นจริงจะมีพรรคการเมืองไหน จะยอมให้คนของพรรคการเมืองอื่น หรือคนนอกที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาเลย จะมาชุบมือเปิบ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังไงก็ต้องเลือกพวกคนในพรรคที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้ง และต้องเป็นพวกส.ส.ในพรรคนั้น

ทว่าการเขียนรัฐธรรมนูญแบบไปเปิดช่องไว้กว้างแบบนี้ โดยที่การเกิดวิกฤตการเมืองแบบเมื่อปี 49 หรือ ตอนปี 57 จนนำไปสู่การรัฐประหาร ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ และเงื่อนไขที่ทำให้เกิดรัฐประหารทั้งสองครั้งดังกล่าว ก็เกิดขึ้นเพราะตอนนั้นไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงเอาส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ขณะที่การเลือกตั้งก็จัดให้เกิดขึ้นไม่ได้ การเมืองเลยถึงทางตัน เกิดภาวะสุญญากาศ จนสุดท้ายต้องมีรัฐประหาร ซึ่งเงื่อนไขจะไปถึงแบบไหนได้ มันไม่ง่าย คนก็เลยมองเจตนาของ กมธ.ยกร่างรธน. ด้วยความเคลือบแคลงสงสัย แม้อาจมีเจตนาดี เพื่อไม่ให้การเมืองไร้ทางออกหากเกิดวิกฤตการเมืองขึ้นในอนาคต

แต่ดูแล้วก็ไม่น่าจะถึงกับต้องลงทุนเขียนรัฐธรรมนูญเปิดปลายกว้างไว้แบบนี้ เลยไปเข้าทางพวกพรรคเพื่อไทย ถล่มหนัก ผสมโรงด้วยนักเลือกตั้งทุกสังกัด และประชาชนหลายกลุ่ม ที่เห็นว่าถอยหลังลงคลอง ก็ถือเป็นการบ้านหนักของกมธ.ยกร่างรธน. ที่จะเร่งแจงให้มากกว่านี้ หากปล่อยไว้แบบนี้เรื่อยๆ คงไม่เป็นผลดี แนวต้านรธน.ขยายวงแน่นอน

ผสมกับอีกประเด็นสำคัญที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือการคลอด "ส.ว.ลากตั้ง" ทั้งหมด 200 คน โดยให้มาจาก 5 สาย แม้จะมีการเขียนไว้แบบพยายามทำให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม แต่ที่ชัดๆ เลยคือ ทำให้ต่อไปนี้ จากเดิมที่ประชาชนยังไงก็เคยได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว.ทางตรงมาตั้งแต่ปี 2543 เรื่อยมาจนถึงปี 57 ต่อไปนี้ สิทธิดังกล่าวจะหายไปแล้ว แม้จะบอกว่า เป็น ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมก็ตาม แต่ในความเป็นจริง การที่ปิดโอกาสไม่ให้ประชาชนทั้งประเทศได้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง แต่ให้มาจากการเลือก และคัดสรรของกลุ่มบุคคลต่างๆ เลือกกันมาเอง มันก็เป็นการตัดสิทธิประชาชนอย่างหนึ่ง

ทั้งยังเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว.มากขึ้น เช่น การให้อำนาจ ส.ว.เสนอกฎหมายได้ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ หรือการให้อำนาจ ส.ว.ในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร คือ มีอำนาจในการตรวจดูรายชื่อ และกลั่นกรองคนเป็นรัฐมนตรีก่อนนายกรัฐมนตรีนำรายชื่อ ครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่กลับออกแบบให้วุฒิสภามีที่มาซึ่งขาดการยึดโยงกับประชาชนโดยตรง

เสียงค้านก็ดังระงม

ในข้อดีมีแน่นอน ระบบ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมแบบนี้ อันนี้ไม่เถียง อีกทั้งที่ผ่านมา ส.ว.เลือกตั้งจำนวนไม่น้อย ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ให้สังคมเห็นว่าเลือกตั้งมาแล้ว ได้ทำประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติ ยิ่งตอนใช้ รธน.ปี 50 แล้วให้วุฒิสภามีลักษณะ "ปลาสองน้ำ" คือมีทั้งเลือกตั้งและสรรหา ทำงานร่วมกัน ก็เกิดปัญหาการทำงานกันพอสมควร แต่ก็ต้องยอมรับกันใช่หรือไม่ว่า ยังไงระบบเลือกตั้งดังกล่าว ก็ทำให้มี ส.ว.เลือกตั้งดีๆ เข้ามาเช่น รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

จำไว้ว่า ทุกระบบมันมีข้อดีข้อเสียแน่นอน ไม่มีอะไรสมบูรณ์หมด แต่หลักใหญ่แล้ว หากโครงสร้างระบบรัฐสภา ถ้าไปตัดอำนาจประชาชนที่จะใช้สิทธิ เลือกคนไปทำงานในฝายนิติบัญญัติออกไป แล้วหลักใหม่ที่เอาเข้ามาแทน กลับทำให้คนรู้สึกว่า ไม่ได้ดีกว่าหลักอันเก่าที่โละออกไป มันก็ต้องเจอแรงต้านแน่นอน

ระบบวุฒิสภาแบบลากตั้ง 200 คน อาจทำให้นิติบัญญัติของไทย ได้ตัวแทนจากหลายสาขาอาชีพ ทำให้วุฒิสภาได้คนที่มีความรู้ความสามารถหลายๆด้าน ทำให้คนที่มีความตั้งใจจริง อยากทำงาน อยู่ในสาขาวิชาชีพต่างๆ แต่ไม่มีเงินจะไปลงเลือกตั้ง ไม่มีเงินซื้อเสียง ไม่มีหัวคะแนน ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายนักเลือกตั้ง ที่จะช่วยเหลือให้ได้รับเลือกตั้ง ก็อาจได้โอกาสนี้ได้เข้าไปเป็น ส.ว. ตรงนี้ก็เป็นข้อดี อย่างหนึ่งที่เห็นของโครงสร้างวุฒิสภาระบบใหม่ แต่เทียบน้ำหนักกันแล้ว ส.ว.เลือกตั้งจากประชาชน ยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ส.ว.ลากตั้ง อยู่หลายขุม

กมธ.จึงต้องแจงข้อดี-ข้อเสีย ให้มากและชัดเจนกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลรอบด้าน หากมีเหตุผลที่ดี ความคิดคัดค้านเรื่องนายกฯไม่ต้องเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.ลากตั้ง ก็อาจเปลี่ยนมาสนับสนุนก็ได้ ถ้าแจงไม่ได้ การเดินหน้าผลักดันรธน.ฉบับใหม่ ส่อเค้ามีปัญหาในเรื่องความชอบธรรมแน่นอน หากปล่อยให้บางฝ่ายพูดถึงแต่ข้อเสียมากกว่าข้อดี จนยึดพื้นที่สื่อไปหมดแล้วทุกวันนี้

ยิ่งข่าว ความขัดแย้งของ กมธ.ยกร่างรธน. สาย ผู้หญิง-เอ็นจีโอ ถึงขั้นมีข่าวว่าทำให้ กมธ.ยกร่างรธน. ทิชา ณ นคร ต้องร่ำไห้ระหว่างไปร่วมยกร่างรธน. ที่พัทยา จากความเห็นที่แตกต่างกันในการยกร่างรธน. ว่าด้วยเรื่องสิทธิสตรีในรธน.ฉบับใหม่

จนสุดท้าย ใจเด็ดจริง ลาออกหมดทั้ง สปช. และกมธ.ยกร่างรธน. ไม่ยอมเป็นปลาสองน้ำ ทำงานไปแบบฝืนใจตัวเอง เพียงเพราะต้องการกินเงินเดือนที่เป็นภาษีประชาชน

ยิ่งทำให้ภาพการทำงานของกมธ.ยกร่างรธน. ที่เขียนรธน.แล้ว หลายคนเห็นจุดบกพร่องเยอะ ยังมาเจอข่าวขัดแย้งกันเองใน 36 อรหันต์กมธ.ยกร่างรธน. แบบนี้ ทำท่า แม่น้ำ 5 สายของคสช. ชักไปลำบากเสียแล้ว !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น