นายกรัฐมนตรี ชินโซ อะเบะ ประกาศว่า จะร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ หลังพรรครัฐบาลชนะศึกเลือกตั้งวุฒิสภา และสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 2 ใน 3 ของสภาเพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
นายกฯ ชินโซ อะเบะ ระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ ซึ่งจะลดผลกะทบจากการที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปให้เหลือน้อยที่สุด
ผู้นำญี่ปุ่นได้กล่าวขอบคุณประชาชนที่ได้มอบฉันทามติในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ “อะเบะโนมิกส์” แต่กล่าวว่า ไม่มีเวลาที่จะเฉลิมฉลองชัยชนะ และในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม เขาจะสั่งการไปยัง นายโนะบุเตะรุ อิชิฮะระ รัฐมนตรีที่ดูแลการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เริ่มจัดทำมาตรการใหม่เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
หลังจากชาวอังกฤษลงมติถอนตัวจากสหภาพยุโรป ค่าเงินเยนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จนแตะระดับ 34-35 บาทต่อ100 เยน ทำให้ธุรกิจส่งออกของญี่ปุ่นรวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่รัฐบาลยืนยันว่า ผลการเลือกตั้งแสดงว่าประชาชนสนับสนุนนโยบาย “อะเบะโนมิกส์”
พรรค LDP ที่นำโดยนายอะเบะไม่เพียงคว้าชัยชนะได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของวุฒิสภา แต่พรรครัฐบาลและพันธมิตรรวม 4 พรรคการเมืองที่สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ที่นั่งรวมเกินกว่า 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งสามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้กองทัพญี่ปุ่นมีบทบาททางทหารมากยิ่งขึ้นได้
พรรครัฐบาลและพันธมิตรได้ที่นั่งในสภาสูง 161 ที่นั่ง ขาดไปเพียง 1 ที่นั่งจากสัดส่วน 2 ใน 3 ที่ต้องการ 132 ที่นั่ง แต่ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะมี ส.ว. อิสระอีกอย่างน้อย 4 คนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้พรรครัฐบาลสามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไร้อุปสรรค ก่อนที่จะจัดให้ประชาชนลงประชามติ
พรรคฝ่ายค้าน 4 พรรค ร่วมกันส่งผู้สมัครในหลายเขตเลือกตั้ง เพื่อแข่งขันแบบตัวต่อตัวกับพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่กลยุทธ์นี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แกนนำฝ่ายค้านพ่ายยับเยิน มี ส.ว.เพียง 49 คน ลดลงจากเดิมที่มี ส.ว. 60 คน
ชัยชนะของพรรคฝ่ายรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลอะเบะ ซึ่งบริหารประเทศมา 3 ปีครึ่ง มีโอกาสอยู่บริหารประเทศต่อไปอีกหลายปี
เลิกกระมิดกระเมี้ยน พร้อมเดินทางถกรัฐธรรมนูญ
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง นายอะเบะ พยายามหลีกเลี่ยงการชูประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ดีว่าจะถูกโจมตีว่าเป็นการเปลี่ยนหนทางสันตินิยมของญี่ปุ่น และเปิดทางให้ญี่ปุ่นมีกองทัพ
แต่หลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง นายอะเบะ ประกาศทันทีว่า พร้อมจะถกเถียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 9 ซึ่งปฏิเสธสิทธิของญี่ปุ่นในการมีกองทัพของตัวเอง รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ เช่น การเพิ่มอำนาจของนายกฯในภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาลกับทางการท้องถิ่น