ข่าวปนคน คนปนข่าว
การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ลากยาวกัน 7 วัน 7 คืน แม้ดูเหมือนว่าจะเข้มข้น โดยเฉพาะในภาค 2 ผู้นำทางการเมืองที่ดี และระบบผู้แทนที่ดี ซึ่ง สมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติได้อภิปรายไว้อย่าง คม ชัด ในทุกประเด็นสำคัญ
แต่ดูเหมือนจะไร้ความหมาย เพราะคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตั้งธงมาจากบ้านแล้วว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการทั้งเรื่องระบบเลือกตั้ง ที่มา ส.ว. รวมถึงนายกฯคนนอก
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องขอยกย่องให้เป็น“รัฐธรรมนูญฉบับตั้วเฮีย”เพราะผสมผสานทั้งระบอบประชาธิปไตยไปจนถึงรูปแบบโปลิตบุโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลยทีเดียว
รูปแบบโปลิตบุโรที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญคือ กลไกใหม่ที่เกิดตามภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยเฉพาะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่กำหนดไว้ว่ามี 15 คน และบังเอิญว่าเท่ากับจำนวน คสช.ในขณะนี้พอดิบพอดี
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่เหนือทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ เรียกว่าถ้าบอกให้ทำอะไร ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ต้องชี้แจงต่อสภาขับเคลื่อนฯ และไปจบที่การทำประชามติ
แม้ว่าจะมีรูระบายในเรื่องการให้ประชาชนตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่สภาพที่เกิดขึ้นก็คือ“คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ”และ“สภาขับเคลื่อนฯ”ขี่คอฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ที่มาจากการเลือกตั้งให้กลายเป็นหุ่นเชิด ยักย้ายท่าทีตามการชักใยเท่านั้น
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ไม่เคยมีการระบุให้ชัดเจนถึงที่มาของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ว่าจะมาจากไหน ทั้งๆที่มีอำนาจล้นฟ้า ถ้าคิดแบบที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ อธิบายถึงที่มาสภาขับเคลื่อนฯ ว่าให้มาจาก สปช. 60 คน สนช. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 30 คน โดยอ้างว่า ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง
ก็มีความเป็นไปได้ ที่ในอนาคต คสช. 15 คน จะแปลงร่างไปเป็น“คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ”ควบคุม ครม. และสภาอีกชั้นหนึ่ง
วิธีคิดเช่นนี้ ใช่การแก้ปัญหาประเทศหรือไม่ หรือว่าเป็นการออกแบบเพื่อรักษาอำนาจให้อยู่กับตัวเองยาวนานที่สุด
เริ่มตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ไม่กำหนดให้ทำประชามติ แถมเปิดช่องให้ร่างรัฐธรรมนูญไป 7 ชั่วโคตร ถ้าไม่ผ่านก็นับหนึ่งใหม่ ในขณะที่อำนาจยังคงอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งเมื่อเห็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่“เนติบริกร” จัดให้ ก็ยิ่งชัดว่า“การรัฐประหาร”ครั้งนี้ จะมีเงาของผู้มีอำนาจทาบทับบนเส้นทางการเมืองไทย เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อน 6 ตุลาคม 2519 และ 14 ตุลาคม 2516
แม้ว่าในขณะนี้อำนาจเผด็จการจะมีวิวัฒนาการในการใช้อำนาจมากกว่าในอดีตที่มุ่งใช้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงอย่างเดียว โดยหันมาใช้หลัก “อำนาจประชานิยม”แทน ก็ยิ่งทำให้ประชาชนมองออกยากว่า“การสืบทอดอำนาจ”กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว และเชื่อโดยสนิทใจว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ“การสืบทอดเจตนารมณ์”
แต่เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานความจริงก็จะปรากฏ และถ้าคสช. ยังไม่ทบทวนแนวทางที่ดำเนินอยู่ บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์หลังพ้นตำแหน่ง นอกจากจะไม่สง่างามอย่างที่คิดเอาไว้ ยังอาจกลายเป็นหน้าที่เลวร้าย และสร้างโศกนาฏกรรมรุนแรงที่สุดสำหรับประเทศก็ได้
เพราะในยุคคนตุลา ชัดเจนว่าสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่มีวาระใดแอบแฝง แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่ามาก จากการสร้างชุดข้อมูลเท็จ ทำให้คนเข้าใจผิดว่า “ระบอบทักษิณ”คือ “ประชาธิปไตย”การเลือกตั้ง คือบทสรุปของทุกอย่าง แม้กระทั่งใช้อำนาจแบบผิดกฎหมายก็ทำได้ ถ้ามาจากการเลือกตั้ง
ศาลไม่มีสิทธิ์ตัดสินถูกผิดในพฤติกรรมของรัฐบาล เพราะมาจากการเลือกตั้ง ส่วนศาลไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ขณะที่องค์กรตรวจสอบถูกทำลายจนระบบถ่วงดุลเสียศูนย์
การกดทับด้วยอำนาจนิยม แม้ว่าจะพยายามใช้ มาตรา 44 ด้วยการปราบการทุจริตในแวดวงราชการ เรียกความสะใจจากคนไทยได้เกือบทั่วประเทศ ไม่แตกต่างจากการทำสงครามยาเสพติดของ“ทักษิณ ชินวัตร”ที่มีแต่เสียงเชียร์ สุดท้ายจบลงด้วยความเศร้าจากการ“ฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ”ส่วนคดีที่ขึ้นสู่ศาล 80 % ศาลยกฟ้อง
แต่นั่นยังเป็นการใช้อำนาจจากคนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีความชอบธรรมในเรื่องที่มา แต่ไม่มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ส่วน คสช. ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร การใช้อำนาจยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 44 ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็น “รัฏฐาธิปัตย์”สามารถใช้อำนาจตามมาตรานี้ในเกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้ มาตรา 44 เพื่อให้ขายหวยได้ในราคา 80 บาท
แต่นโยบายรัฐบาลกลับเปิดทางแก้กฎหมายให้หวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัว กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมของสังคมที่จะตามมา
พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เคยคิดที่จะใช้ มาตรา 44 ในการคงรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ เพื่อไม่ให้กระทบคดีถอดถอนที่ค้างอยู่ จนกลายเป็นการปล่อยผีนิรโทษกรรมให้กับ นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา รวมถึง ส.ว.อีก 39 คน พ้นผิด ทั้งที่เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำลายระบบรัฐสภา
พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เคยคิดที่จะใช้ มาตรา 44 ทวงคืนสมบัติชาติจากปตท. ทั้งๆ ที่มีสองหน่วยงานยืนยันตรงกันว่า ปตท.ยังคืนท่อก๊าซไม่ครบ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ปล่อยให้เรื่องนี้ถูกดองไว้ที่กฤษฎีกา จนป่านนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้
การใช้อำนาจรวดเร็ว ถูกใจประชาชนไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่คงทน แต่การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่างหาก ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะอยู่รอด