ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แจงกลับ “วิษณุ” ยืนยันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีมากกว่าปี 40 และ 50 แต่ถ้าเอาไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกหวั่นไม่ทันเวลา เพราะคราวที่แล้วปี 50 กฎหมายลูกหลายฉบับยังถูกดองไว้ในสภา เหน็บอยากแก้สัก 50 มาตราก็พร้อมรับฟัง อัดกลับ “ศรีราชา” ปกป้องประโยชน์ตัวเองเพราะจะถูกควบรวมกับ กสม.
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเนื้อแน่นเกินไปสามารถตัดออกประมาณ 30 มาตราว่า ตนทราบข่าวจากทางสื่อมวลชน เข้าใจว่านายวิษณุพูดเป็นภาพรวม ดังนั้นคงต้องรอดูคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะเสนอประเด็นใดและมาตราใดบ้าง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ในฐานะผู้ยกร่างฯ สามารถอธิบายได้ทุกมาตราและทุกถ้อยคำ ถ้ามาตราใดใครติดใจก็สามารถให้เหตุผลมาได้ไม่ ขนาดคนในครอบครัวเดียวกันยังมีความเห็นไม่ตรงกันได้เลย ดังนั้นการจะให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คนเห็นตรงเหมือนกับ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งหมด รวมทั้งนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ คงเป็นไปไม่ได้ คงต้องฟังเหตุและผลก่อน
ทั้งนี้ ถ้าหากเห็นว่ามาตราใดมีความจำเป็นเราก็คงไม่ตัดทิ้ง แต่ถ้าฟังเหตุผลแล้วเห็นว่าควรนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูก เราก็ปรับแก้ไข ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีมากกว่าปี 40 และ 50 ตัวเลขมาตราอาจจะมากกว่า เพราะมีการบัญญัติหมวดว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง เพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งแรก ถ้าตัดส่วนนี้ไปสั้นกว่าแน่นอน ดังนั้นจึงไม่อยากให้ไปดูว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้สั้นหรือยาวแต่ควรดูที่ความเหมาะสมและความจำเป็นมากกว่า
“บ้านเราหากเอาไปใส่ไว้ในกฎหมายลูก ถามว่าจะออกทันเวลาหรือไม่ เพราะกฎหมายลูกในปี 2550 หลายฉบับ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญถูกฉีกยังถูกดองไว้ในสภา และกฎหมายลูกแก้ง่าย ดังนั้นไม่ต้องห่วง หากนายวิษณุ อยากจะให้แก้สัก 50 มาตรา เราก็พร้อมที่จะรับฟัง และในช่วงระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย. ทางกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเชิญหน่วยงานที่เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาชี้แจงและอธิบายหลักการที่ขอเสนอปรับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งก็จะมีการเชิญฝ่ายการเมืองมาชี้แจงด้วยในภายหลัง” นายบวรศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคการเมืองเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า อย่ามาถามตนเลยว่าเหมาะสมหรือไม่ ขอให้ไปถามพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เสนอประเด็นนี้ว่าทำไมถึงเสนอเช่นนี้ ตนไม่ใช่คนคิด มีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 และขณะนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครม. และ คสช.ทำงานอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้ขยายการเลือกตั้งก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ถ้ายังไม่มีการแก้ไขตามโรดแมปวันที่ 23 ก.ค. กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และ สปช. ต้องพิจารณาลงมติเห็นชอบภายในวันที่ 6 ส.ค.
เมื่อถามว่า นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งฉายาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับฝันเฟื่อง นายบวรศักดิ์กล่าวว่า เข้าใจนายศรีราชา เพราะก็คงต้องออกมาปกป้องประโยชน์และต่อสู้เพื่อองค์กรของตัวเอง เนื่องจากองค์กรของท่านนั้นถูกควบรวมไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ท่านปกป้องประโยชน์ของท่านเหมือนกัน นายศรีราชาติทุกเรื่องแม้กระทั่งกล่าวหาว่าตนเผด็จการ ยอมรับว่าเข้าใจและเห็นใจนายศรีราชา แต่เราก็ต้องทำการปฏิรูปโดยยึดประชาชนเป็นหลัก