xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ฉะ รธน.ฝันเฟื่อง ห่วง รบ.ผสม.เละตุ้มเป๊ะ ย้ำเอา กม.นอกใช้ทันทีไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน(แฟ้มภาพ)
ประธานผู้ตรวจการฯ มองร่าง รธน.ไม่เข้มข้น สับการศึกษาพังมา 50 ปี มาเฟียกอบโกย ปชช.ไม่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ ชี้แก้ให้สวยงาม ใช้ไม่เป็นก็ไร้ค่า ฉะไปเรียนต่างประเทศเหมือนถูกล้างสมองไม่ดูบริบทสังคมไทย ย้ำเอา กม.นอกใช้ทันทีไม่ได้ ย้อน ยุบรวมผู้ตรวจฯ-กสม. คนเขียนรู้บทบาทสององค์กรหรือไม่ ชี้อัดใส่แต่ รธน.ยิ่งแก้ยาก ห่วง รบ.ผสม.เละตุ้มเป๊ะ ซัดเป็น รธน.ฝันเฟื่อง

วันนี้ (24 เม.ย.) ที่โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า กระบี่ อ่าวนาง จ.กระบี่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดโครงการสัมมนาสื่อมวลชน ประจำปี 2558 เรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : ทิศทางใหม่ของประเทศไทยและระบบนิติรัฐ โดยนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้รู้สึกยังไม่เข้มข้นเถียงกันตามกระแส กมธ.ยกร่างชุดนี้มีความหลากหลาย การคัดเลือกยังไม่ครอบคลุมทุกมิติทุกด้าน บางเรื่องแข็งบางเรื่องอ่อน หลายคนมาจากสถาบันเดียวกัน อย่างสถาบันพระปกเกล้า จึงมีข้อสงสัยว่ามีเหตุผลอะไร การร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับการสร้างบ้านให้คนอยู่ สิ่งสำคัญคือจะอยู่สุขสบายหรือไม่ ถ้าคนอาศัยไม่รู้จักใช้จะมีความหมายอะไร เช่นเดียวกันกับการปฏิรูป ปฏิรูปอย่างไรก็ตามหากคนใช้ไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ ตราบใดก็ตามที่ระบบการศึกษาของเราไม่ดีพอ คนไทยยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ รู้ผิดรู้ชอบ ไม่ล่วงล้ำสิทธิของคนอื่น นี่คือสิ่งสำคัญ แต่น่าเสียดายที่ระบบการศึกษามันพังมา 50 ปี กระทรวงศึกษาธิการก็มีแต่มาเฟีย ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน บางคนเป็น ผอ.แต่ไม่เคยไปโรงเรียนของตนเอง

นายศรีราชากล่าวต่อว่า อีกประเด็นการที่คนไปได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ เหมือนถูกล้างสมองให้เชื่อในสิ่งที่ไปเรียนมาโดยไม่ได้ดูบริบทสังคมไทยว่าทำตามได้หรือไม่ การที่คนไปเรียนรัฐศาสตร์หรือกฎหมายจากต่างประเทศ ต่างเอาสิ่งเหล่านั้นมาร่างรัฐธรรมนูญสำหรับสังคมไทย ตนเคยถูกถามตอนไปเรียนกฎหมายที่อเมริกาว่าจะนำกฎหมายใช้อย่างไรได้บ้าง ตนตอบว่ากฎหมายเขาสำหรับบ้านเมืองเขา ไม่ใช่บ้านเมืองเรา นำมาใช้กันไม่ได้ นอกจากจะประยุกต์ให้เหมาะสม ตอนนี้ตนก็ยืนยันเช่นเดิม การที่เราไปเอาของเขามาใช้ของเราในทันทีไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราต้องทดลองใช้ก่อนเพื่อให้รู้ว่าใช้ได้หรือไม่ การเมืองไทยตอนปี 2475 ผ่านมา 82 ปี สภาพบ้านเมืองเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่

“รัฐธรรมนูญจะสร้างสวยงามอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าคนภายใต้รัฐธรรมนูญไม่รู้จักหน้าที่ของตนก็จะเป็นแบบที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่ตัวคนไม่ใช่รัฐธรรมนูญ เขียนให้หรูแต่รู้เรื่องราวลึกซึ้งจริงหรือไม่ เช่น การรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คนเขียนรู้บทบาทของสององค์กรนี้จริงหรือไม่ ไม่ใช่เขียนแบบแค้นนี้ต้องชำระ ท้ายที่สุดมันจะฟ้องว่า กมธ.ยกร่างฯ ทำถูกหรือทำผิด และกรรมนั้นย่อมจะตกไปถึงท่าน บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้เกินกว่าครึ่งสามารถอยู่ในกฎหมายลูกได้ ยิ่งถ้าเขียนให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก จะเกิดปัญหาตามมา เช่น หากโอเพ่นลิสต์ใช้แล้วมีปัญหาจะทำอย่างไร” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว

นายศรีราชากล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนให้รัฐบาลมีอำนาจมากเกินจนเกิดการปฏิวัติเมื่อปี 2549 มาตอนนี้เขียนสวนทางกลับกันให้มีอำนาจน้อยลง คือการให้เป็นรัฐบาลผสมก็จะมีปัญหาตามมาอีกเกรงว่าจะเละตุ้มเป๊ะ ยิ่งเขียนแบบให้รัฐบาลมีอำนาจมากยังดีกว่า เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คนเขียนมีความตั้งใจที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ แต่ดูแล้วจะเป็นรัฐธรรมนูญแบบฝันเฟื่อง หลายสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ เราไม่ได้คำนึงถึงสถานภาพที่ควรเป็นของประชาชน หรือไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพการเงินการคลังว่าประเทศนี้ทำได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญนี้คงเป็นอนุสาวรีย์ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตว่าครั้งหนึ่งเคยพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น