รองนายกฯ เผย รบ.กำลังดูข้อดีข้อเสีย ม.181-182 แจงหากทำประชามติต้องแก้ รธน.ชั่วคราวก่อน 6 ส.ค.เพื่อขยายเวลาที่ล็อกไว้ ยกแนวคำถามรับ-ไม่รับ เท่านั้นไม่มีฉบับตัวเลือกให้ รับส่วนตัวอยากให้ รธน.ผ่าน อ้างไม่อยากอยู่ต่อ พร้อมรับ 7 ข้อเสนอค้าน รธน.ของศาลยุติธรรม แจงรับมากลั่นกรองก่อนขั้นแปรญัติติ
วันนี้ (29 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มาตรา 181 และ 182 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเสนอกฎหมายพิเศษนั้นเป็นเผด็จการรัฐสภา ว่ายอมรับว่ามาตราเหล่านี้มันใหม่ ยังไม่เคยใช้ อาจจะเกิดปัญหาตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน รัฐบาลกำลังดูอยู่ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ตั้งเป็นข้อสังเกตบอกไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะถึงขั้นต้องตัดหรือไม่ ยังตอบชัดเจนไม่ได้ ต้องดูอีกที เวลานี้รัฐบาลรับฟัง ใครเสนอแนะอะไรจะเอามาเช็กดู อย่างไรก็ตาม มาตรา 181 และ 182 นั้นตนพยายามเดาใจ กมธ.ยกร่างฯ ว่าที่คิดและเสนอมาแบบนี้จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
“ความที่มันใหม่ ไม่เคยทดลองใช้ และบ้านเราอะไรที่คนอื่นเขาว่าดี แล้วเราคิดว่าดี แต่พอใช้ไปมันอาจจะเกิดปัญหาได้เหมือนกัน และดูจะเกิดทุกเรื่องไป บางทีเอามันไปง่ายๆ เรียบๆ อย่างที่เคยทำดูจะราบรื่นกว่า ความจริงเราอยากจะมีข้อใหม่เพื่อการปฏิรูป แต่ความจริงเหมือนดาบสองคม พอไม่ชินจะถูกโจมตี เมื่อถูกโจมตีจะเกิดความรู้สึก คนเราบางครั้งพอยังไม่เคยทดลองใช้ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าหวั่นไหวเหมือนกัน ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกหวั่นไหวว่าตกลงแล้วดีจริงไม่ดีจริง ตามที่ไม่เคยลอง พอให้ลองใช้ไปแล้วมีปัญหาแล้วค่อยแก้ภายใน 5 ปี อย่างประธาน กมธ.ยกร่างฯ ว่า คนก็เริ่มไม่แน่ใจว่าคราวที่แล้วก็พูดอย่างนี้ไม่ใช่หรือ แล้วสุดท้ายจะแก้ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือจะเกิดความเสียหายก่อนครบ 5 ปีหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่างนี้ต้องทำความเข้าใจ ผมได้มีโอกาสเจอ กมธ.ยกร่างฯ บางคนได้บอกไปว่า ถ้าว่างๆ อยู่ต้องพยายามทำความเข้าใจอธิบายให้มาก มาตราแต่ละมาตราที่คิดขึ้นมาใหม่ต้องการตอบปัญหาอะไร” นายวิษณุกล่าว
ส่วนกรณีนายบวรศักดิ์ระบุว่าหากจะทำประชามติจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนวันที่ 6 ส.ค.นั้น นายวิษณุกล่าวว่า แน่นอน เพราะวันที่ 6 ส.ค.เป็นวันที่ สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นทิ้งไว้ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมือจารไว้ในสมุดไทยเพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 4 ก.ย.58 ซึ่งการลงประชามติในกรณีหากตัดสินใจว่าจะทำจะมีขึ้นหลังจาก สปช.มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว ทั้งนี้ การทำประชามติต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อกำหนดกระบวนการ วันและเวลาที่จะทำ วิธีการที่จะทำ ที่สำคัญการทำประชามติจะกระทบเวลาที่ล็อกเอาไว้ทั้งหมดในรัฐธรรมนูญ ต้องขยายระยะเวลาออกไป 3-4 เดือน จึงต้องทลายกำแพงพวกนี้ให้หมด การที่นายบวรศักดิ์บอกว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนวันที่ 6 ส.ค.นั้นถูกต้องแล้ว ส่วนมาตรา 44 ทำได้สารพัดก็จริง แต่จะถึงขนาดไปขัดแย้งกับตัวรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญล็อกไว้แล้วว่าต้องทำให้เสร็จภายในกี่วัน โดยการทำประชามติจะทำให้กรอบเวลาที่กำหนดไว้ในนั้นเคลื่อนหมด เท่ากับใช้มาตรา 44 ไปทำลายกำหนดการตามรัฐธรรมนูญ นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงเอามาตราดังกล่าวไปลงประชามติไม่ได้ ดังนั้น หากจะทำประชามติต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายเวลาให้ยาวออกไป
เมื่อถามว่า รูปแบบคำถามประชาชนจะเป็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้คิด เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้คิดว่าจะให้ทำประชามติ คงจะต้องถามกันอีกทีว่าจะถามอย่างไร อย่างไรก็ตาม รูปแบบคำถามในอดีตจะมีแค่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่เคยมีถามว่าหากไม่รับแล้วให้เลือกฉบับไหนแทนซึ่งจะยุ่งพิลึกหากบอกว่าไม่รับแล้วจะเอาฉบับไหนมาใช้ ตามหลักต้องทำความเข้าใจกับฉบับฝันเฟื่องนี้ แต่สมมุติว่าไม่รับฉบับฝันเฟื่องแล้วไปเอาฉบับปี 2540 กับ 2550 ก็ต้องไปเอาฉบับปี 2540 และ 2550 ออกมาทำความเข้าใจกับคนใหม่อีก ทีนี้จะยุ่งกันใหญ่ ครั้นจะบอกว่าไม่ต้องทำความเข้าใจหรอก ให้เลือกเลยเพราะเคยใช้มาแล้ว ถามว่าแน่ใจหรือว่าคนเขาจะเข้าใจ ตนยังไม่แน่ใจเลย บางทีเข้าใจแต่ลืมหมดแล้ว ต่อข้อถามว่าตกลงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชื่อฉบับฝันเฟื่องใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนเอามาจากที่นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินพูดเอาไว้
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่มีการพนันกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านหรือไม่ผ่านนั้น ตอนนี้คงตอบไม่ได้ว่าผ่านหรือไม่ เพราะที่สุดแล้วที่พูดๆ กัน ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอาจจะแก้ตามหมด ถ้าจะมาเป็นจิ้งจกร้องทักก่อนเหมือนกินปูนร้อนท้องว่าไม่ผ่านมันอคติไปหน่อย ตนคิดว่าทุกคนอยากให้ผ่านทั้งนั้นเพื่อจะได้ไปสู่โรดแมประยะที่ 3 ได้โดยเร็ว หรือใครไม่อยากไป ตนคนหนึ่งที่อยากไป แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่ผ่านอายุของรัฐบาลต้องขยายไปอีก แน่นอนว่าอาจจะทำให้รัฐบาลถูกมองว่าอยากอยู่ยาวอีก
“ผมถึงบอกว่าจะให้รัฐบาลมาพูดตอนนี้ ไม่ได้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ให้คนอื่นพูดไปก่อน รัฐบาลขอพูดคนสุดท้าย ถ้ามาพูดก่อนเดี๋ยวจะหามีอะไรในใจ ความจริงถ้ารัฐธรรมนูญผ่านก็เดือดร้อน แต่ถ้าไปทำประชามติก็เดือดร้อนเหมือนกันเพราะมันขยายเวลาไปอีกยาว ส่วนตัวผมอยากให้ผ่าน แต่นายกฯ จะคิดอย่างไรผมไม่รู้ ต้องไปถามท่านเอง” รองนายกฯ กล่าว
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีข้อเสนอของศาลยุติธรรมที่มีความเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญ 7 ข้อว่า ตนทราบว่าศาลยุติธรรมเตรียมส่งข้อเสนอดังกล่าวมาให้รัฐบาล เนื่องจากเขาไม่สิทธิ์จะขอแก้ ซึ่งเมื่อส่งมาแล้วรัฐบาลก็จะกลั่นกรองอีกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลไปสู่ขั้นแปรญัตติ ไม่ใช่ว่าจะเอาตามที่เขาเสนอมาทั้งหมด ซึ่งรวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ ในส่วนข้อเสนอ 7 ข้อของศาลยุติธรรมนั้น ตามที่ตนได้อ่านจากหนังสือพิมพ์บางข้ออาจไม่มีอะไร เป็นการเสนอขึ้นมา แต่บางข้อก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับเขาจริงๆ แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่ตนก็แปลกใจว่าทำไมไม่อยู่ใน 7 ข้อเสนอ เช่น การให้เปลี่ยนประธานศาลฎีกาในทุกๆ กี่ปี ทำไมเขาไม่ท้วง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของสมบัติผลัดกันชม