ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงจุดยืนค้านควบรวม กสม. เกิดปัญหา ทั้งเรื่องการบริการ บุคลากร และต่างประเทศเข้าใจผิด ยันไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกัน อีกทั้งไม่ได้ช่วยประหยัดงบประมาณ เพราะยังผุดองค์กรใหม่อีก 11 องค์กร แนะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เตือนอย่าคาดเดาประโยชน์ทั้งที่เห็นปัญหา
วันนี้ (17 เม.ย.) นายศรีราชา วงศารยางค์กูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ นายบูรณ์ ฐาปนดุล ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกันแถลงข่าวแสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายศรีราชา กล่าวว่า เรามีจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทั้งสององค์กรเข้าด้วยกัน และเห็นควรให้ทั้งสององค์กรอยู่ตามเดิมและปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองต่อไป เพราะการควบรวมองค์กรจะทำให้ความมีอัตลักษณ์ขององค์กรเดิมเสียไป แม้จะมีบางประเทศที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและ กสม. เป็นองค์กรเดียวกัน การที่เราแยกองค์กรทั้งสองออกจากกันตั้งแต่ต้น จะเอามารวมกันก็ทำให้เกิดปัญหา ทั้งเรื่องการบริการ เรื่องบุคลากร และต่างประเทศก็จะมองว่าเราเป็นองค์กรใหม่ไม่ใช่องค์กรเดิม ส่วนปัญหาเรื่องการทำงานซ้ำซ้อนกันนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ กสม. ไม่มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน แต่จะเป็นลักษณะที่คาบเกี่ยวกัน และเมื่อเทียบกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความซ้ำซ้อนกับผู้ตรวจการแผ่นดินในบางเรื่อง แต่ที่ผ่านมาก็สามารถประสานงานกันได้ ไม่มีปัญหา ส่วนเหตุผลที่บอกว่าการควบรวมจะประหยัดงบประมาณก็ยืนยันว่าแม้จะควบรวมก็ไม่ได้ประหยัดงบประมาณลงไปจากเดิม และเห็นว่าการที่ตั้งองค์กรใหม่อีก 11 องค์กรนั้นก็ไม่ได้ช่วยประหยัดงบประมาณ
“เราคิดว่าการไม่ควบรวมจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรกำหนดบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินให้ชัดเจน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อาทิ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นเวลา 30 วัน ในระหว่างที่พิจารณาคำร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน หรือหากผู้ตรวจมีคำวินิจฉัยให้หน่วยงานนั้นต้องปรับปรุงแก้ไขแล้วภายใน 90 วัน หน่วยงานดังกล่าวไม่ดำเนินการ เพราะเพิกเฉยให้ถือเป็นความผิดทางวินัย ซึ่งจะทำให้การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินมีประสิทธิภาพขึ้น และเป็นประโยชน์กับประชาชน” นายศรีราชา กล่าว
ด้าน นายรักษเกชา กล่าวเสริมว่า การควบรวมองค์กรนั้นแม้กรรมาธิการยกร่างฯ จะคาดหวังถึงประโยชน์ในอนาคต แต่ขณะนี้เรามองเห็นถึงปัญหา และสะท้อนไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ แล้วว่า การควบรวมจะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน และการทำงาน ซึ่งหากมีการควบรวมและแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ก็จะกระทบกับภาคีต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราต้องไปสมัครเป็นสมาชิกใหม่ ต้องไปเริ่มประสานงานใหม่
นอกจากนั้น ก็จะทำให้ความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศสูญเปล่า และที่แน่นอนคือ จะกระทบกับการจัดประชุม International Ombudsman Institute (IOI) World Conference ครั้งที่ 11 ในปี 2559 ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ อยากให้กรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณา โดยให้คำนึงถึงความเข้มแข็งและประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรเป็นหลัก มากกว่าประโยชน์จากการควบรวมที่ยังเป็นการคาดเดา แต่อย่างไรก็ตามหากต้องควบรวมจริงเราก็ต้องทำตาม