ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลงาน 15 ปี ระบุสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกร้องเรียนมากสุดกว่า 5 พันเรื่อง ไม่ขัดควบรวมกับ กสม. เชื่อหากได้รับความร่วมมือจากข้าราชการทั้ง 2 หน่วยคงไม่มีปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมจัดงานสัมมนา 15 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในช่วงวันที่ 30 มี.ค - 3 เม.ย.นี้ โดยภายในงานจะมีผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงานต่างๆ อาทิ ตัวแทนจากเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน นักปกครอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งนี้ยังมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มาเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาด้วย อย่างไรก็ตาม การสัมมนาดังกล่าวจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินของไทยกับนานาชาติด้วย
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผนดินได้เนินการแก้ไขเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จทั้งสิน จำนวน 32,486 เรื่อง จากทั้งหมด 34,864 เรื่อง ส่วนภูมิภาคที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ ภาคกลาง จำนวน 18,089 เรื่อง โดยหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 5,818 เรื่อง
พล.อ.วิทวัสยังกล่าวกรณีการควบรวมระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากจะควบรวมจริงคงจะมีการประกาศให้การกำหนดบทเฉพาะกาลขึ้นมา และต้องดำเนินการปรับปรุงให้ 2 หน่วยงานเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อรองรับตามอำนาจหน้าที่ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนจะมีปัญหาในการทำงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ตนเชื่อว่าการรวม 2 หน่วยงานย่อมมีปัญหาแตกต่างกัน แต่ก็สามารถจะแก้ปัญหาได้ หากได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ ตนเชื่อว่างานในอนาคตจะราบรื่นขึ้น
ทั้งนี้ งานในแต่ละหน่วยงานคงไม่ซ้ำซ้อนกันทั้งหมด งานของผู้ตรวจการฯตรวจสอบเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วน กสม.ทำงานในเรื่องอนุสัญญาทวิภาคีระหว่างประเทศ ที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสหประชาชาติ ดังนั้น เมื่อมีการควบรวมคงไม่เกิดความซ้ำซ้อนและความเสียหาย
“สิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมองในเวลานี้มี 2 ประเด็น คือ ประสิทธิภาพว่าจะทำงานอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด และการพัฒนากฎหมายขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้มากขึ้น ผู้ตรวจการจะต้องมีอำนาจรักษาผลประโยชน์อย่างแท้จริง แต่ทั้งนี้เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ก็ควรจะมีอำนาจบางอย่างเพื่อให้การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นไปด้วยความราบรื่น”