คณะกรรมการสิทธิฯ เผยไอซีซี จ่อยกเลิกการเป็นสมาชิกของกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ไทย หากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 มี.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ผลการประชุม Annual Meeting International Coordinating Committee of National Human Rights Institutions (ICC) และ SCA (Sub-Committee on Accreditation) ที่นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมประชุมระหว่าง (11-13มี.ค.) ที่ผ่านมา ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีสมาชิกทั่วโลกร้อยกว่าประเทศเข้าร่วมประชุม
เนื้อหาในเอกสารระบุว่า นอกเหนือจากการประชุมตามวาระปกติแล้ว ได้มีการปรึกษากันในประเด็นเรื่องการจะพิจารณาลดสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยจากสถานะเอ เป็นบี ในเดือนตุลาคม 2558 หากประเทศไทยไม่มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ต้องเป็นไปตามหลักการปารีส (Paris Principle) โดยจะต้องกำหนดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย
นอกจากนี้ยังได้แจ้งถึงกรณีร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ กสม.ที่อาจจะมีการควบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินโดยจะให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ ถ้าหมายถึงการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจถือได้ว่าเป็นการยกเลิกองค์กรสิทธิมนุษยชนและตั้งองค์กรใหม่ขึ้นจะส่งผลต่อสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ที่ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานมากว่า 10 ปี จะสิ้นสุดลงในทุกกรณีด้วย และหากประเทศไทยต้องการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนของโลกอีกครั้งจะต้องสมัครใหม่ โดยการยื่นใบสมัครใหม่จะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินงานไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง และจะต้องมีการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ฉบับที่ 1 ขององค์กรที่จัดตั้งใหม่แล้วเสร็จก่อน กระบวนการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งหมายความว่าองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของไทยจะไม่มีอยู่ในระบบของ ICC ในช่วงเวลานั้นด้วย
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยยกเลิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและตั้งองค์กรใหม่ โดยใช้ชื่อองค์กรว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในด้านลบของรัฐบาลไทยในสายตาประชาคมโลก