สปช. รับทราบแนวทางปฏิรูปท้องถิ่น กมธ. เสนอตั้งสภาปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ วางนโยบายและบริหาร หวังลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ หลังกระจายอำนาจขยายวงกว้าง
วันนี้ (8 เม.ย.) การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เพื่อพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เรื่อง แนวทางการปฏิรูปการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น โดย นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ได้กล่าวรายงานต่อที่ประชุม ว่า เนื่องจากว่าแนวทางการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการจะเกี่ยวพันกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมีความสัมพันธ์ในหลายมาตรา และได้มีการเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯไปแล้ว ซึ่งนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงก่อตั้งระบบการปกครองท้องถิ่นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ผ่านมากว่า 110 ปี การปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหามีอุปสรรคและวิวัฒนาการที่ล่าช้า เมื่อเทียบกับการบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค แม้ในรัฐธรรมนูญฯ 2540 และ 2550 จะมีความพยายามให้ท้องถิ่นมีพัฒนาการด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในสภาวการณ์ปัจจุบัน การรวมศูนย์อำนาจอาจจะไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความต้องการของประชาชนที่มีความสลับซับซ้อน
ทางกรรมาธิการเห็นสมควรให้มีการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้พลังของประชาชน 60 กว่าล้านคน มาช่วยกันแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองโดยเฉพาะในพื้นที่ของตนเอง มากกว่าการที่จะให้รัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายการเมืองและฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ช่วยเหลือและชี้นำแต่เพียงอย่างเดียว โดยเชื่อว่าหากมีการกระจายอำนาจที่มากกว่าเดิม นอกจากปัญหาจะได้รับการแก้ไขแล้ว ความเหลื่อมล้ำก็ลดลง ประชาชนเข้มแข็งขึ้น ประชาธิปไตยในทางปฏิบัติก็จะเกิดขึ้น และที่สำคัญคือ การต่อสู้ทางการเมืองในระดับชาติก็น่าจะลดความรุนแรงลงไปได้ เพราะผลประโยชน์และอำนาจวาสนาลงไปสู่ยังท้องถิ่นแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นมีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงคำว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็น “การบริหารท้องถิ่น” เสนอให้มีการจัดการท้องถิ่นแบบคร่อมพื้นที่เพื่อจัดการภารกิจเฉพาะบางประการ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ หรือเขตพื้นที่เกาะที่มีความจำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ เสนอให้ยกพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเป็นเทศบาล เพราะยังมีท้องถิ่นขนาดเล็กจำนวนมากมีงบประมาณที่น้อยเกินกว่าจะจัดบริการสาธารณะและแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และให้มีสภาปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ เพื่อเป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายและบริหารงานให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ สมาชิกต่างแสดงความเห็นด้วยกับการควบรวมธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้เพียงพอจัดการตัวเองได้ และสนับสนุนให้มีสภาปฏิรูปท้องถิ่นแห่งชาติขึ้นมา ให้ประชาชนมีส่วนรวม และตรวจสอบดูแล กระจายอำนาจจะเป็นฐานรากกระจายไปเรื่องอื่น ความสัมพันธ์เชื่อมโยงภูมิภาค ขั้นตอนการกระจาย กระบวนการรับวินิจฉัยเรื่องร้องทุก เรื่องละเมิดที่เกิดจากการองค์กรบริหารท้องถิ่นต่างๆ บางกรณีไม่น่าจะถึงศาล ขณะที่ นายเทียนฉาย ได้ฝากให้เน้นเรื่องระบบตรวจสอบภายในสำคัญมาก ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายในภาครัฐให้ได้ และคณะกรรมาธิการควรจะกลับไปทำการบ้านว่า แผนปฏิรูปน่าจะตอบสภาพปัญหาจริงๆในแต่ละเรื่องได้อย่างไร ปัญหานี้นำไปสู่วิธีแก้อย่างไร ปฏิรูปอย่างนี้แล้วจะเห็นอะไรเกิดขึ้นและประชาชนจะได้อะไร จากนั้นที่ประชุมได้มีมติรับทราบแนวทางเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น