xs
xsm
sm
md
lg

ค้ามนุษย์ : ธุรกิจต้องห้ามสำหรับอุบาสก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

การค้าขาย 5 ประเภทที่อุบาสกไม่ควรทำคือ

1. สัตตวณิชชา ค้าขายสิ่งมีชีวิต (การค้ามนุษย์รวมอยู่ในข้อนี้)

2. มังสวณิชชา ค้าขายเนื้อสัตว์ (อรรถแก้ว่าอาชีพเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าเอาเนื้อขาย)

3. มัชชวณิชชา ค้าขายน้ำเมา

4. วิสวณิชชา ค้าขายยาพิษ

นี่คือพุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกหมวดอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต

โดยนัยแห่งคำสอนข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงมุ่งเน้นไปที่ชาวพุทธผู้เคร่งครัดในระดับรักษาศีล 8 หรือที่เรียกว่า อุบาสก โดยรวมความไปถึงอุบาสิกาด้วย แต่มิได้มุ่งห้ามชาวพุทธในระดับปกติชนคนทั่วไปซึ่งมีระดับศีลต่ำกว่านี้ รวมไปถึงสาธุชนซึ่งรักษาศีล 5 ด้วย

ทำไมอุบาสกจึงไม่ควรทำการค้าขาย 5 ประเภทดังกล่าวข้างต้น และถ้าทำจะผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งใน 8 ข้อหรือไม่?

ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ ผู้เขียนใคร่ขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับประเภทของบุคคลซึ่งอาจแบ่งได้ตามคำสอนของพระพุทธองค์เรียงลำดับจากต่ำไปหาสูงดังนี้

1. ปาปชน คนไม่มีศีล ไม่มีธรรม

2. สาธุชน คนที่มีศีล 5 หรือนิจศีล

3. อุบาสกหรืออุบาสิกา คนที่เข้าถึงพระรัตนตรัยและมีศีล 8

4. ภิกษุและภิกษุณี นักบวชชาย และนักบวชหญิงมีศีล 227 ข้อและ 311 ข้อตามลำดับ

5. สามเณรและสามเณรีได้แก่ชายและหญิง ซึ่งบรรพชาเป็นสามเณร และสามเณรีก่อนที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุและภิกษุณีเมื่ออายุครบ 20 ปีที่มีศีล 10 ข้อ และมีข้อวัตรปฏิบัติซึ่งนำมาจากศีลของภิกษุ และภิกษุณีมาใช้โดยอนุโลมอีกส่วนหนึ่ง

สำหรับประเด็นว่า ทำไมอุบาสกไม่ควรประกอบอาชีพค้าขาย 5 ประเภทดังกล่าว มิได้ปรากฏเหตุที่มาแต่อย่างใด แต่พอสันนิษฐานได้ว่า ผู้ที่รักษาศีล 8 และเข้าถึงพระรัตนตรัยแล้วไม่ควรทำในสิ่งอันเป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง อันเนื่องมาจากอาชีพ 5 ประเภทนี้มีส่วนในการผิดศีล เช่น ค้ามนุษย์ก็มีส่วนทำให้มนุษย์ที่ถูกนำมาเป็นสินค้าได้รับความทุกข์ทรมาน อันถือได้ว่าขาดเมตตา และกรุณา เป็นต้น ซึ่งผู้เป็นอุบาสกไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่ก็ไม่ถึงกับผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งใน 8 ข้อเพียงแต่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงกว่าศีลเท่านั้น

ประเทศไทยซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธมามกะ และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นอุบาสกและอุบาสิกา ดังนั้น การค้าขายมนุษย์ซึ่งเป็นอาชีพต้องห้ามหนึ่งในห้าสำหรับอุบาสกจึงไม่ควรจะมี และนอกจากคำสอนทางพุทธศาสนาห้ามแล้ว ยังมีกฎหมายของประเทศห้ามด้วย

การค้ามนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีรูปแบบใดบ้าง ทั้งจะแก้ไขและป้องกันได้อย่างไร?

การค้ามนุษย์ในครั้งแรก ถ้าดูจากเหตุการณ์ทางสังคมในหลายๆ ประเทศน่าจะเกิดขึ้นจากระบบการค้าทาสเพื่อนำมาใช้แรงงานในภาคเกษตร และต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมเกิดขึ้นแรงงานเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งแรงงานคนจำนวนมากๆ

แต่ในปัจจุบันการค้ามนุษย์ได้พัฒนารูปแบบหลากหลายขึ้น มีตั้งแต่การนำมาบังคับใช้แรงงานไปจนถึงการขายบริการทางเพศ และการบังคับให้ขอทานก็มี

โดยสรุปแล้ว การค้ามนุษย์ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกิดจากการลักลอบนำเข้าแรงงานจากประเทศยากจน หรือประเทศที่แรงงานไร้ฝีมือหรือ Unskilled Labour หางานทำได้ยาก เช่น ประเทศไทยมีการลักลอบนำเข้าแรงงานจากประเทศพม่า ลาว และเขมร เข้ามา และสาเหตุที่แรงงานเหล่านี้ยอมจ่ายค่าหัวเพื่อแลกกับการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็น่าจะมาจากค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และงานที่แรงงานเหล่านี้เข้ามาทำส่วนใหญ่คนไทยไม่ทำ จึงเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ เช่น งานในเรือประมง และในโรงงานอันเกี่ยวเนื่องกับการประมงเช่นงานคัดแยกปลา ปลากระป๋อง เป็นต้น

จากการนำเข้าแรงงานเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านนี้เอง ประเทศไทยจึงตกเป็นเป้าให้ประเทศตะวันตกนำไปเป็นเงื่อนไขในการกีดกันสินค้าจนเป็นเหตุให้การส่งออกสินค้าบางประเภทถูกกีดกัน และเป็นเพราะให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องจัดการแก้ไขโดยด่วน ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลชุดนี้เข้าไปแก้ไขให้มีการจดทะเบียนแรงงานเถื่อน และการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศกลับประเทศไทย เป็นต้น รวมไปถึงการเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบการ เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดไป

อันที่จริง ถ้ามองในแง่หลักการแล้วประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ซึ่งมีคำสอนห้ามค้ามนุษย์ และมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้ จึงไม่น่าที่จะเป็นเหตุให้การค้ามนุษย์เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้

แต่ที่ปัญหานี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้จนเป็นเหตุให้ต่างประเทศนำไปเป็นเงื่อนไขกีดกันการค้าได้ ก็ด้วยเหตุเพียงประการเดียวคือการบังคับใช้กฎหมาย และการนำคำสอนพุทธนำมาใช้ไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น