ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ทิศทางยุทธศาสตร์และการดำเนินงานของ กกต.ชุดที่สามได้ทำให้ความเป็นระบบราชการของ กกต.ได้ทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กกต.ก็ได้พาตัวเองไปสู่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง พร้อมๆกับการทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนกลายเป็นส่วนต่อขยายของโครงสร้างอำนาจแบบลำดับชั้นและสร้างจิตสำนึกแบบอำนาจนิยมขึ้นมา
พันธกิจของการทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม กลายเป็นถ้อยคำอันว่างเปล่า การกวาดล้างนักการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้งกลายเป็นนิยายปรัมปราเสมือนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งโบราณกาล การสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมกลายเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกแบบอำนาจนิยมและการสร้างมวลชนที่ต้องเชื่อฟังภายใต้การบังคับบัญชา
กกต.ชุดที่สามได้ถูกเลือกมาภายใต้ระบบการสรรหาแบบเก่า ซึ่งหมายถึงเป็นแบบที่เปิดพื้นที่ทางอำนาจให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้โดยสะดวก ทั้งในส่วนที่เป็นกรรมการสรรหาซึ่งมีตัวแทนของพรรคการเมืองร่วมเป็นกรรมการ และในส่วนของการเลือกที่อยู่ภายใต้อำนาจของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 อันมีลักษณะเป็น “สภาผัว สภาเมีย” ของนักการเมือง
ผลลัพธ์ของการเลือก กกต.จึงออกมาในทิศทางที่ คนดี มีคุณธรรม มีความสามารถในการตัดสินใจและมีความกล้าหาญ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของ กกต. ตามสังคมคาดหวัง ทั้งคุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ คุณนาม ยิ้มแย้ม คุณวิชา มหาคุณ คุณแก้วสรร อติโพธิ์ และคุณอุดม เฟื่องฟุ้ง ไม่ได้รับการเลือกจากสมาชิกวุฒิสภาให้เป็น กกต.แม้แต่คนเดียว
กลุ่มคนที่ได้รับเลือกเข้ามาส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่สังคมแทบไม่เคยรู้จัก มีลักษณะประนีประนอมกับฝ่ายการเมืองสูง มีสำนึกแบบราชการเชิงอำนาจเข้มข้น และบางคนก็มีเสียงครหาว่าหน่วยงานต้นสังกัดไม่ต้องการ กล่าวได้ว่าฝ่ายการเมืองสามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเลือก จนกระทั่งได้บุคคลที่พวกเขาคิดว่าจะสร้างผลกระทบทางลบแก่พวกเขาน้อยที่สุดเข้ามาเป็น กกต.
นักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นไม่ผิดหวังวังกับสิ่งที่พวกเขาได้ลงมือกระทำในการกำหนดกลุ่มบุคคลที่เข้ามาเป็น กกต. เพราะว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานอันยาวนานร่วม 7 ปี ของกกต.ชุดที่สามการให้ใบเหลืองและใบแดงมีน้อยมาก ผลที่ตามมาทำให้บรรดานักการเมืองมองไม่เห็น กกต.อยู่ในสายตาอีกต่อไป การทุจริตซื้อเสียงจึงระบาดเพิ่มขึ้นอย่างหนักหน่วงทั้งในการเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่น
เรียกได้ว่าที่ไหนมีการเลือกตั้ง ที่นั่นมีการซื้อเสียง ชาวบ้านเขารู้กันทั้งประเทศ คงมีแต่กกต.เท่านั้นที่หากตาไม่บอด หูไม่หนวก ก็คงไร้สมรรถภาพอย่างถึงที่สุด เพราะไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามอาณัติที่สังคมมอบหมายให้ได้แม้แต่น้อย
การจัดการเลือกตั้งเรียบร้อย มีจำนวนคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งมาก และเลือกตั้งสำเร็จตามหน้าที่ได้ ส.ส.และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลดูเหมือนเป็นสิ่งที่ กกต.ภูมิใจนักภูมิใจหนา แต่หาก กกต.คิดว่าการจัดเลือกตั้งสำเร็จเป็นสุดยอดผลงานแล้ว ผมว่า กกต.คิดผิดอย่างมหาศาล เพราะก่อนมี กกต. กระทรวงมหาดไทยก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้เรียบร้อยและสำเร็จไม่แพ้ กกต. มิหนำซ้ำยังอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าอีกด้วยในแง่การใช้งบประมาณ
สังคมไม่ได้คาดหวังให้ กกต. ทำหน้าที่เพียงแค่การจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ หากแต่มีความคาดหวังให้กกต.จัดการเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ สุจริต และเที่ยงธรรม แต่เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ กกต.ท่องเอาไว้หลอกชาวบ้านเท่านั้น มิได้ยึดถือย่างจริงจังในฐานะที่เป็นพันธกิจขององค์การที่พึงกระทำให้เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงของการเมืองไทย
กกต.ชุดที่สามยังถลำลึกลงไปสร้างรอยด่างขึ้นแก่องค์การอิสระซึ่งทำให้สังคมแทบไม่เหลือความหวังใดหลงเหลืออยู่ ด้วยการสร้างหลักสูตรอบรมให้แก่กลุ่มชนชั้นนำภาคการเมือง ธุรกิจ และสังคม โดยใช้เงินจำนวนหลายล้านบาทต่อปี มีการนำเงินภาษีประชาชนให้แก่กลุ่มชนชั้นนำฟรีๆ ทั้งการอบรมฟรีและการพาผู้เข้าอบรมไปเที่ยวต่างประเทศฟรีโดยเฉพาะในรุ่นแรกๆ
แต่ที่น่าสังเวชอย่างยิ่งคือ กกต.ผู้ริเริ่มสร้างหลักสูตรนี้กลับเข้าใจว่า การจัดหลักสูตรอบรมนักการเมืองระดับสูง เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุก ที่ทำให้ กกต.เข้าไปสัมผัสกับฝ่ายการเมืองและคาดหวังว่าฝ่ายการจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นต่อกกต. รวมทั้งคาดหวังอย่างไร้เดียงสาตามประสาคนที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของการเมืองเมืองว่า หลักสูตรจะสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มการเมืองที่มีความขัดแย้งกัน
สังคมก็ได้แต่ฉงนกับบทบาทของ กกต. ว่าเหตุใดองค์การที่ต้องควบคุมนักการเมืองจึงไปสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับนักการเมือง เพราะดูเป็นเรื่องที่ผิดปกติและขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง ยิ่งในสังคมไทยซึ่งมีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าหลักการและความถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่า การปราบปรามการทุจริตเลือกตั้งคงเป็นไปได้ในความฝันเท่านั้น
มีบางคนตีความว่า การจัดหลักสูตรอบรมนักการเมืองทำให้ กกต.ได้หน้าได้ตาและได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นจากการได้รับการยอมรับและการบริการอำนวยความสะดวกจากบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจที่เคยผ่านหลักสูตรอบรม การตีความในแง่นี้ย่อมหลายถึงว่า กกต.ได้นำผลประโยชน์ขององค์การและของประเทศมารับใช้ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งต่อมาภายหลังภาพลักษณะนี้ก็ปรากฏชัดมากขึ้นเมื่อ กกต.บางคนที่หมดวาระได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แก่พรรคการเมืองบางพรรค
กระบวนการทำให้องค์การของตนเองห่างไกลจากองค์การพันธกิจเกิดขึ้นในอีกมิติหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้การจัดหลักสูตรอบรมแก่ชนชั้นนำทางการเมืองและธุรกิจ นั่นคือการสร้างจิตสำนึกแบบอำนาจนิยม และการมีส่วนร่วมแบบจัดตั้งกึ่งทหารขึ้นมา ผ่านโครงการที่เรียกว่า “ลูกเสือ กกต.” โครงการนี้สะท้อนความคิดและความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของ กกต.เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง
แนวคิดการจัดตั้งลูกเสือมีรากฐานจาก จากสงครามระหว่างอังกฤษกับพวกบัวร์ ที่เมืองมาฟิคิง แอฟริกาใต้ ช่วงปี 2542 ซึ่ง ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ ชาวอังกฤษได้ตั้งกองทหารเด็กให้ช่วยสอดแนมการรบ จนรบชนะข้าศึก เมื่อกลับไปประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2450 จึงได้ทดลองนำเด็กชาย 20 คน ไปฝึกอยู่ค่ายพักแรมที่เกาะบราวน์ซี และปี พ.ศ. 2451 จึงได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศอังกฤษ
การนำแนวคิดการจัดตั้งกึ่งกองกำลังทหารมาใช้เป็นแบบแผนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสร้างการมีส่วนร่วม จึงเป็นอะไรที่มีความขัดแย้งกัน อย่างดีที่สุด เยาวชนที่ผ่านการฝึกลูกเสือ กกต. เป็นได้คือ การถูกระดมให้มาช่วยแนะนำหรือบริการช่วยเหลือผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่อย่างเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคือเยาวชนที่ผ่านการอบรมจะมีจิตสำนึกแบบอำนาจนิยมและเชื่อฟังการบังคับบัญชาจากผู้นำ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ตรงกันข้ามกับจิตสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง
จึงกล่าวได้ว่า เมื่อ กกต. เข้าสู่ยุคที่สาม เส้นทางเดินของ กกต.ก็ยิ่งห่างไกลจากจุดเริ่มต้นที่สังคมคาดหวังมากยิ่งขึ้น การปราบทุจริตเลือกตั้งก็ทำไม่ได้ ผลพวงคือได้นักการเมืองที่ทุจริต ฉ้อฉล จนทำให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองในระยะต่อมา การจัดการเลือกตั้งก็ไม่เรียบร้อยไม่เป็นกลางซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่สองมากที่สุด ส่วนยุคที่สามก็จัดไปได้ตามหน้าที่แต่เป็นการเลือกตั้งที่ไร้คุณภาพเหมือนเดิม การสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนก็ล้มเหลว จนองค์การภาคเอกชนถอนตัวไปจำนวนมาก และการสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยก็เกิดวิปริต กลับไปสร้างจิตสำนึกแบบอำนาจนิยมแก่เยาวชนผ่านการจัดตั้งกลุ่มแบบกึ่งทหารขึ้นมา
ส่วนผู้ออกแบบ กกต. ในยุคที่สอง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เห็นปัญหาของการสรรหาและการเลือก กกต.ว่า ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็แก้ไข วิธีการได้มาของ กกต.เสียใหม่ โดยลดองค์ประกอบจากฝ่ายการเมืองลงไปในกรรมการสรรหาและเพิ่มอำนาจของคณะกรรมการสรหาให้มากขึ้น พร้อมๆกับลดอำนาจของวุฒิสภา จากเดิมที่เคยมีอำนาจในการเลือก กกต. 5 คน จากจำนวนที่คณะกรรมการสรรหาส่งมาให้ 10 คน เป็น ให้มีอำนาจเพียง “รับรอง” หรือ “ไม่รับรอง” บุคคลที่คณะกรรมการสรรหาส่งมาให้ซึ่งมีจำนวนเท่ากับจำนวน กกต.ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
อย่างไรก็ตามวิธีการสรรหา กกต. ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แม้ด้านหนึ่งจะลดพื้นที่เชิงอำนาจของฝ่ายการเมือง แต่ก็ยังไม่เพิ่มพื้นที่ของภาคประชาชน กลับไปให้อำนาจแก่พื้นที่ของฝ่ายตุลาการมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบ “สุดขั้ว” อีกแบบหนึ่ง
วิธีการเลือก กกต. ภายใต้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้นำไปใช้ในการเลือก กกต. ชุดที่สี่ เมื่อปี 2556 แต่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวเพราะว่า ปี 2557 มีการรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กกต. ชุดที่สี่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมือง คล้ายกับ กกต.ชุดที่สอง แต่ดูเหมือน กกต.ชุดที่สี่สามารถเอาตัวรอดมาได้ เพราะมีบทเรียนจาก กกต.ชุดที่สองให้เห็นอยู่แล้ว กกต.ชุดที่สี่จึงพยายามที่จะจัดการเลือกตั้งอย่างระมัดระวัง และไม่เอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองใด
อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาที่สะสมอย่างมากมายอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ตั้งแต่ยุคที่สองและสาม นำไปสู่การเกิด “วิกฤตการอยู่รอดของ กกต.” เพราะว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันกำลังดำเนินการ “แยกองค์การ” และ “ลดอำนาจ” ของ กกต.หากกรรมาธิการยกร่างฯ ทำสำเร็จ เราก็จะไม่เห็น กกต.ในรูปแบบเดิมอีกต่อไป
แต่ปัญหาก็คือ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างฯเกี่ยวกับ กกต. ก็มีปัญหาทั้งในด้านหลักคิด การวิเคราะห์ และแนวทางการออกแบบองค์การใหม่อยู่ไม่น้อย นอกจากจะไม่แก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว ยังอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมาอีกในอนาคต (ยังมีต่อ)