xs
xsm
sm
md
lg

อย่าทิ้งพลังงาน คปพ.บุกสภาขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ "วีระ"ชงตั้งศาลพิเศษทำคดีโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-คปพ.บุกสภา ยื่นหนังสือ "เทียนฉาย" ประธาน สปช. ขอแก้และเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญหัวข้อพลังงาน ติง ม.92 ไม่ครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด ชี้ ม.193 ตัดเนื้อหาสาระสำคัญกรณีทำหนังสือสัญญา หวั่นเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจ ส่วน ม.288 ขอให้เพิ่มรัฐมีหน้าต้องเปิดเผยข้อมูลพลังงาน พร้อมเสนอตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมีรัฐเป็นเจ้าของ "วีระ" พบ "บวรศักดิ์" ชงแก้คอร์รัปชัน เสนอตั้งศาลพิเศษทำคดี พร้อมให้เพิ่มโทษประหารคนโกงเงินเกิน 5 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22เม.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และคณะได้เดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเสนอแก้ไข และเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงปิโตรเลียมและพลังงานอื่นๆ

โดยทาง คปพ. ได้ขอบคุณคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้เสียสละเวลาทุ่มเทแรงกายแรงใจ จนได้ร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานบางมาตราที่มีความก้าวหน้า และพัฒนามากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา แต่บางมาตรา ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

นายปานเทพกล่าวว่า เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และสะท้อนเจตจำนงของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง คปพ.จึงขอเสนอตารางเปรียบเทียบระหว่างร่างรัฐธรรมนูญกับข้อเสนอที่ให้แก้ไข หรือเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เช่น มาตรา 88 ที่ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทุกระดับอย่างสมดุล มีเสถียรภาพและยั่งยืน ซึ่งข้อความตรงนี้มีความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ได้หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือการกำหนดคำว่า ทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ ทะเล ใน มาตรา 92 ยังไม่ครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด

นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรา 193 ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การจัดทำหนังสือหรือสัญญานั้นต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศของรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ คำว่า เนื้อหาสาระสำคัญ เป็นการเปิดให้ใช้ดุลพินิจ ซึ่งสมควรที่จะตัดคำดังกล่าวออกไป และในมาตรา 288 ทาง คปพ. ขอเสนอให้เพิ่มข้อความว่า รัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นอย่างรวดเร็ว โปร่งใสในทุกขั้นตอน ของการดำเนินการ รวมทั้งสัญญา และในวรรคที่ 4 รัฐต้องดำเนินการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการและดูแลสิทธิในทรัพยากรด้านพลังงานแทนปวงชนชาวไทย โดยการให้สิทธิการสำรวจและผลิต ต้องใช้ระบบการประมูลผลประโยชน์สูงสุดของชาติเป็นสำคัญและรัฐเป็นเจ้าของบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นสำคัญ และรัฐเป็นเจ้าของบรรษัทแห่งชาติร้อยละร้อย และการแปรรูปหรือดำเนินการใดๆ ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นของเอกชนจำกระทำมิได้

"เหตุผลที่เสนอเพิ่มข้อความดังกล่าว ก็เนื่องจากว่าการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสของรัฐ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลสากล และในปัจจุบันไม่มีองค์กรใดของรัฐปฏิบัติหน้าที่ถือกรรมสิทธิ์ และบริหารจัดการทรัพยากรด้านพลังงานแทนประชาชน"นายปานเทพกล่าว

ในวันเดียวกันนี้ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน พร้อมคณะ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูป และแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

นายวีระกล่าวว่า จากบทเรียนการทำงานการป้องกันและปรบปรามการทุจริตมาเป็นระยะเวลาประมาณ 8 ปี ทำให้เห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยากเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมาย คดีที่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชันว่า ต้องไม่มีอายุความ ต้องมีการจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาตัดสินคดีคอร์รัปชันเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ตัดสิทธิ์นักการเมืองไม่ให้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งอีกตลอดชีวิต และยึดทรัพย์ทั้งหมดหากคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันจริง

ส่วนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คอร์รัปชันจนทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี และไม่มีสิทธิ์ได้รับการลดโทษ หรืออภัยโทษ แต่หากความเสียหายต่อรัฐ มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท ต้องถูกจำคุกตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิ์ได้รับการลดโทษ ส่วนความเสียหายที่เกิดต่อรัฐ มีมูลค่าเกิน 5 ล้านบาท ต้องถูกลงโทษประหารชีวิต และไม่มีสิทธิ์ได้รับการลดโทษ หรืออภัยโทษ โดยกำหนดโทษนักการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในคดีอาญาขั้นต่ำจำคุก ตั้งแต่ 20 ปี และเรียกฟ้องร้องค่าเสียหายทางแพ่งให้ตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 2 เท่า ทั้งนี้ ข้าราชการการเมืองทุกระดับ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องแจงบัญชีหนี้สิ้นและทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

นอกจากนี้ ยังเสนอให้แก้กฎหมายให้นักการเมืองทุกระดับไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เกินติดต่อกัน 2 วาระ ส่วนประชาชนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในสมัชชาพลเมือง หรือองค์กรภาคประชาสังคม จะต้องแจงบัญชีทรัพย์สินเช่นเดียวกับนักการเมือง ขณะที่องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน หลังได้รับเรื่องร้องเรียน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น