เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ยื่น สปช.ขอแก้และเพิ่มในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ติง ม.92 ไม่ครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด แนะ ม.193 ตัดคำเนื้อหาสาระสำคัญ ส่วน ม.288 ให้เพิ่มรัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงรวดเร็วและโปร่งใส-ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมีรัฐเป็นเจ้าของ
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. และคณะ ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เพื่อเสนอแก้ไขและเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่อยู่การพิจารณาของ สปช.ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงปิโตรเลียมและพลังงานอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ทาง คปพ.ขอขอบคุณคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ได้เสียสละเวลาทุ่มเทแรงกายแรงใจจนได้ร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานบางมาตราที่มีความก้าวหน้าและพัฒนามากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา แต่บางมาตราก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
นายปานเทพกล่าวต่อว่า เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และสะท้อนเจตจำนงของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง คปพ.จึงขอเสนอตารางเปรียบเทียบระหว่างร่างรัฐธรรมนูญกับข้อเสนอที่ให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เช่น มาตรา 88 ที่ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทุกระดับอย่างสมดุลมีเสถียรภาพและยั่งยืน ซึ่งข้อความตรงนี้มีความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ได้หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือการกำหนดคำว่าทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ ทะเล ในมาตรา 92 ยังไม่ครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด
นายปานเทพกล่าวต่อว่า ในส่วนของมาตรา 193 ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การจัดทำหนังสือหรือสัญญานั้นต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ คำว่า เนื้อหาสาระสำคัญ เป็นการเปิดให้ใช้ดุลพินิจ ซึ่งสมควรที่จะตัดคำดังกล่าวออกไป นอกจากนี้ ในมาตรา 288 คปพ.ขอเสนอให้เพิ่มข้อความว่า รัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นอย่างรวดเร็ว โปร่งใสในทุกขั้นตอนของการดำเนินการ รวมทั้งสัญญา และในวรรคที่ 4 รัฐต้องดำเนินการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการและดูแลสิทธิในทรัพยากรด้านพลังงานแทนปวงชนชาวไทย โดยการให้สิทธิการสำรวจและผลิตต้องใช้ระบบการประมูลผลประโยชน์สูงสุดของชาติเป็นสำคัญและรัฐเป็นเจ้าของบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นสำคัญและรัฐเป็นเจ้าของบรรษัทแห่งชาติร้อยละ 100 และการแปรรูปหรือดำเนินการใดๆ ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นของเอกชนจะกระทำมิได้ เหตุผลที่เสนอเพิ่มข้อความดังกล่าวก็เนื่องจากว่า การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสของรัฐเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลสากล และในปัจจุบันไม่มีองค์กรใดของรัฐปฏิบัติหน้าที่ถือกรรมสิทธิ์ และบริหารจัดการทรัพยากรด้านพลังงานแทนประชาชน