ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เพียงแค่ปีเดียวที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ต้องยอมรับว่า “UFUN” ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด บริษัทสัญชาติมาเลเซีย ได้รับความสนใจจากประชาชนคนไทยจำนวนมาก มีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศขนเงินเข้ามาร่วมลงทุน ได้แก่ จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ. ปทุมธานี จ.ระยอง จ.นครราชสีมา จ.พิจิต จ.สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต โดยคาดว่ามีเงินสะพัดหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1,000-10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
เหตุผลประการเดียวก็คือ พวกเขาเชื่อว่านี่คือช่องทางช่วยเพิ่มเม็ดเงินที่มีความเสี่ยงน้อย แต่สร้างผลตอบแทนได้อย่างคุ้มค่ามากกว่าการฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งให้ดอกเบี้ยกับผู้ฝากเงินต่ำเตี้ยเรี่ยดินเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ UFUN มีการออกสกุลเงินเองเรียกว่า ยู โทเคน (U Token Cash) ใช้แทนสกุลเงินปกติ แต่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราในโลกออนไลน์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้จากจำนวนสมาชิกที่ถูกดึงมาเป็นลูกข่ายอย่างต่อเนื่องเรียกว่า ยิ่งหาสมาชิกได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้ส่วนแบ่งจากลูกข่ายมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ระบบนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่ามีสมาชิกมากกว่า 30,000 คน
รวมทั้งยังมีการขายของผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์ www.u-fun-u-token.com รวมทั้งเว็บไซต์อื่นๆ ซึ่งทางบริษัทไปติดต่อมาให้สมาชิกได้ซื้อกันในราคาที่มีส่วนลดพิเศษอีกด้วย เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม สินค้าระดับแบรนด์เนม รถยนต์หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์
สำหรับสมาชิกสามารถสมัครหลายระดับ เริ่มจาก 1 ดาวต้องใช้เงิน 17,500 บาท สูงสุด 5 ดาว ต้องใช้เงิน 1.75ล้านบาท ซื้อได้ไม่อั้น และคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกครั้งแรก ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 7,000 บาท ให้แม่ข่าย แบ่งกับบริษัท เงินที่เหลือเอาไปแลกเป็น ยูโทเคนเพื่อเอามาใช้ซื้อสินค้าภายในกลุ่มเดียวกัน แบบมีส่วนลด หรือสินค้าบางอย่าง อาจซื้อแพงกว่าราคาตลาดทั่วไปเช่น ทอง ในตลาดขายบาทละ 18,500 บาท แต่อาจต้องใช้เงินยูโทเคนถึง30,000 ยูโทเคนซึ่งค่าเงินยูโทเคน โดยจะประกาศที่หน้าเว็บไซต์เหมือน รูปแบบเงินดิจิตอลทำให้ไม่มีใครรู้ว่าการขึ้นลงของเงินนี้เกิดจากอะไร แต่แนวโน้มราคามีแต่ขาขึ้น
นอกจากนี้ ยังประกาศแตกพาร์ส่งผลให้คนที่เงินอยู่มีเงินเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว เพื่อทำให้คนหลงติดอยู่ในเครือข่ายนี้มากขึ้นทำให้สมาชิกเลือกวิธีทำกำไรได้ 3 ทาง คือ ทำกำไรจากการถือครองเงินยูโทเคน , ทำกำไรจากการขายสินค้าในเว็บไซต์, ทำกำไรจากค่าคอมมิชชั่นและค่าบริหารงานในการแนะนำธุรกิจ ห้างร้าน หรือหาสมาชิกทั่วไปเข้ามาในระบบ
อย่างไรก็ตาม สวรรค์ก็ดำรงอยู่ได้ไม่นานนักเพราะทำไปทำมา UFUN เข้าข่ายการทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่และถูกตั้งข้อหาร่วมกันกู้ยืนเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือมีการโฆษณาชวนเชื่อของ UFUN ว่า ทีมผู้บริหารกำลังเดินเรื่องให้ภาครัฐคือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รับรอง สกุลเงิน U-TOKEN) ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว ไม่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.แต่อย่างใด
“สิ่งที่บริษัท ยูฟัน ระบุว่าเป็นบริษัทขายตรงนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่าไม่เป็นจริง และไม่ได้มีธุรกรรมกับทางสินค้าที่อ้างแต่อย่างใดจนถึงขณะนี้ ปปง.ยึดทรัพย์ไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท อยู่ระหว่างขยายผลยึดทรัพย์และสกัดกั้นเส้นทางการเงินที่ผ่องถ่ายไปต่างประเทศ”พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) เปิดเผยหลังนำกำลังเข้าตรวจค้นภายในอาคารทำการของบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด จำนวน 2 อาคาร บริเวณทางคู่ขนาน ซอยบางนา-ตราด 25 ถนนบางนา-ตราด แขวงและเขตบางนา กทม.
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 18 ซอยบางนา-ตราด 25 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต
ปรากฏชื่อ นาย เท คิม เลง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย วอน ซิง หัวนาย ลี ควน มิง รวมเป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 28 เมษายน 2557 มีจำนวน 3 ราย นาย เท คิม เลง สัญชาติมาเลเซีย ถือหุ้นใหญ่สุด 94,000 หุ้น (หุ้นละ 100 บาท มูลค่า 9,400,000 บาท นาย กิตติพงษ์ งามพลและนายอาทิตย์ ปานแก้ว ถืออยู่คนละ 3,000 หุ้น มูลค่าหุ้นคนละ 300,000 บาท
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 บริษัทฯ ได้นำส่งงบแสดงการเงินจากการทำธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ระบุว่า ยังไม่มีรายได้ แต่มีค่าใช้จ่ายรวมในการดำเนินงาน 330,300 บาท ขาดทุนสุทธิ 330,300 บาท
สินทรัพย์ แจ้งว่า มีเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงิน 4,009,730 บาท สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น 1,500,000 บาท และมีสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 9,530,000 บาท รวมสินทรัพย์ทั้งหมด 15,039,730 บาท
มีหนี้สินรวม 12,370,030 บาท ในจำนวนนี้ เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 12,340,030 บาท
ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ในชั้นนี้ก็คือ นายอาทิตย์ ปานแก้ว หุ้นส่วนของบริษัท แท้ที่จริงแล้วเป็นชาวมาเลเซีย ที่สวมบัตรประจำตัวประชาชนเป็นคนไทย และขณะถูกกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจำหน่ายชื่อออกจากสารบบ รวมทั้งถูกออกหมายจับเพื่อดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 บริษัทฯ แจ้งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ว่าที่ ร้อยตรี ฤทธิเดช วรงค์ เข้ามาปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทน จำนวน 51,000 หุ้น มูลค่า 5,100,000 บาท นาย เท คิม เลง ถืออยู่ 25,000 หุ้น มูลค่า 2,500,000 บาท นาย วอน ซิง หัว ถืออยู่ 24,000 หุ้น มูลค่า 2,400,000 บาท
เปรียบเทียบกับรายชื่อผู้ถือหุ้นชุดเก่า พบว่า ชื่อของ นาย กิตติพงษ์ งามพล และ นายอาทิตย์ ปานแก้ว หายไป มีชื่อของ ว่าที่ ร้อยตรี ฤทธิเดช วรงค์ และ นาย วอน ซิง หัว เข้ามาแทน
ว่าที่ ร้อยตรี ฤทธิเดช วรงค์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แทน นาย เท คิม เลง ที่สัดส่วนหุ้นที่ถือครองอยู่ลดลง จากจำนวน 94,000 หุ้น เหลือ 25,000 หุ้น
นอกจากนั้น จากการตรวจสอบพบว่า นายอาทิตย์ ปานแก้ว ซึ่งถือระบุว่า เป็นเจ้าของบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ตัวจริง ก่อนที่จะมีการโอนหุ้นให้บุคคลอื่นถือครองแทน ปัจจุบันอยู่ระหว่างหลบหนี เป็นเจ้าของบริษัทเอกชน อีก 2 แห่ง คือ บริษัท ยูฟัน พร็อพเพอร์ตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ยูทีอาร์ โฮลดิ้ง จำกัด
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจระบุว่า บริษัท ยูฟัน พร็อพเพอร์ตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557 ตั้งอยู่เลขที่ 117/123 หมู่ที่ 6 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจเป็นตัวแทน นายหน้า ซื้อ ขาย สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ และลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และให้เช่าตามสัญญาระยะยาว
ปรากฏชื่อ นายอาทิตย์ ปานแก้ว เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ทั้งนี้ ช่วงก่อตั้งบริษัท มีทุน 10 ล้านบาท ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 พ.ค.57 และเพิ่มเป็น 600 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557
รายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด นาย อาทิตย์ ปานแก้ว ถือหุ้นใหญ่สุด 9,980,000 มูลค่า 598,000,000 บาท นาย ไชธร ทองหล่อเลิศ และนายบุญช่วย จงหาญ ถืออยู่คนละๆ 10,000 หุ้น มูลค่า 1 ล้านบาท รวม 2 ล้านบาท
ส่วนบริษัท ยูทีอาร์ โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ทุน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 18 ซอยบางนา-ตราด 25 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ ซื้อ จัดหา รับ เช่า ให้เช่า ถือกรรมสิทธ์ ครอบครอง ปรับปรุงใช้ และจัดการโดยประการอื่น ซึ่งทรัพย์สินใดๆ
ปรากฏชื่อ นาย อาทิตย์ ปานแก้ว เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2557 มี 3 ราย นาย อาทิตย์ ปานแก้ว ถือหุ้นใหญ่สุด 11,999 หุ้น มูลค่า 1,199,900 บาท ยูทีอาร์ โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด สัญชาติเซเชลส์ (ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย) ถืออยู่ 8,000 หุ้น มูลค่า 800,000 บาท นาย ไชธร ทองหล่อเลิศ ถืออยู่ 1 หุ้น มูลค่า 100 บาท รวมทุนจดทะเบียนทั้ง 3 บริษัท วงเงิน 612 ล้านบาท
ขณะเดียวนายอาทิตย์ ปานแก้ว ยังเคยปรากฏชื่อร่วมทำธุรกิจ กับ พล.ท.อธิวัฒน์ สุ่นปาน ซึ่งปรากฏชื่อในฐานะผู้บริหาร UFUN (ยูฟัน) ประจำประเทศไทย ในเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลธุรกิจของ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ในชื่อ บริษัท ดี วี สตาร์ จำกัด
บริษัท ดี วี สตาร์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ทุน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 21/155 หมู่ที่ 6 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องสำอาง อาหารเสริม เครื่องกรองน้ำ - ค้าปลีก,ค้าส่ง
ปรากฏชื่อ นางสาว สุประวีณ์ ยันตรัตน์ พลตรีอธิวัฒน์ สุ่นปาน (ยศในขณะนั้น)นายชัว ชุย ชิน นายอาทิตย์ ปานแก้ว เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และร่วมถือหุ้นบริษัท
นำส่งงบการเงินแสดงผลการประกอบการธุรกิจ ล่าสุด ปี 2553 แจ้งว่า ไม่มีรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน 16,000 บาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 244,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ได้มีการจดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554
ทั้งนี้ ภายใต้แผนปฏิบัติการการกวาดล้างขบวนการแชร์ลูกโซ่ เครือข่าย บริษัท ยูฟัน สโตร์ จํากัด ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาไปแล้ว 8 คน เป็นชาวต่างชาติ 3 คน และคนไทย 5 คน ประกอบไปด้วย นายเท คิม เลง อายุ 40 ปี นายลี ควน มิง อายุ 38 ปี นายวอน ชิง หัว อายุ 42 ปี ทั้งสามรายสัญชาติมาเลเซีย นายอาทิตย์ ปานแก้ว อายุ 47 ปี นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า อายุ 40 ปี รวมถึง นายรัฐวิชญ์ นายไชธร และ ว่าที่ ร.ต.ฤทธิเดช
ส่วน นายอาทิตย์ ปานแก้ว อายุ 47 ปี ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเจ้าของบริษัท ยูฟัน สโตร์ จํากัด ตัวจริง อยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุม
พ.ต.อ.อังกูร คล้ายคลึง รอง ผบก.ปคบ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบทำให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า บ.ยูฟัน สโตร์ จก. ขยายเครือข่ายไปยังประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี นอร์เวย์ ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด โดยโฆษณาอ้างว่ามีสมาชิก 300,000 ราย ใน 78 ประเทศ โดยบริษัทเป็นตัวกลางให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน และใช้เงินดิจิตอลของบริษัท ที่เรียกว่า “ยูโท เคน” ของบริษัทเป็นเครื่องมือในการซื้อขายสินค้า
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ผู้บริหารและหุ้นส่วนชาวมาเลเซียของ บ.ยูฟัน สโตร์ จก. หลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ดาโต๊ะ ดาเนียลเต ผู้บริหาร บ.ยูฟัน สโตร์ จก.ในประเทศมาเลเซีย จัดทำคลิปวีดิโอจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แจกจ่ายชี้แจงกับสมาชิกบริษัทในประเทศไทย โดยได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำธุรกิจของยูฟันในประเทศไทย ผ่านยูทูปช่อง Unispace Online TV มีความยาว 8.51 นาที
เนื้อหาสำคัญในถ้อยแถลงมีใจความว่า บริษัททำธุรกิจถูกต้อง และเปิดสาขาในหลายประเทศ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมีผู้ไม่หวังดีเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่รัฐว่า ยูฟันเป็นบริษัทหลอกลวง เป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ เข้ามาตรวจสอบที่สำนักงานบริษัท และเชิญผู้เกี่ยวข้องไปสอบสวน ในฐานะตัวแทนบริษัทฯ ขอยืนยันว่าบริษัทพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายไทย และข้อบังคับทุกอย่าง รวมถึงทุกประเทศทั่วโลก ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย และให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อพิสูจน์ว่าความบริสุทธิ์
นอกจากนี้ ดาโต๊ะ ดาเนียล เต ยังระบุด้วยว่า ยูฟัน ดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม ไม่ใช่เพิ่งตั้งมา มีสำนักงานกว่า 10 แห่งทั่วโลก มีสมาชิกทั่วโลกมากว่า 80 ประเทศ พร้อมดูแลสมาชิก ไม่ได้ตั้งใจหลอกลวงไม่เคยทำธุรกิจแบบมันนี่เกม หรือแผนการตลาดหลอกลวงแบบปิรามิด ยูฟันเป็นธุรกิจระยะยาว จึงขอให้สมาชิกยูฟันในประเทศไทยเวลานี้อยู่ในความสงบ ถึงแม้บัญชียูฟันในไทยจะถูกอายัด แต่จะทำทุกวิธีทางเพื่อสั่งจ่ายเงินให้กับสมาชิกที่สั่งถอนเงินคืน
“ผมอยากให้ทุกท่านที่เห็นวิดีโอประกาศในวันนี้ ลองคิดว่าท่านเป็นผมดู เราพัฒนาเติบโตในหลายๆ ประเทศ พร้อมๆ กับการก่อตั้งสำนักงานภายในช่วงเวลาแค่ 2 ปี ปัจจุบันกระจายไปมากกว่า 80 ประเทศ ถ้าท่านเป็นผม ท่านจะล้มเลิกทั้งหมดเลยมั้ย ถ้าผม ดาโต๊ะ ดาเนียล เต ต้องการโกงพวกท่าน ยูฟันประเทศไทยคงจะล้มลสายไปตั้งแต่ปีที่แล้ว”
ดาโต๊ะ ดาเนียล เต ยังระบุด้วยว่า เหตุการณ์นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ปีที่แล้ว บริษัทถูกทางการสอบสวนไป 2-3 ครั้ง ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนจำนวนมาก ว่าเป็นบริษัทฉ้อโกง ถ้าตนต้องการจะหลบหนีจริงๆ ควรจะฉวยโอกาสนั้น ปิดธุรกิจไปนานแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของบริษัทแชร์ลูกโซ่ทำกันถึงแม้จะปรากฎเป็นข่าวครั้งเดียว ที่เลวร้ายไปกว่านั้น จะมีการจ่ายเงินให้รัฐที่เข้ามาตรวจสอบด้วย ถ้าตนเป็นคนขี้โกงคงปิดกิจการหนีไปแล้ว
ขณะที่ พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผช.ผบ.ตร. ได้ออกมายืนยันข่าวผ่านสื่อมวลชนเช่นกันว่า ตำรวจได้คลิปวีดิโอมาแล้ว กำลังตรวจสอบว่าดาโต๊ะ ดาเนียล เต เป็นคนเดียวกับ นายเทคิม เลง ชาวมาเลเซีย 1 ใน 4 คน ที่ออกหมายจับหรือไม่ เพราะทราบว่ามีการใช้หลายชื่อ คาดว่าผู้ต้องหาทั้งหมดคงจะกลับไปปักหลักอยู่ที่ประเทศมาเลเซียแล้ว หลังจากมีการจับกุมผู้บริหารและผู้ถือหุ้นในประเทศไทย ขอแจ้งไปยังสมาชิกที่คิดว่าเสียหายมาแจ้งความเพื่อรักษาสิทธิไว้ก่อน ทราบว่ามีการโอนเงินออกนอกประเทศไปหลายพันล้านบาทแล้ว จึงขัดกับคลิปแถลงการณ์ของตัวแทนบริษัท
และล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้ออกหมายจับ พล.ท.อธิวัฒน์ อายุ 66 ปี และนางจิราภิมณช์ สุ่นปาน อายุ 59 ปี สองสามีภรรยากันเพิ่มเติมอีก 2 คน ในข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พร้อมกับอายัดรถยนต์เบนซ์สีขาว รุ่น E 250 ทะเบียน ฆฌ 1125 กรุงเทพมหานคร และสีดำ รุ่น S 350 ทะเบียน ฆต 1125 กรุงเทพมหานคร และจักรยานยนต์ 2 คัน
“พล.ท.อธิวัฒน์ได้รับเงินเดือนจากบริษัทดังกล่าวเดือนละ 50,000 บาท และมีหลักฐานเชื่อมโยงอื่นๆ อีกหลายอย่างว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ยูฟันสโตร์ แห่งนี้”พล.ต.ท.สุวิระกล่าว
แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของ UFUN ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน เพราะธุรกิจที่เป็นดังแชร์ลูกโซ่มีเกิดขึ้นมากมายในประเทศ เพื่อหลอกล่อผู้ที่ต้องการรวยทางลัด โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง ดังเช่นก่อนหน้านี้ในกรณีของการลงทุนทองคำ ออนไลน์ กับบริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) จนมีผู้เสียหายจำนวนมากร้องเรียนต่อ สคบ.ไปจนถึง ก.ล.ต. แต่ก็ไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้