เลขา ก.ล.ต. เผยความพร้อมการควบรวม 2 ตลาด อยู่ในช่วงของการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้ คาดอาจได้ข้อสรุปภายในตุลาคมนี้ ส่วนบิ๊ก TFEX ได้นำยางพารา และข้าวหอมมะลิ มาทดสอบระบบการซื้อขายไปแล้วกว่า 50%
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ก.ล.ต.อยู่ในระหว่างเตรียมการเพื่อรองรับการรวมระหว่างตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET โดยประเด็นที่สำคัญในการพัฒนาทั้ง 2 ตลาดคือ ก.ล.ต. ได้ยกร่างประกาศกำหนดให้สินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นสินค้าเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และได้นำส่งให้กระทรวงการคลัง พิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อลงมติอนุมัติ และออกประกาศดังกล่าวต่อไป ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรล่วงหน้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และให้ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX ) สามารถเปิดให้มีการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ AFET จะยุติการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และนักลงทุน ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ทาง ก.ล.ต. ได้วางมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์บางประการในการออกใบอนุญาตประเภทสินค้าเกษตรล่วงหน้าใหม่ เช่น ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ซึ่งต้องใช้ทุนจดทะเบียน 50-100 ล้านบาท เพื่อให้ AFET broker ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก มีระยะเวลาในการปรับตัว นอกจากนี้ ก.ล.ต. เตรียมที่จะยกเลิกค่าธรรมเนียมคำขอรับใบอนุญาต และค่าใบอนุญาตสินค้าเกษตรล่วงหน้ารายปี จนถึงปี 2559 เพื่อเป็นการลดภาระ และผลกระทบจากนโยบายรวมตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของภาครัฐที่จะมีต่อ AFET broker
ขณะที่ นายประยุทธ ศิริสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า กล่าวว่า การควบรวมการซื้อขายระหว่าง 2 ตลาด ทั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET กับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าต่อ คณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะได้ส่งต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอกลับมายังคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ และนำเข้าต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยมองว่า กระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เข้ามากำกับดูแลได้ในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ครม. ที่ต้องการเปิดกว้างให้มีการซื้อขายง่ายขึ้น พร้อมทั้งแก้ไขโครงสร้างองค์กรใหม่ให้สอดคล้องต่อการดำเนินงาน โดยมีเงื่อนไขว่า ให้คงรายการสินค้าที่เทรดอยู่ในตลาด AFET เดิมไว้ทั้งหมด และให้รับพนักงานของ AFET เข้าทำงานเมื่อ 2 ตลาดรวมเข้าด้วยกันแล้ว
“อย่างไรก็ตาม หากการรวมศูนย์การซื้อขายเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพราะผู้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศจะสามารถเข้ามาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้อย่างสะดวกโดยใช้ระบบ และช่องทางเดียวกับการซื้อขายอนุพันธ์ใน TFEX และวางหลักประกันไว้เพียงแห่งเดียว ทำให้การบริหารต้นทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในอนาคต ยังสามารถพัฒนาสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้มีการดำเนินการ และเชื่อมโยงสู่ระดับสากลได้ง่ายยิ่งขึ้น”
ขณะที่ น.ส.รินใจ ชาครพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX กล่าวว่า ปัจจุบันได้เตรียมที่จะดำเนินการปรับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้เข้ากับตลาด TFEX ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 50% โดยเริ่มต้นนำสินค้าที่มีการซื้อขายต่อเนื่อง (Active) เช่น ยางพารา และข้าวหอมมะลิ มาทดสอบในระบบการซื้อขายเช่นเดียวกับตลาดอนุพันธุ์
ด้าน นายชัยพัฒน์ สหัสกุล ประธานกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปริมาณการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่ผ่านมา มีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 130 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลในการควบรวมกิจการทั้ง 2 ตลาดเข้าด้วยกัน