xs
xsm
sm
md
lg

จีนศึกษาบทเรียน " 2 ทศวรรษความพินาศแห่งเศรษฐกิจญี่ปุ่น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สีหน้าไม่เสบยด้วยกันทั้งคู่ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่นจับมือทักทายกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระหว่างการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ครั้งที่ 22 ในกรุงปักกิ่ง ที่ผ่านมา  – เอพี
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - พญามังกรกำลังศึกษาบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจอันหนักหนาสาหัสของญี่ปุ่นอย่างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกต้องเดินซ้ำรอยภาวะถดถอย จนถลำสู่ภาวะเงินฝืดอย่างที่แดนซามูไรประสบในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

แม้ดูจากภายนอกจะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนกับญี่ปุ่นยังคงเย็นชาต่อกันจากข้อพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์หมู่เกาะ และบาดแผลลึกที่จีนได้รับจากการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในอดีต กระนั้นก็ตาม ชาติเพื่อนบ้านทั้งสองยังคงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับล่างและอย่างไม่เป็นทางการ

ขณะนี้จีนกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอการเติบโต และสัญญาณภาวะเงินฝืดเริ่มปรากฏ โดยในการเปิดการประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีนเมื่อวันพฤหัสฯ ( 5 มี.ค.) นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงประกาศตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัวในปี 2558 ราวร้อยละ 7 ต่ำกว่าในปี 2557 ที่ร้อยละ 7.4 ซึ่งก็โตช้าที่สุดในรอบ 24 ปีอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันจีนก็กำลังดำเนินการปฏิรูปภาคการเงินใน 3 ด้านสำคัญได้แก่การเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มบทบาทสกุลเงินประจำชาติสู่ระดับสากล และการเปิดเสรีบัญชีทุน ทั้งหมดนี้ญี่ปุ่นเคยทำมาแล้ว โดยเหตุผล ที่จีนต้องกางตำราอ่านบทเรียนจากแดนซามูไรอยู่หลายตลบ นอกเหนือจากการศึกษาประสบการณ์ของชาติอื่น ๆ ก็เนื่องจากเศรษฐกิจชาติทั้งสองมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ

แหล่งข่าววงใน ซึ่งเป็นบุคคลในรัฐบาลญี่ปุ่นเอง หรือบุคคลที่มีการติดต่อโดยตรงกับผู้กำหนดนโยบายของจีนระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายและนักวิเคราะห์ของสถาบันคลังสมองแดนมังกรกำลังศึกษาความผิดพลาดของญี่ปุ่นในการทำข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ร่วมกับมหาอำนาจตะวันตกเมื่อปีพ.ศ. 2528 ซึ่งยินยอมให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นและเปิดเสรีบัญชีทุน ซึ่งจีนมองว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในญี่ปุ่นในช่วงต้น ๆ ระหว่างปีพ.ศ. 2533-2543 และเป็น “ 2 ทศวรรษแห่งความพินาศ” ของญี่ปุ่น

การแข็งค่าของเงินเยนจากข้อตกลงพลาซากระทบภาคการส่งออก อาทิ การผลิตรถยนต์ ที่ต้องย้ายฐานการผลิตไปต่างแดนมากขึ้น เงินเยนที่แข็งค่ากระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ กระทั่งธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการเปิดเสรีบัญชีทุน ซึ่งส่งผลให้เงินเก็งกำไรจากต่างชาติทะลักเข้ามาในตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และในสินทรัพย์อื่น ๆ

“ จีนได้นำประสบการณ์ของญี่ปุ่นมาใช้แล้ว เพราะแม้เศรษฐกิจของจีนกำลังชะลอตัว แต่ผู้กำหนดนโยบายก็ไม่ผลีผลามนำมาตรการเชิงนโยบายที่อาจทำให้เสียสมดุลทางการเงินในประเทศเพิ่มขึ้นไปอีกมาใช้ นั่นเป็นความเฉลียวฉลาดของพวกเขาอย่างมาก” นายทากาฮิเดะ คิวชิ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวันพฤหัสฯ ( 5 มี.ค.)
ห้างสรรพสินค้าในนครเซี่ยงไฮ้ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2558 - เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
นายคิวชิยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ญี่ปุ่นรู้ดีว่า ราคาสินทรัพย์ได้พุ่งสูงและกำลังจะเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้น แต่ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเข้มงวดนโยบายการเงินได้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่สุดของญี่ปุ่นเอง

“ บทเรียนหนึ่ง ที่ได้จากญี่ปุ่นก็คือผู้กำหนดนโยบายควรทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีเสถียรภาพก่อนเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก” เขาเตือน

เวลานี้จีนกำลังเผชิญปัญหาท้าทายเหมือนที่แดนซามูไรเคยพบมา อาทิ ตลาดอสังหาฯ ที่กลับมาซบเซา หลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการป้องกันความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ ซึ่งขณะนี้มีซัปพลายล้นเกิน และเมื่อบวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเข้าด้วยแล้ว ทำให้กำลังวิตกกันมากว่า ธนาคารจะมีหนี้เสียพุ่งสูง และฐานะการเงิน ที่ย่ำแย่ลงไปอีกของรัฐบาลท้องถิ่น

จากการเปิดของแหล่งข่าว ผู้กำหนดนโยบายของจีนกำลังสอบถามว่า ญี่ปุ่นมีวิธีจัดการกับปัญหาหนี้เสียอย่างไร ซึ่งญี่ปุ่นแก้ไขด้วยวิธีการควบรวมกิจการในภาคธนาคาร ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2513-2533 โดยธนาคาร ที่แข็งแกร่งกว่าเข้าอุ้มธนาคารที่อ่อนแอ ทำให้สามารถขยายเครือข่ายกิจการได้ และการปรึกษาหารือของจีนนี้อาจส่งสัญญาณว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจเตรียมดำเนินการควบรวมกิจการภาคธนาคารในอีกไม่ช้านี้ก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น