xs
xsm
sm
md
lg

เงินดิจิตอล...บทเรียนจาก UFUN รูปแบบการลงทุนที่ไม่มีการรับรอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นอกจากความผันผวนของราคาหุ้น และราคาทองคำ ที่นักลงทุนต้องจับตาอย่างใกล้ในช่วงนี้ ข่าวการจับกุมบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด หรือ “UFUN” ถือเป็นอีกเรื่องที่นักลงทุน และผู้สนใจเฝ้าติดตาม ว่าสุดท้ายเรื่องดังกล่าวจะลงเอยแบบใด เพราะตอนนี้บรรดาสมาชิก UFUN จำนวนมากในประเทศไทย ยังเชื่อมั่นว่า ระบบการซื้อขายของพวกเขายังถูกต้อง...ไม่ผิด และเชื่อว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอข่าวสารออกไปก็ไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่กลับกล่าวหาว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ ดังนั้น แม้หน่วยงานรัฐหวังว่าจะมีนักลงทุนที่อยู่ในระบบ UFUN ไปแจ้งความเรียกร้องค่าเสียหายก็คงจะไม่มี หรือจะมีก็เพียงส่วนน้อย ซึ่งจะมาจากผู้ที่ตระหนกตกใจต่อข่าวการจับกุมผู้บริหารที่เกิดขึ้น และกังวลต่อเงินที่ลงทุนไปมากกว่า

เพียงแค่ปีเดียวที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ต้องยอมรับ UFUN ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพราะเชื่อว่านี่คือช่องทางที่ช่วยเพิ่มเม็ดเงินที่มีความเสี่ยงน้อย แต่กลับสร้างผลตอบแทนได้อย่างคุ้มค่า มากกว่าการฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ จนมีคำกล่าวอ้างออกมาว่า มีโอกาสได้รับผลตอบแทนได้ถึง 10% ต่อเดือน ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน
 
โดยการตลาดที่สำเร็จผลมากที่สุดสำหรับ UFUN ต้องยอมรับว่า มาจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะ facebook ของสมาชิกที่เข้าร่วม ซึ่งจะออกมาบรรยาย หรือพรรณนาถึงผลตอบแทนที่ตนได้รับจากการลงทุนในแต่ละครั้งว่ามากน้อยเพียงใด ทำให้ผู้ที่ติดตาม หรือผู้ที่เป็นเพื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เกิดความสนใจอยากเข้าร่วมลงทุน ถัดมาคือ การสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มี “พล.ท.อธิวัฒน์ สุ่นปาน” เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบริหารระหว่างประเทศ และประธานที่ปรึกษาของ UFUN
 
สิ่งที่ตำรวจ และ สคบ.พุ่งเป้าว่า UFUN มีความผิดนั่นคือ การไม่ได้ทำธุรกิจขายตรงตามที่ขออนุญาต จนเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และเครือข่ายธุรกิจ UFUN มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ มีพฤติกรรมโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนจำนวนที่สูงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ www.u-fun-u-token.com รวมทั้งเว็บไซต์อื่นๆ โดยใช้ข้อความว่า ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องขายสินค้า ไม่ต้องรักษายอด ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง เป็นต้น และจากเหตุผลดังกล่าว ได้นำไปสู่การจับกุมผู้บริหารในที่สุด เพราะโดยเนื้อแท้ของการโฆษณาเชิญชวน คือ การเข้ามาลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนจากการปรับตัวขึ้นของสกุลเงินดิจิตอลที่ UFUN ตั้งขึ้นมาในนาม “U-TOKEN” มากกว่า
 
นอกจากนี้ U-TOKEN ดังกล่าวมีการโฆษณาว่า เป็นค่าเงินดิจิตอลที่ไม่มีวันปรับตัวลดลง เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณความต้องการของสมาชิก UFUN ที่มีอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งแม้แต่ “บิทคอยน์” สุกลเงินดิจิตอลที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนก่อนหน้านี้ก็ไม่สามารถทำได้
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทั้ง U-TOKEN และ “บิทคอยน์” เหมือนกันคือ ในประเทศไทย คือ ไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั่นหมายถึงไม่มีการรับรองค่าเงินดังกล่าว แต่ในการโฆษณาชวนเชื่อของ UFUN จากสมาชิกที่เดินหน้าเพิ่มสายงานกลับมีการชี้แจงให้แก่ผู้ที่สนใจว่าเรื่องดังกล่าวทีมผู้บริหารกำลังเดินเรื่องให้ภาครัฐรับรอง และจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของ UFUN ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน เพราะธุรกิจที่เป็นดังแชร์ลูกโซ่มีเกิดขึ้นมากมายในประเทศ เพื่อหลอกล่อผู้ที่ต้องการรวยทางลัด โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เช่น ก่อนหน้านี้ในกรณีของการลงทุนทองคำ ออนไลน์ กับบริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) จนมีผู้เสียหายจำนวนมากร้องเรียนต่อ สคบ.ไปจนถึง ก.ล.ต. แต่ก็ไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ เนื่องจากธุรกรรมดังกล่าวไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เหมือนการซื้อทองคำรูปพรรณ หากมีปัญหายังร้องเรียน สคบ.ได้ หรือการลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส ผ่านตลาดTFEX ที่มี ก.ล.ต.ดูแล และส่วนมากที่มาร้องเรียนก็จะเกิดขึ้นจากการถูกบังคับขาย และถูกเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มเติม ทั้งที่การซื้อขายจริงๆ ต้องเก็บเงินเต็มจำนวน แต่ก็ไม่มีนักลงทุนรายใดร้องเรียนเมื่อตนเองทำกำไรได้
 
ย้อนกลับมาที่ UFUN ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร หากบริษัทในประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้ คำตอบที่นักลงทุนสมาชิกเชื่อมั่นคือ ยังสามารถลงทุนได้ เพราะมีสาขาอื่นๆ ในต่างประเทศเปิดให้บริการ แต่กับหน่วยงานภาครัฐยังมีเรื่องให้น่าติดตามว่า จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร หลังจากปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนออกมา
 
ถัดมาคือ ตัวบทกฎหมายการเงินของประเทศ จริงหรือไม่ที่ปัจจุบันถูกกล่าวหาว่าล้าสมัย ไม่สอดคล้องต่อโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการยืนยัน หรือชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน ว่า ค่าเงินสกุลดิจิตอลเหล่านี้ถูกกฎหมายหรือไม่เพียงใด ใช้ซื้อขายในประเทศได้หรือไม่ เพราะถ้าเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจน น่าจะช่วยเตือนประชาชนจำนวนมากที่กำลังสนใจเข้ามาลงทุนผ่านรูปแบบนี้ได้
 
อย่างไรก็ตาม ในส่วนสมาชิกของ UFUN สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ ต้องยอมรับความเสี่ยงต่อการลงทุนที่ไม่ได้การรับรองจากภาครัฐ ดังนั้น หากการลงทุนเกิดการขาดทุน หรือความเสียหายก็ไม่สามารถเรียกร้องเอาผิดต่อใครได้ เพราะกฎหมายในประเทศไม่รับรอง
 
อีกทั้งเมื่อบริษัทสาขาในประเทศถูกยกเลิกใบอนุญาต ก็เหมือนกับไม่มีสถานที่ให้ไปยื่นร้องเรียน หรือเอาความผิดหากเกิดปัญหาขึ้นมา ทางเลือกที่มีอยู่คือ การติดต่อผ่านระบบสื่อสารต่างๆที่โลกมีให้ในปัจจุบัน กับการเสียค่าตั๋วบินไปต่างประเทศ คงเป็นทางออกที่ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจกันเอง ยิ่งถ้าหากมีผู้อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนบริษัท UFUN ในการดูแลผู้ลงทุนชาวไทย ก็อาจถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดอีกเช่นกัน
 
ทั้งนี้ เพราะ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ยื่นจดทะเบียนต่อ สคบ.เพื่อขอจำหน่ายสินค้ารวม 3 รายการ คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม 2 รายการ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 1 รายการ แต่ที่ผ่านมานำไปใช้ปฏิบัติไม่ตรงตามที่นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียน จนถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว ขณะที่โรงงานผลิตที่อ้างถึงในการจดทะเบียนเป็นเพียงร้านขายของชำเท่านั้น
 
ส่วนเรื่องการมีเงินสำรองในระบบตามที่บริษัทโฆษณาชักชวนนั้น พบว่า มีการอ้างเงินสำรองประมาณ 22% ของทั้งระบบอยู่ที่สถาบันการเงิน 3 แห่ง แต่จากข้อมูลพบว่า สถาบันการเงิน UDBP ก่อตั้งเมื่อปี 2556 ที่ประเทศวานูอาตู หมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่ธนาคาร BDG ก่อตั้งเมื่อปี 2553 ที่ประเทศกินี ในทวีปแอฟริกา และบริษัทการเงิน ชื่อ NICO Financial ซึ่งทุกสถาบันการเงินเหล่านี้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้จริงหรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น