xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยแชร์ลูกโซ่ระบาด 3 กลุ่มใหญ่ เตรียมถกหน่วยงานหาแนวทางป้องกันร่วมกัน เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ดีเอสไอเตือนภัยแชร์ลูกโซ่ระบาด 3 กลุ่มใหญ่ เผยสถิติรับเป็นคดีพิเศษกว่า 100 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 43 คดี เตรียมประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันร่วมกันเดือน เม.ย.นี้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (23 มี.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองโฆษกกระทรวงยุติธรรม พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ ร่วมแถลงผลการแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ หรือการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เรื่องนี้มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยที่มีหน้าที่ปราบปราม เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาเบาบางหรือลดลง ประกอบกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเป็นช่องทางที่เอื้อให้เกิดการกระทำความผิดในรูปแบบ “แชร์ลูกโซ่” หลากหลายรูปแบบและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นภัยร้ายที่กัดกร่อนเศรษฐกิจของสังคมและประชาชนในทุกระดับ

ทั้งนี้ จากสถิติด้านคดีของดีเอสไอตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันพบว่า ดีเอสไอรับคดีแชร์ลูกโซ่เป็นคดีพิเศษแล้วกว่า 100 คดี โดยมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง 43 คดี อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาจำแนกลักษณะของการกระทำความผิด พบว่าแผนประทุษกรรมในการกระทำความผิด จะมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของแต่ละกลุ่มคน ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ประชาชนระดับรากหญ้า ส่วนใหญ่แชร์ลูกโซ่จะถูกแฝงตัวมาในรูปฌาปนกิจสงเคราะห์ เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานของชีวิต ที่ประสงค์ให้ลูกหลานมีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพ โดยไม่ทำให้คนที่อยู่ข้างหลังเดือดร้อน กรณีนี้สามารถตรวจสอบว่าฌาปนกิจสงเคราะห์นั้น ลงทะเบียนที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมถูกต้องหรือไม่

กลุ่มที่ 2 ประชาชนทั่วไปที่เป็นคนระดับกลาง โดยแชร์ลูกโซ่จะมาในรูปแบบของการร่วมลงทุนในสินค้า บริการ หรือธุรกิจขายตรง เช่น แชร์น้ำมันหอมระเหย แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์พวงมาลัย แชร์ลอตเตอรี่ เป็นต้น เนื่องจากคาดหวังในผลกำไร และเป็นการลงทุนที่ง่ายไม่ซับซ้อน สำหรับกรณีนี้ประชาชนตรวจสอบเบื้องต้นได้ที่ สคบ.

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มผู้มีเงินทุน และความรู้ค่อนข้างสูง โดยการหลอกลวงจะพัฒนารูปแบบเป็นการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือซื้อขายโลหะมีค่า เช่น ทองคำ หรือหุ้น เป็นต้น เนื่องจากมีรูปแบบการลงทุนที่ถูกต้อง และมีผลตอบแทนค่อนข้างสูงให้เห็นในต่างประเทศ เมื่อกลุ่มคนร้ายนำรูปแบบการลงทุนแบบเดียวกันมาแอบแฝงกระทำผิด จึงหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย สำหรับกรณีเกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า หลังจากนี้ดีเอสไอจะเป็นตัวกลางในการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมที่จะจัดขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อบูรณาการข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน และวางแนวทางป้องกันปราบปรามร่วมกันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น