xs
xsm
sm
md
lg

DSIสางคดีแชร์ลูกโซ่ "สันทัด"ทิ้งเก้าอี้บอร์ด เซ่นลูกหลอกขายหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ชัชวาลย์"เร่งรัดคดีแชร์ลูกโซ่ 24 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้าน หลังคดีไม่ค่อยคืบ สั่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปสอบปากคำผู้เสียหายโดยตรง เพื่อร่นระยะเวลา โต้ข่าวถอนอายัดทรัพย์สินโดยมิชอบ ยันยังมีการอายัดเหมือนเดิม พร้อมเตือนประชาชนระวังถูกหลอก ลงทุนต่ำ ผลตอบแทนสูงไม่มีจริง "สันทัด"บอร์ดดีเอสไอ ทิ้งตำแหน่ง หลังบุตรชายก่อคดีหลอกขายหุ้นกว่า 281 ล้าน จนถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกง

วานนี้ (10ธ.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมเพื่อเร่งรัดติดตามการดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน24คดี อาทิ แชร์น้ำมัน แชร์น้ำมันหอมละเหย แชร์ล็อตเตอรี่ แชร์อาหารเสริมเครื่องสำอางค์ แชร์หลอกลงทุนซื้อขายรถ หลอกลวงให้ระดมเงินปล่อยกู้แก่ธนาคารรัฐ แชร์ซื้อขายยางพารา มูลค่าความเสียหายกว่า2พันล้านบาท โดยมีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดี ดีเอสไอ และผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการต่างๆ เข้าร่วมด้วย ซึ่งใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 3ชั่วโมง

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวว่า คดีแชร์ลูกโซ่แต่ละคดี มีผู้เสียหายจำนวนมาก จึงทำให้การสอบสวนเกิดความล่าช้า ซึ่งตนได้ให้แนวทางกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอในพื้นที่เข้าไปสอบปากคำผู้เสียหาย โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางมาร้องเรียนเอง ซึ่งจะทำให้กระบวนการต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีพยานหลักฐานที่สมบูรณ์ และเป็นการอำนวยความยุติธรรม ลดความเลื่อมล้ำแก่ประชาชนด้วย

ทั้งนี้ คดีแชร์ลูกโซ่แต่ละคดี มีการกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานไว้ไม่เกิน 2 ปี แต่หากคดีใดมีผู้เสียหายจำนวนมาก ก็จะขยายระยะเวลาออกไป ซึ่งคดีแชร์ลูกโซ่มีอายุความไม่เกิน 15 ปี ส่วนการให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีแชร์ลูกโซ่ เช่น การอายัดทรัพย์สิน จะต้องมีหลักฐานชัดเจน ขณะที่การคืนทรัพย์สิน หรือถอนอายัดทรัพย์ก็จะต้องมีหลักฐานเพียงพอเช่นกัน

สำหรับกรณีที่มีผู้มาร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ โดยระบุว่ามีการถอนอายัดบัญชีผู้ต้องหาและมีการช่วยเหลือในการดำเนินคดีให้มีความล่าช้านั้น ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบล่าสุด ยังไม่มีการถอนอายัดทรัพย์ใดๆ ในคดีที่อยู่ระหว่างสอบสวน ส่วนความล่าช้าในการดำเนินการสอบสวน เป็นเพราะมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยังได้ฝากเตือนประชาชนว่าหากมีผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุนต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนสูง รวมทั้งการขายตรงที่มุ่งเน้นการทำยอด และกำหนดให้หาสมาชิก ให้พึงระวังอาจตกเป็นผู้เสียหายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา ดีเอสไอรับคดีที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นลักษณะการฉ้อโกงประชาชนเป็นคดีพิเศษแล้ว 94คดี ส่งฟ้องศาลแล้ว 70 คดี และอยู่ระหว่างดำเนินการ24คดี ซึ่งใน24คดีนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักคดีอาญาพิเศษ1 จำนวน17คดี

นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการคดีพิเศษ หรือบอร์ดดีเอสไอว่างลง 2 ตำแหน่งว่า นายวิรัช ชินวินิจกุล คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเลขาสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้แล้ว และล่าสุดนายสันทัด สมชีวิตา คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) และอดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นหนังสือมาถึงอธิบดีดีเอสไอ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีเรื่องราวตามที่ปรากฏข่าวเรื่องลูกชายหลอกลวงซื้อขายหุ้น และเพื่อให้ดีเอสไอและบอร์ดคดีพิเศษไม่มีข้อครหา จึงตัดสินใจลาออก ซึ่งขณะนี้ ดีเอสไออยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณานำชื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และทำให้ให้บอร์ดดีเอสไอครบ 9คนต่อไป

สำหรับนายสันทัด สมชีวิตา บอร์ดดีเอสไอ ได้ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากตำรวจกองปราบปราบได้จับกุมนายปาณสาร สมชีวิตา หรือมีน บุตรชาย ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน โดยจับกุมได้ที่หาดเจ้าสำราญ ต.เจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
เนื่องจากได้มีผู้เสียหายกว่า 30 ราย เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. เพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีต่อนายปาณสาร ซึ่งหลอกลวงว่ามีหุ้น IPO หรือหุ้นที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปในครั้งแรกก่อนที่จะเข้าทำการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ โดยอ้างว่า ได้รับการจัดสรรมาจากผู้มีอุปการคุณ จำนวน 3 ตัว คือหุ้น 1.หุ้นบริษัทคาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG) 2.หุ้นบริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน ) (VPO) 3.หุ้นบริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MTLS) รายละกว่า 1 ล้านหุ้น ซึ่งผู้เสียหายเห็นว่ามีโอกาสทำกำไรได้ จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ต้องหาไป รวมมูลค่าความเสีย จำนวน 281 ล้านบาท

แต่เมื่อถึงกำหนดวันเปิดตลาด ผู้ต้องหาไม่สามารถโอนหุ้นเข้าไปในบัญชีของผู้เสียหายแต่ละคนได้ เมื่อถูกทวงถามเจ้าตัวกลับบ่ายเบี่ยงอ้างว่าติดขัดในขั้นตอนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากนั้นก็อ้างอีกว่าถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดเงินไว้ เมื่อผู้เสียหายตรวจสอบกลับพบว่า โดนหลอกลวงหลายคน จึงรวมตัวเข้าแจ้งความ ต่อมา พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนเสนอหมายจับต่อศาลอาญา กระทั่งตามจับกุมได้ดังกล่าว

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหาได้กระจายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ จำนวน 2 ราย ซึ่งจากการสอบถามก็รับว่า ไม่มีหุ้นอยู่จริง มีเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ส่วนโบรกเกอร์จะมีส่วนรู้เห็นหรือไม่นั้น จะสืบสวนสอบสวนขยายผล หากเกี่ยวข้องต่อการกระทำความผิด ก็จะขออนุมัติหมายจับต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ต้องหายอมรับว่าทำมาแล้ว 2-3 ครั้ง พอได้กำไรก็เอาเงินไปหมุน ทำให้เหยื่อตายใจว่ามีหุ้นอยู่จริง ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเงินที่ได้จากการกระทำความผิดว่าผู้ต้องหาถ่ายโอนไปไว้ที่ไหนบ้างเพื่อจะตามยึดมาเป็นของกลางต่อไป โดยผู้ต้องหาให้การยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดจริง แต่ตั้งใจจะชดใช้เงินเคลียร์แก่ผู้เสียหายทุกราย ส่วนยอดเงินที่ตนได้ไปจากผู้เสียหายก็ประมาณ 200 กว่าล้านบาท จะรีบหามาชดใช้ให้ทุกราย
กำลังโหลดความคิดเห็น