ปลัดกระทรวงยุติธรรม เรียกพนักงานสอบสวนดีเอสไอประชุมเร่งรัดคดีแชร์ลูกโซ่ 24 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท โต้กระแสข่าวเจ้าหน้าที่ถอนอายัดโดยมิชอบ ยืนยันมีการอายัดเหมือนเดิม ระบุสถิติคดีแชร์ลูกโซ่รับเป็นคดีพิเศษแล้ว 94คดี ส่งฟ้องศาลแล้ว 70 คดี
วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมเพื่อเร่งรัดติดตามการดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 24 คดี อาทิ แชร์น้ำมัน แชร์น้ำมันหอมละเหย แชร์ลอตเตอรี่ แชร์อาหารเสริมเครื่องสำอาง แชร์หลอกลงทุนซื้อขายรถ หลอกลวงให้ระดมเงินปล่อยกู้แก่ธนาคารรัฐ แชร์ซื้อขายยางพารา มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท โดยมี นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ และผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการต่างๆ เข้าร่วมด้วย ซึ่งใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า คดีแชร์ลูกโซ่แต่ละคดีมีผู้เสียหายจำนวนมาก จึงทำให้การสอบสวนเกิดความล่าช้า ซึ่งตนได้ให้แนวทางกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอในพื้นที่เข้าไปสอบปากคำผู้เสียหาย โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางมาร้องเรียนเอง ซึ่งจะทำให้กระบวนการต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วมีพยานหลักฐานที่สมบูรณ์ และเป็นการอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำแก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้ คดีแชร์ลูกโซ่แต่ละคดีมีการกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานไว้ไม่เกิน 2 ปี แต่หากคดีใดมีผู้เสียหายจำนวนมากก็จะขยายระยะเวลาออกไป ซึ่งคดีแชร์ลูกโซ่มีอายุความไม่เกิน 15 ปี ส่วนการให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีแชร์ลูกโซ่ เช่น การอายัดทรัพย์สิน จะต้องมีหลักฐานชัดเจน ขณะที่การคืนทรัพย์สิน หรือถอนอายัดทรัพย์ก็จะต้องมีหลักฐานเพียงพอเช่นกัน
สำหรับกรณีที่มีผู้มาร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ โดยระบุว่ามีการถอนอายัดบัญชีผู้ต้องหาและมีการช่วยเหลือในการดำเนินคดีให้มีความล่าช้านั้น ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตรวจสอบล่าสุดยังไม่มีการถอนอายัดทรัพย์ใดๆ ในคดีที่อยู่ระหว่างสอบสวน ส่วนความล่าช้าในการดำเนินการสอบสวน เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้ฝากเตือนประชาชนว่าหากมีผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุนต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนสูง รวมทั้งการขายตรงที่มุ่งเน้นการทำยอด และกำหนดให้หาสมาชิกให้พึงระวังอาจตกเป็นผู้เสียหายได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ผ่านมาดีเอสไอรับคดีที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นลักษณะการฉ้อโกงประชาชนเป็นคดีพิเศษแล้ว 94 คดี ส่งฟ้องศาลแล้ว 70 คดี และอยู่ระหว่างดำเนินการ 24 คดี ซึ่งใน 24 คดีนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 จำนวน 17 คดี
ด้าน นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยถึงกรณีตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการคดีพิเศษหรือบอร์ดดีเอสไอว่างลง 2 ตำแหน่งว่า นายวิรัช ชินวินิจกุล คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯและเลขาสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้แล้ว ล่าสุดนายสันทัด สมชีวิตา คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) และอดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นหนังสือมาถึงอธิบดีดีเอสไอโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีเรื่องราวตามที่ปรากฏข่าวเรื่องลูกชายหลอกลวงซื้อขายหุ้น และเพื่อให้ดีเอสไอและบอร์ดคดีพิเศษไม่มีข้อครหา จึงตัดสินใจลาออก ซึ่งขณะนี้ทางดีเอสไออยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณานำชื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้บอร์ดดีเอสไอครบ 9 คน