xs
xsm
sm
md
lg

สรุป7วันตาย364เจ็บ3,559 "บิ๊กตู่"สั่งทำแผนป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สรุป 7 วันอันตราย สถิติเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทั้งที่รัฐโหมรณรงค์เต็มที่ โดยเกิดอุบัติเหตุ 3,373 ครั้ง เสียชีวิต 364 ราย บาดเจ็บ 3,559 ราย เผยสุรินทร์คว้าแชมป์เจ็บ ตาย สาเหตุมาจากเมาแล้วขับ "บิ๊กตู่"สั่งดันอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นวาระสำคัญ เริ่มทำงานทันที พร้อมเร่งสร้างความตระหนักกลุ่มเยาวชนสวมหมวกนิรภัย เลิกขับเร็ว ป้องกันแว๊นบนท้องถนน ยันบังคับใช้กฎหมายห้ามขายเหล้าเต็มที่แล้ว

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยในการเป็นประธานแถลงผลการดำเนินการ และปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ 7 หรือวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุจำนวน 458 ครั้ง เสียชีวิต 58 ราย บาดเจ็บ 489 ราย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาสุรา ร้อยละ 41.23 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.85 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.56 โดยมีพฤติกรรมไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 25.87 ส่วนใหญ่เกิดเหตุในเส้นทางตรงร้อยละ 64.04 เป็นถนนหมู่บ้าน ร้อยละ 39.25 ทางหลวงแผ่นดินร้อยละ 38.38 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 16.00-20.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 46.61 ทั้งนี้ พิษณุโลกเป็นจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บมากที่สุด คือ 32 ครั้ง เจ็บ 34 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ เพชรบูรณ์ 4 ราย

สำหรับสถิติรวม 7 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 9-15 เม.ย.2558 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,373 ครั้ง เสียชีวิต 364 ราย บาดเจ็บ 3,559 ราย สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.31 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.35 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยายนต์ ร้อยละ 81.34

"สถิติการเกิดอุบัติเหตุเจ็บตาย ถือว่ามากกว่าปีก่อนทั้งหมด โดยสงกรานต์ปี 2557 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 326 คน ผู้บาดเจ็บ 3,225 คน"

อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีจังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และจังหวัดที่ยังไม่มีผู้บาดเจ็บ คือ สมุทรปราการ ขณะที่จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ พิษณุโลก 141 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด คือ สุรินทร์ 16 ราย และ 152 คนตามลำดับ

เมื่อถามถึงสาเหตุที่มีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก ทั้งเล่นน้ำปลอดภัย ปลอดเหล้า ตั้งจุดสกัด แต่อุบัติเหตุกลับไม่ลดลง จะมีแนวทางแก้ผัญหาและป้องกันอย่างไรต่อไป นายสุธี กล่าวว่า ปีนี้จะเห็นว่าจำนวนรถเพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ และยังเกิดภัยธรรมชาติด้วย โดยเฉพาะพายุฤดูร้อน ทำให้เกิดอุบัติเหตุง่ายขึ้น ถ้าประมาทและขาดความระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์

***ดันอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นวาระสำคัญ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกภาคส่วนมีความตั้งใจจริง แม้ตัวเลขอุบัติเหตุและเสียชีวิตจะยังไม่พึงพอใจ แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีการตั้งด่านตรวจทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับอย่างจริงจัง ทางนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าอยากให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่มวาระเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนนับจากวันนี้ไป ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีจะทำงานร่วมกับ ปภ. แม้เทศกาลสงกรานต์จะจบลงไปแล้ว จะทำต่อไปจนถึงสงกรานต์ปีหน้าและจะให้เป็นวาระสำคัญของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ

***ส่งเสริมใส่หมวก-ควบคุมใช้ความเร็ว

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กว่าร้อยละ 47 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มีปัจจัยเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย และกว่าร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเกิดจากการขับรถเร็ว รวมถึงมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 16 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จะได้ผลักดันให้การส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย การควบคุมการใช้ความเร็ว และการสร้างความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นประเด็นสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนนในปี 2558 เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

***ยันบังคับใช้กฎหมายห้ามขายเหล้าเต็มที่

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุเจ็บตายเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 เพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ปี 2557 ว่า เรื่องนี้คงต้องมาวิเคราะห์หาสาเหตุร่วมกัน ทั้งในส่วนของ สธ. และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่าสาเหตุที่ยอดอุบัติเหตุเจ็บตายไม่ลดลงนั้น เกิดจากอะไร แต่จากวิเคราะห์ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาพบว่าการตั้งด่านชุมชนสามารถช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ ซึ่งสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็ดำเนินการตั้งด่านชุมชนอย่างเต็มที่ ท้องถิ่นก็เข้ามาร่วมมือเป็นจำนวนมาก ก็คงต้องไปดูว่ามีช่องโหว่มาจากจุดอื่นหรือไม่อย่างไร เพราะจากการติดตามการทำงานใน 10 จังหวัด จำนวน 206 ด่าน พบว่า ได้ผลดี ไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียงบาดเจ็บเล็กน้อย สกัดผู้ดื่มสุราได้หลายราย และยังพบเด็กรุ่นใหม่ เช่น อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มีเด็กแว้น มีจิตอาสามาช่วยป้องกันอุบัติเหตุ เป็นที่น่าชื่นชม หากขยายผลไปทั่วประเทศได้จะช่วยลดปัญหาได้ดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุเมาแล้วขับยังเป็นอันดับ 1 ของการเกิดอุบัติเหตุ เป็นเพราะการควบคุมบังคับใช้กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่เข้มข้นพอหรือไม่ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สธ.มีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจเข้มการขายการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งช่วงก่อนและระหว่างสงกรานต์ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต้มที่ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ด่านตรวจต่างๆ ก็สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้เป็นแสนราย จึงมองว่าการบังคับใช้กฎหมายทำอย่างเต็มที่แล้ว

เมื่อถามว่า แม้จะมีการรณรงค์และคุมเข้มมาตรการต่างๆ เช่นนี้ แต่อุบัติเหตุยังไม่ลดลง มีแนวโน้มจะห้ามการขายเหล้าช่วงปีใหม่ สงกรานต์ เช่นเดียวกับวันพระใหญ่ตามที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอหรือไม่ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องพิจารณาจากหลายด้าน และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เราก็มีหลายกลยุทธ์อยู่แล้ว

***เร่งเพิ่มเติมด่านชุมชนป้องกันอุบัติเหตุ

นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กล่าวว่า การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุของทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันถือว่าทำได้อย่างน่าพอใจแล้ว แต่ที่จะต้องเพิ่มเติมคือการตั้งด่านชุมชน ซึ่งมองว่าบางจุดอาจจะยังทำได้ไม่เต็มที่ 100% จะต้องดำเนินการเข้มข้นขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุลงให้ได้มากกว่านี้ รวมไปถึงการดูแลร่วมกันขณะขับรถ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถ หรือคนในครอบครัว ต่างก็ต้องช่วยเตือนสติกัน หากไม่พร้อมก็ไม่สมควรขับรถ เพราะอย่าง จ.สุรินทร์ ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ก็เพราะมาจากอุบัติเหตุหมู่ ซึ่งจริงๆ แล้วการดำเนินการอาจจะดี แต่พลาดเพียงครั้งเดียวก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

***ปลื้มใจคนไทยนิยมเข้าวัดฉลองสงกรานต์

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รายงานผลการจัดประเพณีสงกรานต์ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 76 จังหวัดทั่วประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย.2558 พบว่า กิจกรรมที่ประชาชนนิยมเข้าร่วมในช่วงประเพณีสงกรานต์ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ได้แก่ การร่วมกันทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย เข้าวัดฟังเทศน์ ฟังธรรม และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมในวัดประสบความสำเร็จ

สำหรับจังหวัดที่ประชาชนแต่งกายผ้าไทยเข้าร่วมกิจกรรมวันสงกรานต์มากที่สุด 10 จังหวัด ได้แก่ 1.พระนครศรีอยุธยา 2.ลำปาง 3.ลำพูน 4.น่าน 5.กาฬสินธุ์ 6.แม่ฮ่องสอน 7.ตราด 8.เชียงใหม่ 9. นครนายก และ 10.นครราชสีมา

ส่วนการร้องเรียนถึงพฤติกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไม่เหมาะสม อาทิ มีการโป๊เปลือย หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่สาธารณะผ่านสายด่วนวัฒนธรรม 1765 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ผ่านมา โดยวธ.ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบผู้กระทำผิดกฎหมายและดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น