xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก 7 วันสงกรานต์ดับ 364 ราย ยอดอุบัติเหตุไม่ลด โทษรถ-นักท่องเที่ยวมาก มีพายุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รวม 7 วันสงกรานต์ สังเวยอุบัติเหตุ 364 ราย ยอดอุบัติเหตุเจ็บตายไม่ลดจากปีก่อน พุ่งสูงถึง 3,373 ครั้ง เจ็บกว่า 3,559 ราย สุรินทร์ท็อปเจ็บตาย ด้าน รมช.มท. โทษนักท่องเที่ยวมาก รถมาก มีพายุฤดูร้อน ทำอุบัติเหตุพุ่ง แม้ดำเนินการเต็มที่

วันนี้ (16 เม.ย.) นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานแถลงผลการดำเนินการและปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ 7 หรือวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุจำนวน 458 ครั้ง เสียชีวิต 58 ราย บาดเจ็บ 489 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือเมาสุรา ร้อยละ 41.23 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.85 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากสุด คือรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.56 โดยมีพฤติกรรมไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 25.87 ส่วนใหญ่เกิดเหตุในเส้นทางตรงร้อยละ 64.04 เป็นถนนหมู่บ้าน ร้อยละ 39.25 ทางหลวงแผ่นดินร้อยละ 38.38 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 16.00 - 20.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 46.61  โดยพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บมากที่สุด คือ 32 ครั้ง เจ็บ 34 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ เพชรบูรณ์ 4 ราย

นายสุธี กล่าวอีกว่า สำหรับสถิติรวม 7 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 9 - 15 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 3,373 ครั้ง เสียชีวิต 364 ราย บาดเจ็บ 3,559 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.31 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.35 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยายนต์ ร้อยละ 81.34 ทั้งนี้ สถิติเกิดอุบัติเหตุเจ็บตายถือว่ามากกว่าปีก่อนทั้งหมด โดยสงกรานต์ปี 2557 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 326 คน ผู้บาดเจ็บ 3,225 คน อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีจังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สมุทรสงคราม แล ะสมุทรสาคร และจังหวัดที่ยังไม่มีผู้บาดเจ็บ คือ สมุทรปราการ ขณะที่จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ พิษณุโลก 141 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด คือ สุรินทร์ 16 ราย และ 152 คนตามลำดับ

เมื่อถามถึงสาเหตุที่มีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก ทั้งเล่นน้ำปลอดภัย ปลอดเหล้า ตั้งจุดสกัด แต่อุบัติเหตุกลับไม่ลดลง จะมีแนวทางแก้ผัญหาและป้องกันอย่างไรต่อไป นายสุธี กล่าวว่า ปีนี้จะเห็นว่าจำนวนรถเพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเกิดภัยธรรมชาติด้วย โดยเฉพาะพายุฤดูร้อนทำให้เกิดอุบัติเหตุง่ายขึ้น ถ้าประมาทและขาดความระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ปภ. ก็ได้มอบหมายมาตรการในทุกพื้นที่แล้ว

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกภาคส่วนมีความตั้งใจจริง แม้ตัวเลขอุบัติเหตุและเสียชีวิตจะยังไม่พึงพอใจ แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีการตั้งด่านตรวจทั้งเที่ยวไป และเที่ยวกลับ อย่างจริงจัง ทางนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าอยากให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่มวาระเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนนับจากวันนี้ไป ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมตรีจะทำงานร่วมกับ ปภ. แม้เทศกาลสงกรานต์จะจบลงไปแล้ว จะทำต่อไปจนถึงสงกรานต์ปีหน้าและจะให้เป็นวาระสำคัญของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กว่าร้อยละ 47 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มีปัจจัยเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย และกว่าร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเกิดจากการขับรถเร็ว รวมถึงมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 16 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จะได้ผลักดันให้การส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย การควบคุมการใช้ความเร็ว และการสร้างความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นประเด็นสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนนในปี 2558 เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น