xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์วันที่ 5 ดับแล้ว 251 ราย เจ็บ 2,532 ราย กำชับตรวจตราเข้มผู้ขับขี่-เล่นน้ำที่มีพฤติกรรมเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สงกรานต์วันที่ห้า พบเกิดอุบัติเหตุรวม 2,406 ครั้ง ดับ 251 ราย เจ็บ 2,532 ราย ขณะที่ อธิบดีกรมป้องกันฯ เผยข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน พบ 63% เสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ คิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนผู้เสียชีวิต เหตุขับเร็วและไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจตราเข้ม ดูแลผู้ขับขี่และผู้เล่นน้ำที่มีพฤติกรรรมเสี่ยง โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ที่เล่นน้ำโดยไม่สวมหมวกกันน็อก เช่นเดียวกับรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำที่ใช้ความเร็ว รวมทั้งกำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ สถานการณ์การเดินทางกลับของประชาชน

วันนี้ (14 เม.ย.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 โดย พ.อ.ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธาน เปิดเผยว่า วันที่ 13 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี” พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 671 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 60 ราย ผู้บาดเจ็บ 724 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 44.26 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.44 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.83 โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 29.46 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.30 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.96 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 34.13 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 32.79 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 53.57 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจ 2,247 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,506 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 747,529 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 1ร. 2ส. 3ข. 4ม. รวม 128,716 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 39,398 ราย ไม่มีใบขับขี่ 35,112 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 32 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 33 คน

พ.อ.ดำรงค์ กล่าวต่อว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 5 วัน (นับแต่วันที่ 9 - 13 เม.ย.) พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,406 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 251 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,532 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 10 จังหวัด ได้แก่ ตรัง บึงกาฬ พิจิตร ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา ราชบุรี เลย สมุทรสงคราม และ สมุทรสาคร จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 5 วัน มี 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 94 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 11 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 98 คน

“ในช่วงวันที่ 12 - 13 เมษายน ที่ผ่านมา พบว่า ถนนสายรองที่เชื่อมต่อเส้นทางสายหลัก และระหว่างอำเภอมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง เนื่องจากหลายพื้นที่มีการเล่นน้ำและเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงได้กำชับให้จังหวัดบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด สนธิกำลังทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สรรพสามิต ฝ่ายปกครอง คุมเข้มการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง บนรถ และสถานีบริการน้ำมัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน พบว่า ผู้เสียชีวิตที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงขอความร่วมมือผู้จัดงานดูแลมิให้ มีการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ อีกทั้งขณะนี้หลายพื้นที่ยังมีการเล่นน้ำ จึงกำชับให้จังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย รถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำท้ายกระบะ ที่ใช้ความเร็ว เน้นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์และเส้นทางโดยรอบพื้นที่โซนนิ่ง เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนและการเล่นน้ำไม่ปลอดภัย” พ.อ.ดำรงค์ กล่าว

ขณะที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน พบว่า กว่าร้อยละ 63 เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ คิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนผู้เสียชีวิต โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักจากการขับรถเร็วและไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ศปถ. จึงได้กำชับให้จังหวัดกวดขันการขับรถเร็วและการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงและลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงจัดชุดตรวจเคลื่อนที่เข้มงวดตรวจจับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำโดยไม่สวมหมวกนิรภัย และรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำที่ขับรถด้วยความเร็ว คึกคะนองในลักษณะเสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ได้ประสานจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมพร้อมเดินทางกลับ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการง่วงหลับในที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงปรับแผนการดูแลความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการจราจรให้มีความคล่องตัว เพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชนให้เป็นไปโดยสวัสดิภาพ

ด้าน นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ประชาชนบางส่วนยังคงท่องเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ ขณะที่บางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ศปถ. จึงกำชับให้จังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติหน้าที่ของด่านตรวจชุมชน โดยระดมกำลังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครดำเนินมาตรการทางสังคมเพื่อป้องปรามผู้ขับขี่และผู้เล่นน้ำที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย พร้อมให้เชื่อมโยง การดำเนินงานกับจุดตรวจหลักเพื่อเสริมกลไกการบริหารจัดการอุบัติเหตุทางถนนและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนดูแลความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอุบัติเหตุพื้นที่จัดงานเล่นน้ำ และเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ ควบคู่กับการส่งเสริม การเล่นน้ำตามประเพณีและวิถีไทย
 
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น