xs
xsm
sm
md
lg

สธ.คลอดประกาศวอนบุคลากรขับรถปลอดภัยสงกรานต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ออกประกาศ “องค์กรความปลอดภัยช่วงสงกรานต์” วอนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกกรม ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคช่วยเตือนสติใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย สั่งทุก รพ. เตรียมความพร้อมรับมือคนเจ็บ หนุนตั้งด่านชุมชน สกัดคนเมา ขับรถเร็ว

วันนี้ (9 เม.ย.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวมาตรการเตรียมความพร้อมรับอุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 พร้อมมอบหมวกกันน็อกให้แก่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ติดสติกเกอร์ห้ามขับรถเร็วเกินกำหนดหลังรถพยาบาล เพื่อรณรงค์ขับขี่อย่างปลอดภัยช่วงสงกรานต์ ว่า อุบัติเหตุทางถนนของไทยเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 20,000 คน เฉลี่ยวันละ 60 - 80 คน ส่งผลให้เกิดความพิการ สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว และมีการเดินทางเป็นจำนวนมาก โอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหลักยังคงมาจากการขับขี่ที่รวดเร็วและดื่มสุรา ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (สปถ.) ได้ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันป้องกันและลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุลงให้ได้

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการลดอุบัติเหตุของ สธ. นั้น ล่าสุด ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การดำเนินงานตามมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งตนลงนามเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558 เป็นต้นไป เพื่อให้บุคลากรของ สธ. ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กรในการใช้รถใช้ถนน โดยร่วมกันปลูกฝังแนวทางปฏิบัติที่ดี เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบแก่หน่วยงานอื่นๆ เช่น รถพยาบาลต้องไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด คือ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดก็ต้องช่วยกันเตือน หรือก่อนออกรถก็ต้องขาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งเพื่อความปลอดภัย ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขระขับรถ เป็นต้น ซึ่งการร่วมด้วยช่วยกันตรงนี้ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาล รถกู้ชีพต่างๆ ได้มาก เพราะที่ผ่านมาพบว่ารถพยาบาลมีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเช่นกัน ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวนั้นไม่ได้มีการลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ สธ. จะยังเดินหน้า 4 มาตรการเพื่อรับมืออุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ด้วย คือ 1. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) วิเคราะห์รายละเอียด และหาปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ เพื่อเสนอ ศปถ. จังหวัด ในการแก้ไข 2. เตรียมความพร้อมการรักษาพยาบาล ให้ช่วยผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุได้ภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุสายด่วน 1669 พร้อมสำรองห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้อง ไอ.ซี.ยู. เลือด เตียง จัดทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่พร้อมบริการ 24 ชั่วโมง 3. คุมเข้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง เช่น ห้ามขายและห้ามดื่มในสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ รถไฟ สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง เป็นต้น และ 4. สนับสนุนการตั้งด่านชุมชน เพื่อสกัดกั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุไม่ให้ออกสู่ถนน เช่น ไม่สวมหมวกกันน็อก ดื่มสุรา ขับรถเร็ว เป็นต้น” รมว.สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น